'ธีรยุทธ' ยื่นหลักฐาน กกต.ปัดเปิดทางร้องยุบ 'ก้าวไกล' ไม่ปิดประตูแก้ ม.112
'ธีรยุทธ' ยื่น กกต.ให้บังคับผลคำวินิจฉัยศาล รธน.กับ 'ก้าวไกล' ปัดเปิดทางร้องยุบพรรค เชื่อผลชี้ขาดของศาล ไม่ปิดประตูแก้ ม.112 เตรียมยื่น ป.ป.ช.ฟันจริยธรรม 44 สส.ก้าวไกล
เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครอง เดินทางไปยื่นคำร้องต่อประธาน กกต.และ กกต.เพื่อขอให้พิจารณาดำเนินการกับพรรคก้าวไกล ตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้เป็นไปตามคำวิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้อ่านเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2567 เรื่องพิจารณาที่ 19/2566
นายธีรยุทธ กล่าวว่า จากการศึกษารายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง คือ นายพิธาในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมถึงพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลนี้มีผลผูกพันกกต.ด้วย ดังนั้นเนื่องจากตนเป็นคนหลักที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าว จึงมองว่าเป็นเรื่องผูกพันที่จะต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามสิทธิที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญจึงได้ทำคำร้องเพื่อนำเสนอต่อกกต.พร้อมเอกสารกว่า 100 หน้า มายื่นต่อ กกต. เพื่อบังคับการกับพรรคก้าวไกลให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่า ด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรค 1 ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อ คณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น โดยอนุ 1 กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้นตนเห็นว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของกกต.ที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ศาลพิจารณาสั่งยุคพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2562 มาตรา 92 วรรค 1
เมื่อถามความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา นายธีรยุทธ กล่าวว่า กรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัย ออกมาเมื่อวานนี้(31 ม.ค.) ทุกอย่างเป็นไปตามพยานหลักฐานซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำ ของนายพิธาและพรรคก้าวไกลเอง
เมื่อถามว่า มีการมองว่า การยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญของนายธีรยุทธจะเป็นตัวเปิดเส้นทางให้มีการยื่นคำร้องให้ในการยุบพรรคก้าวไกล เดิมทีวัตถุประสงค์เพื่อให้ยุบ หรือแค่ต้องการให้ยุติการกระทำ นายธีรยุทธ กล่าวว่า เบื้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลโดยคิดว่าขอให้ศาลท่านโปรดเมตตาพิจารณาสั่งการเพื่อให้หยุดการกระทำเหล่านั้น แต่เนื่องด้วยหลายปัจจัย
นายธีรยุทธ กล่าวว่า อีกทั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา ตนได้นั่งอ่านคำวินิจฉัยของศาลอย่างละเอียดเห็นว่า เมื่อศาลได้โปรดพิจารณาวินิจฉัยให้แล้ว ในขณะที่เราอยู่ในฐานะผู้ร้องก็เห็นว่า มีความผูกพันตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นโดยตรง กระบวนการต่อไปก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่วินิจฉัยนั้น จึงทำหน้าที่ตามหน้าที่ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่าผู้ใดทราบเหตุก็ให้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ตนจึงได้เดินทางมายื่นต่อ กกต.ในวันนี้
เมื่อถามว่า ในอนาคตหาก กกต.มีการส่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณายุบพรรคก้าวไกล กังวลหรือไม่ว่าจะทำให้เกิดความวุ่นวายอีกครั้ง นายธีรยุทธ กล่าวว่า ตนไม่ได้กังวลใจ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมาเป็นการวางบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของประเทศไทย ดังนั้นเมื่อพรรคก้าวไกล หรือสมาชิกพรรค หรือผู้สนับสนุน หรือผู้นิยมชื่นชอบพรรคก้าวไกล อยู่ในฐานะที่จะต้องปฏิบัติและยึดถือบรรทัดฐานการเมืองการปกครองของไทยซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตนก็เชื่อว่าหลักการนี้ก็ปรากฏอยู่ในข้อบังคับของพรรคก้าวไกลด้วยอยู่แล้ว ดังนั้นการที่จะมีผลกระทบหรือจะกระทบกระทั่งกันอย่างไรก็เป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ที่คนนั้นควรจะพิจารณาระลึกถึงบ้าง
เมื่อถามว่า มีนักวิชาการบางคนมองว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสร้างบรรทัดฐานใหม่ ว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้อีกทั้งในและนอกสภา นายธีรยุทธ กล่าวว่า แสดงว่านักวิชาการท่านนั้นไม่ได้อ่าน หรือไม่ได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด อาจจะฟังแบบผิวเผิน ตนก็ได้แต่บอกว่าขอให้กลับไปฟังให้หลายๆ รอบ เพราะบรรทัดสุดท้ายห้วงก่อนจะจบ ท่านวินิจฉัยโดยบอกว่าไม่ได้ปิดประตู แต่การจะแก้ไขต้องเป็นไปตามครรลองนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งคำว่านิติบัญญัติโดยชอบ คือต้องเป็นฉันทามติเลยอย่างแรก
"คนที่คิดจะแก้ไขมาตรา 112 นั้นศาลท่านก็วินิจฉัยชัดเจนอยู่ว่ามีเจตนาซ่อนเร้น อย่างอื่นอันมีนัยยะสำคัญ ซึ่งประชาชน โดยทั่วไปอาจจะยังไม่ทราบถึง เพราะฉะนั้นตนคิดว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ที่เป็นครูบาอาจารย์ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญหลักนิติ อีกทั้งก่อนจะทำคำวินิจฉัยเช่นนี้ ทราบจากเนื้อหาคำวินิจฉัยว่ามีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของตนโดยใช้เวลาถึง 62 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก" นายธีรยุทธ กล่าว
ดังนั้นเห็นว่า มีการพิจารณาโดยละเอียดรอบด้านมีข้อมูลจากหลายหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม หรือศาลยุติธรรมก็ส่งเข้ามา และศาลท่านก็สามารถหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยละเอียด
นายธุรยุทธ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 2 ก.พ. เวลา 10.00 น. จะเดินทางไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของพรรคก้าวไกล และสส.พรรคก้าวไกล 44 คน ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 รวมถึงนายพิธา ด้วย เนื่องจากเห็นว่า เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เชื่อว่า จะเหมือนกับกรณีของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน