‘พิธา’รอดหุ้นสื่อ-ลุ้น‘ล้มล้าง’ 2แพร่ง'ก้าวไกล'สู้เกม‘ยุบพรรค’
"พิธา" สลัดตัวเองหลุดบ่วงหุ้นสื่อไอทีวี ลุ้น 31 ม.ค. ชี้ชะตา คดี"ล้มล้างการปกครอง" เดิมพัน "ยุบพรรค" จับสัญญาณ "แผนลับดับส้ม" เกมอำนาจ"มือที่มองไม่เห็น" ก้าวไกล "ยิ่งตี-ยิ่งโต?"
KeyPoints:
- กรณีการถือหุ้นสื่อของพิธา การจะ “สอย-ไม่สอย” แทบไม่มีผลอะไรในทาง “ดุลอำนาจการเมือง” เต็มที่ที่สุด โทษก็แค่พ้นจากการเป็น สส. แต่ไม่ได้ถูก “ตัดสิทธิ” หรือถูกลงโทษใดๆทางการเมือง
-
หากจะใช้ “มือที่มองไม่เห็น” เป็นหมากในการ “โค่นพิธา” หวัง “ล้มก้าวไกล” ในคดีหุ้นไอทีวีก็ย่อมจะ“เสีย”มากกว่า“ได้”
-
คดีหุ้นไอทีวีของพิธาเป็นแค่หมากตัวแรก ที่ถูกหยิบมาใช้เพียงเพื่อสกัดการชิงตำแหน่งนายกฯ อันเป็นอุปสรรคขวากหนามในห้วงที่ “ซูเปอร์ดีลข้ามขั้ว” กำลังก่อตัว ณ ช่วงหนึ่งแต่เพียงเท่านั้น
-
ยังเหลือหมากอีกหนึ่งตัว นั่นคือ "คดีล้มล้างการปกครอง" สถานการณ์พรรคก้าวไกลกำลังเดินอยู่บนทาง “2 แพร่งวัดใจ” รอด-ร่วง
-
จับตาปม"ล้มล้าง" ลาม "ยุบพรรค" แผน"ดับส้ม" ก้าวไกลยิ่งตียิ่งโต?
ผลจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 8 ต่อ 1 เสียง ที่ชี้ชัดการถือหุ้นในบริษัทไอทีวี จำกัด ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่ง ณ ปัจจุบัน บริษัทดังกล่าวไม่ได้ประกอบกิจการที่เกี่ยวกับสื่อมวลชน จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3)
นอกเหนือจะส่งผลให้ “พิธา” ได้หวนคืนสภาอีกครั้งในรอบ 6 เดือน นับจากถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 19 ก.ค.2566 จากนี้ยังต้องจับตาไปที่จังหวะก้าวของพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน
ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคก้าวไกล” ซึ่ง “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน รวมถึงพลพรรคก้าวไกล ย้ำมาโดยตลอดว่า หากพิธา ได้กลับมาทำหน้าที่ สส.อีกครั้ง ก็จะคืนตำแหน่งให้กับพิธา
ย่อมส่งผลไปถึงตำแหน่ง“ผู้นำฝ่ายค้าน”ในสภาฯ ที่ชัยธวัชครองตำแหน่งอยู่ในเวลานี้ ซึ่งต้องลุ้นการประชุมใหญ่พรรคก้าวไกลในเดือน เม.ย.นี้ ว่าจะปรับทัพกันอย่างไร
ผลคำวินิจฉัยที่ออกมา นอกจากบริบท “แง่กฎหมาย” ที่ถูกนำมาหักล้าง โดยเฉพาะประเด็นไอทีวี ไม่ได้เป็นสื่อ จน “พิธา” สามารถสลัดตัวเองหลุดบ่วง ได้หวนคืนสภาอีกครั้งแล้ว ยังต้องถอดรหัสไปถึงปัจจัย รวมถึง “เล่ห์เหลี่ยมการเมือง”
เมื่อเปิดบทบัญญัติข้อกฎหมายแบบครบถ้วนทุกตัวอักษร จะเห็นชัดว่า เฉพาะกรณีการถือหุ้นสื่อของพิธา การจะ “สอย-ไม่สอย” พิธาแทบไม่มีผลอะไรในทาง “ดุลอำนาจการเมือง”
เพราะโทษของคดีนี้ ต่อให้ “พิธา”จะติดบ่วง เต็มที่ที่สุด โทษก็แค่พ้นจากการเป็น สส. หรืออาจต้องคืนเงินเดือน สส.ที่ได้รับมา เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติในขณะรับสมัครเท่านั้น แต่พิธาไม่ได้ถูก “ตัดสิทธิ” หรือถูกลงโทษใดๆทางการเมือง
นั่นหมายความว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดกรณีหนึ่ง “พิธา”ยังสามารถลงสมัครเลือกตั้งเป็นสส.ได้ แถมจะยิ่งเป็นอีเวนต์สร้างคะแนนนิยมให้กับตัวเอง รวมถึงพรรคก้าวไกลได้อีกด้วยซ้ำไป
- ลุ้นชี้ชะตา "ล้มล้าง-ยุบพรรค" ของจริง
อ่านเกม “กลุ่มขั้วอำนาจ” บางกลุ่ม สะท้อนชัดว่า หากจะใช้ “มือที่มองไม่เห็น” เป็นหมากในการ “โค่นพิธา” หวัง “ล้มก้าวไกล” ในคดีหุ้นไอทีวี
ก็ย่อมจะ“เสีย”มากกว่า“ได้” ทำไปทำมา จะยิ่งเป็นฝ่ายเสียรังวัดเองอีกด้วย
ฉะนั้นใน“เชิงการเมือง” คดีหุ้นไอทีวีของพิธาจึงเป็นแค่หมากตัวแรก ที่ถูกหยิบมาใช้เพียงเพื่อสกัดการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่30 อันเป็นอุปสรรคขวากหนามในห้วงที่ “ซูเปอร์ดีลข้ามขั้ว” กำลังก่อตัว ณ ช่วงหนึ่งแต่เพียงเท่านั้น
ผลคำวินิจฉัยอาจทำให้พรรคก้าวไกลตายใจ แต่อย่าลืมยังเหลือหมากอีกหนึ่งตัว
นั่นคือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ซึ่งพิธา และพรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ชะตาในวันที่ 31 ม.ค.2567 นี้
คดีนี้เรียกได้ว่า สถานการณ์พรรคก้าวไกลกำลังเดินอยู่บนทาง “2 แพร่งวัดใจ”
ทางแรก หากผลออกมา “ไม่ผิด” พรรคก้าวไกล หรือพรรคอื่นๆ ก็ยังสามารถเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 รวมทั้งยังสามารถใช้เป็น “มอตโต้หาเสียง” ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย
มิหนำซ้ำในห้วงที่กระแสพรรคก้าวไกลและพิธาที่ยังท๊อปติดลมบน แน่นอนว่า “สมการการเมือง” หลังจากนี้ย่อมต้องจับตา โดยเฉพาะในยามที่พรรคร่วมรัฐบาลกำลังระส่ำระสายด้วยแล้ว
แน่นอนว่าการ “คืนฟอร์ม” ของพิธาและก้าวไกลย่อมถือแต้มต่อเป็นเรื่องธรรมดา
กลับกันหากเป็น ทางที่สอง คือ พรรคก้าวไกล “มีความผิด” นอกจากจะต้องหยุดการกระทำแล้ว ต้องจับตาช็อตสำคัญต่อไปคือ “คดียุบพรรค”
จริงอยู่ เนื้อหาทุกตัวอักษร ตามคำร้องจะระบุเพียง ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง เพื่อ “สั่งหยุดการกระทำ”แต่เพียงเท่านั้น
เช่นเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่เห็นพ้องในทำนองเดียวกัน ฟันธง!ว่า ผลในวันที่ 31 ม.ค.นี้ จะวินิจฉัยแค่“ผิด-ไม่ผิด” หรือ นโยบายแก้มาตรา 112 จะได้“ไปต่อ” หรือ“พอแค่นี้”
ขณะเดียวกันก้าวไกลยังมองว่า การใช้กระบวนการนิติบัญญัติในการเสนอแก้กฎหมาย ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ขณะเดียวกันกระบวนการแก้ไข ก็ยังอยู่ในขั้นตอนทางสภาฯ จึงเชื่อว่าไม่มีเหตุนำไปสู่การยุบพรรค
โดยเฉพาะ “ชัยธวัช” หัวหน้าพรรคที่พูดไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ควรมีพรรคการเมืองใดที่ถูกตัดสิน “โทษประหารการเมือง” จากนี้อีกต่อไป
- เทียบ ทษช.-ม็อบราษฎร ม.92 ชี้ชะตา
ทว่า หากมองในมุมฝั่งตรงข้าม โดยเฉพาะ“ธีรยุทธ สุวรรณเกษร”ทนายความ ในฐานะผู้ร้อง มองว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติกรรมของก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ผลที่ตามมาคือ พรรคก้าวไกลไม่อาจเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ได้อีกต่อไป และคำวินิจฉัยศาลจะเป็น“สารตั้งต้น”ที่นำไปสู่การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลได้
