ครม.เคาะผ่านร่างกฎหมาย แบ่งแยก-โอนสิทธิที่ดิน ส.ป.ก.
ครม. มีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ....
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สืบเนื่องจาก ครม. มีมติ (15 ส.ค. 2566) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการตกทอดทางมรดกและการโอนสิทธิในที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอ และเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาดำเนินการจัดทำกฎตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ได้แก้ไขชื่อร่างกฎกระทรวง เป็น ร่างกฎกระทรวงการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินของผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. .... ซึ่ง กษ. (ส.ป.ก.) ได้ยืนยันให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว และโดยที่ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ครม. ชุดใหม่ กษ. จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวที่ สคก. ตรวจพิจารณาแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้
1. กำหนดบทนิยาม เช่น “ผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” หมายความว่า บุคคลผู้ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
2. การตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม กำหนดกรณีที่ผู้ได้รับสิทธิฯ ถึงแก่ความตายหรือศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้สิทธิในที่ดินตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิได้รับมรดก รวมทั้งได้กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ถือเป็นทายาทโดยธรรม เป็นต้น
3. การแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังสถาบันเกษตรกร กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิฯ สามารถโอนสิทธิในที่ดินแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อชำระหนี้ ทั้งหมด หรือบางส่วน ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิที่ประสงค์จะประกอบเกษตรกรรมต่อไป ยังคงเหลือที่ดินบางส่วนมาใช้ประกอบเกษตรกรรม และกำหนดแนวทางปฏิบัติการใช้ประโยชน์ที่ดินของสถาบันเกษตรกร ภายหลังจากที่ได้รับโอนสิทธิในที่ดิน โดยจะต้องใช้ที่ดินประกอบเกษตรกรรม และจะทำการแบ่งแยกหรือโอนไปยังผู้อื่น หรือนำไปให้บุคคลอื่นเช่าไม่ได้
4. การแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยัง ส.ป.ก. กำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิฯ อาจแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดินบางส่วน หรือทั้งหมดคืนให้ ส.ป.ก. โดยขอรับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินดพื่อเกษตรกรรมที่ประสงค์จะทำการแบ่งแยก หรือโอนสิทธิในที่ดิน และเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง