คดีนักโทษการเมือง 'ยุติ-ธรรมไทย' : บทเรียนจากเยอรมนี!
ด้วยขณะนี้มีคนไทยจำนวนหนึ่ง ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมาย กรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยของประเทศไทย ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 3 คดี
คดีทั้งสามได้แก่ เรื่องความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฯ ประกอบด้วยกรณี EXIM Bank กรณีเร่งรัดให้มีการออกสลากพิเศษหวยบนดิน และกรณีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้บริษัทชินคอร์ป
คำพิพากษาในกรณีที่สามมีข้อความบางตอนดังนี้ “...เมื่อจําเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการดูแลกิจการโทรคมนาคม และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทชินคอร์ป การกระทําของจําเลยจึงเป็นการเข้ามีส่วนได้เสียในการดําเนินการดังกล่าว และเป็นผลให้บริษัทที่จําเลยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ได้รับประโยชน์ อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ...” ทั้ง 3 คดีนับโทษรวมติดคุก 8 ปี
นายทักษิณ ชินวัตร ได้หลบหนีไปยังประเทศต่างๆ เป็นเวลา 16 ปีเศษ เดินทางกลับประเทศไทยในขณะที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบได้ดำเนินการตามขั้นตอนจัดส่งเข้าเรือนจำในวันเดียวกัน พอถึงเวลากลางคืนได้มีการนำไปยังชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ โดยอ้างว่าเจ็บป่วยหลายโรค
ต่อมามีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการพระราชทานอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุก 1 ปี
อย่างไรก็ดี จากวันที่ออกจากเรือนจำจนถึงปัจจุบัน นักโทษผู้นี้ไม่เคยกลับเข้าเรือนจำอีก กระทั่งวันที่เขียนบทความนี้ 13 ก.พ.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีได้รับการพักโทษ
(*เพิ่มเติมจากกองบรรณาธิการ ล่าสุดวันที่ 18 ก.พ.2567 เวลา 06.09 น. นายทักษิณ เดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจกลับบ้านจันทร์ส่องหล้า หลังจากได้รับการพักโทษ )
ผู้เขียนขอนำเสนอเรื่องราวประเทศเยอรมนี เกี่ยวกับตัวอย่างการบังคับใช้กฎหมายในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีความผิดในข้อหาทุจริต รวมถึงมาตรฐานทางศีลธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แม้ในภาพรวมเยอรมนีเป็นประเทศที่มีการทุจริตค่อนข้างต่ำ เพราะประชาชนมีอุปนิสัยตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์และมั่นคงในหลักการ รวมถึงกฎหมายเยอรมนีมีกรอบต่อต้านการทุจริตที่เข้มงวด โดยการจัดการกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ภายใต้มาตรา 331 ถึง 335a แห่งประมวลกฎหมายอาญา
Ludwig-Holger Pfahls อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2530 ถึง 2535 เป็นผู้ต้องหาในคดีรับสินบนกว่า 2 ล้านยูโรจากบริษัทค้าอาวุธ Thyssen-Henschel เพื่อขายรถถังให้ซาอุดีอาระเบียในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2534 และการเลี่ยงภาษี
เขาหลบหนีออกนอกประเทศเยอรมนีเป็นเวลาถึง 5 ปี ก่อนจะถูกตำรวจฝรั่งเศสจับกุมและคุมขังที่คุก Sante ในกรุงปารีส ในปี 2548
เขาถูกส่งตัวกลับไปยังเยอรมนี และถูกศาลพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 3 เดือน อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีเหตุบรรเทาโทษ ศาลจึงลดโทษให้เหลือจำคุกกึ่งหนึ่ง นอกจากคำพิพากษาในปี 2548 ต่อมาในปี 2554 Pfahls ในวัยเกือบ 70 ปี ถูกตัดสินจำคุก 4 ปีครึ่ง ฐานสร้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับการล้มละลาย
กล่าวคือ ได้ซ่อนทรัพย์สินมูลค่ากว่า 5 ล้านยูโร เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าปรับจากการพิพากษาลงโทษครั้งก่อน เป็นที่น่าสนใจว่า Viorica ภรรยาวัย 68 ปีของเขาถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 9 เดือน ด้วย เนื่องจากบัญชีธนาคารของเธอถูกใช้ในการโอนเงินที่เกี่ยวข้อง
จะเห็นได้ว่า รัฐบาลเยอรมนีมีการติดตามจับกุมผู้ต้องหา ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างจริงจัง แม้บุคคลดังกล่าวจะมีอิทธิพลและหลบหนีอยู่ในต่างประเทศ จนนำมาสู่การพิพากษาตัดสินคดีและรับโทษจำคุกตามกฎหมาย
นอกจาก Pfahls เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตและรับโทษจำคุก มีนักการเมืองอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องหลุดจากตำแหน่งทางการเมืองด้วยเหตุความไม่ซื่อสัตย์
อาทิ ในปี 2555 Christian Wulff ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของรัฐได้ลาออก และเป็นประธานาธิบดีคนแรกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชันฐานรับเงินราว 700 ยูโร (ประมาณ 27,000 บาท) เป็นค่าเข้าพักโรงแรมและอาหารในช่วงเทศกาลเบียร์ Oktoberfest
แม้ว่าประธานาธิบดีในเยอรมนีไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่มีบทบาทหลักในตำแหน่งพิธีการ หมายถึงการดำรงไว้ซึ่งแบบอย่างของผู้ทรงธรรม ดังนั้น การกระทำของ Wuff จึงไม่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ของสังคม
Angela Merkel นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกล่าวว่า การตัดสินใจของ Wulff ที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนการสอบสวนทางอาญา แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบบกฎหมายของเยอรมันที่ “ทุกคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” อย่างไรก็ดี ในปี 2557 ศาลตัดสินให้เขาพ้นผิดในข้อหาคอร์รัปชัน
ในปี 2564 Franziska Giffey ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการครอบครัว ผู้สูงอายุ สตรี และเยาวชน เพื่อแสดงความรับผิดชอบจากการที่ถูกมหาวิทยาลัยถอดถอนปริญญาเอกด้วยเหตุการคัดลอกผลงานผู้อื่น
และก่อนหน้านี้ยังมีนักการเมืองเยอรมนีมากกว่า 20 คนถูกถอดถอนปริญญาและต้องรับผิดลาออกจากตำแหน่งทางการเมือง ด้วยเหตุผลความไม่ซื่อสัตย์ในการทำวิทยานิพนธ์
อาทิ Karl-Theodor zu Guttenberg รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม Annette Schavan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งลาออกจากตำแหน่งในปี 2554 และ 2556 ตามลำดับ
นั่นคือ ในประเทศเยอรมนี การใช้ระดับการศึกษาที่ไม่ถูกต้องถือเป็นความผิดทางอาญาในสายตาของประชาชน เป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์ ซึ่งต้องมีการแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง
จะเห็นได้ว่า นักการเมืองเยอรมนีมีบรรทัดฐานเกี่ยวกับความประพฤติสูง ส่วนการบังคับใช้กฎหมายก็มีมาตรฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป ซึ่งมาจากหลักการสำคัญที่ว่า “ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน” โดยไม่มีการละเว้นว่าบุคคลดังกล่าวเคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือมีอิทธิพลใดๆ
ทั้งหมดนี้คือรากฐานสำคัญค้ำจุนกระบวนการยุติธรรมของประเทศเยอรมนีให้แข็งแกร่ง...แล้วผู้บริหารประเทศไทยคิดว่า “กระบวนการยุติธรรมของเมืองไทย” ในวันนี้...อยู่จุดใดในสายตานานาอารยประเทศ?!