แม้ตามคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะมีขอบเขตเพียงแค่“สั่งหยุดการกระทำ” นั่นเป็นเพราะ “ผู้ร้อง” คือ “ธีรยุทธ”ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ในการร้องขอให้ศาลสั่งยุบพรรคก้าวไกลได้
ประเด็นการยุบพรรคนั้น หากพิจารณาตาม มาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุ ให้เป็นอำนาจของ “กกต.” ที่จะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง
โดยเฉพาะ 2 วงเล็บแรก
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
ฉะนั้นหากศาลวินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลมีความผิด กระบวนการต่อไปก็จะเป็นอำนาจของ กกต.ในการร้องยุบพรรค ซึ่งต้องดูว่า คำวินิจฉัยศาล จะมีผลต่อเนื่องไปถึงอำนาจ กกต.ในการยื่นยุบพรรคมากน้อยเพียงใด หรือจะมีใครไปร้อง กกต.หลังจากนี้หรือไม่
“ธีรยุทธ” ยังเคยพูดถึงเรื่องนี้อีกว่า อาจเทียบเคียงได้กับ คำวินิจฉัย “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ”จากกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเวลานั้น กกต.เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเรียกร้อง 10 ข้อ ที่เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าเป็น“พฤติกรรมอันเป็นการกัดเซาะ บ่อนทำลาย ด้อยค่า สถาบันพระมหากษัตริย์”
- เกมลับ ‘มือที่มองไม่เห็น’ ยิ่งตียิ่งโต?
มีคำถามว่า แล้วเหตุใด“ธีรยุทธ” จึงไม่ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกลตั้งแต่แรก ?
นั่นอาจเป็นเพราะ“เทคนิคทางกฎหมาย” เพราะหากยังจำกันได้ ก่อนหน้านี้มีผู้ไปยื่นยุบพรรคก้าวไกล ทั้งกรณีแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงกรณีอื่นจำนวน “4 คำร้อง”
แต่ต่อมา กกต.ตีตก ด้วยเหตุผล “ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการ ตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง”
เมื่อเป็นเช่นนี้ธีรยุทธจึงต้อง "ยืมมือศาลยื่นดาบกกต." เพื่อชี้ขาด เสมือนเป็น“ตราประทับ” ชั้นแรกแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของ กกต.ในการยื่นยุบพรรคในชั้นถัดไป
ยิ่งในยามที่มีสัญญาณมาจาก “มือที่มองไม่เห็น” เดินเกมลับบนดิน-ใต้ดิน หวังสกัดการเติบโตของพรรคก้าวไกล ในยามนี้ “พิธา” คืนฉากการเมืองในฐานะแคนดิเดตนายกฯที่ติดตัวเป็นทุนเดิม บวกกระแสพรรคซึ่งกราฟหักหัวขึ้นอีกระลอกด้วยแล้ว
สถานการณ์ของพรรคเวลานี้ ยังถือว่า “ไม่พ้นระยะอันตราย” แม้ก้าวไกลจะมองเกมบวกยุบพรรค “ยิ่งตี-ยิ่งโต” ก็ตาม
จับตา“หมากการเมือง” เดิมพันของพรรคก้าวไกล แม้หุ้นสื่อ“พิธา”จะฉลุย ก็ยังลุ้นต่อหมากตัวที่สอง คดี “ล้มล้างการปกครอง” ที่สุดแล้ว จะลามไปถึงการยุบพรรคหรือไม่ ต้องติดตาม!