4 ฉากทัศน์’ ชี้วัดโค้งอันตราย เดิมพัน จุดเปลี่ยนการเมือง
ถอดรหัส "4จิ๊กซอว์การเมือง" พักโทษทักษิณ - ดิจิทัลวอลเล็ต - เกมสภา - เขย่าครม. ทุกสถานการณ์เป็นเดิมพัน ที่ต้องลุ้นจุดเปลี่ยนการเมือง
Key Point:
- การพักโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ล่าสุดได้รับคำยืนยันจาก “ทวี สอดส่อง” เจ้ากระทรวงตราชั่ง สอดรับสัญญาณกระชับมิตรพรรคร่วมรัฐบาล ผ่านวงดินเนอร์ ช่วงค่ำวันที่ 13 ก.พ. 2567
- เรือธง “ดิจิทัลวอลเล็ต” เดิมพันเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาล
- “เกมสภา” ไปลุ้นกันที่หลากหลายวาระร้อน พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านด่านวัดใจ
- “โค้งอันตราย” ในช่วง “18 ก.พ.” ถึง “11 พ.ค.” ต้องลุ้น จุดพลิก-สมการเปลี่ยน
องศาการเมืองจับสัญญาณ 4 จิ๊กซอว์การเมือง จิ๊กซอว์ตัวแรก การพักโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ล่าสุดได้รับคำยืนยันจาก “ทวี สอดส่อง” เจ้ากระทรวงตราชั่งว่า “นายใหญ่”เพื่อไทย เป็นหนึ่งใน 930 ผู้ต้องขัง ที่เข้าเกณฑ์ ตามระเบียบราชทัณฑ์
การคืนสู่อิสรภาพของ “ทักษิณ” ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นวันที่ 18 ก.พ. ที่ยังคงมีอีกหนึ่งบ่วง คือคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการให้สัมภาษณ์กับสื่อเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2558 ต้องจับตาว่า “ทักษิณ” จะโดนอายัดตัว เพื่อนำส่งดำเนินคดีตามขั้นตอนหรือไม่
ในมุม “นาเคนทร์ ทองไพรวัลย์” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อธิบายขั้นตอนว่า เรือนจำต้องแจ้งไปยังพนักงานสอบสวนให้ไปรับตัวทักษิณมาดำเนินการ และจะเป็นดุลยพินิจว่าจะ “ปล่อยตัวชั่วคราว” ในชั้นพนักงานสอบสวน หรือนำตัวไป “คุมขัง” โดยใช้อำนาจศาล
- จับตา18ก.พ."ทักษิณ" คืนจันทร์ส่องหล้า
ทั้งนี้ กรณีอัยการตรวจสำนวนเสร็จแล้ว และมีการสั่งสอบเพิ่ม และรอผลสอบเพิ่ม พนักงานสอบสวนรับตัวมาส่งอัยการ อัยการอาจอนุญาตปล่อยชั่วคราว เพราะถือว่าสำนวนอยู่ในชั้นอัยการแล้ว
ไม่ต่างจากฝั่ง “ผู้มีอำนาจ” ในรัฐบาลมองว่า ขั้นตอนการอายัดตัวจบไปแล้ว เพราะทั้งตำรวจและอัยการไปแจ้งข้อหากับทักษิณและทางฝั่งอัยการ อยู่ระหว่างการพิจารณาหนังสือร้องขอความเห็นธรรม จึงไม่มีประเด็นต้องอายัดตัว หรือควบคุมตัว
หากเป็นเช่นนี้ หมายความว่า วันที่ 18 ก.พ.นี้ ปลายทางของทักษิณ ก็จะจบที่บ้านจันทร์ส่องหล้าอย่างแน่นอน
สอดรับสัญญาณกระชับมิตรพรรคร่วมรัฐบาล ผ่านวงดินเนอร์ ช่วงค่ำวันที่ 13 ก.พ. 2567 ซึ่งมี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยง “ร่วมมือ ร่วมใจ รัฐบาลประชาชน” ที่ โรงแรมอีส ติน แกรนด์ พญาไท เพื่อสร้างความสามัคคีในกลุ่ม สส. และข้าราชการการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล จำนวน 500 คน ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน
เลี่ยงไม่พ้น ถูกมองว่าเป็นเกมคู่ขนาน ตอกย้ำสัญญาณการคืนสู่ฉากหน้าของ“นายใหญ่”ในฐานะผู้คุมเกมตัวจริง
- “ดิจิทัลวอลเล็ต” วัดใจพรรคร่วมรัฐบาล
ต่อเนื่องมาถึง จิ๊กซอว์ที่สอง เสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะเรือธง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่นัดหมายประชุมช่วงเย็นวันที่ 15 ก.พ.นี้ ต้องจับตา การแถลงความคืบหน้าในวันดังกล่าว
ไฮไลต์สำคัญ น่าจะอยู่ที่สารพัดประเด็นหักล้าง ไม่ว่าจะเป็นความเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติที่แสดงท่าทีคัดค้านโดยมองว่าเศรษฐกิจไม่วิกฤติ ทั้งในส่วนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ที่ไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามความต้องการของรัฐบาล หรือแม้แต่รายงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.โดยเฉพาะ 4 ปมเสี่ยง-8 ข้อแนะนำที่มีการแถลงไปก่อนหน้านี้
ว่ากันว่า ประเด็นที่รัฐบาลจะหยิบมาเป็นประเด็นหักล้าง จะมีทั้งผลศึกษาป.ป.ช. ที่ “ไม่ได้ห้าม” รัฐบาลทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ประเด็นการล้อมคอกโครงการจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ด้วยการตั้งอนุกรรมการเพิ่มอีก 1 ชุด เพื่อศึกษารายงาน ตลอดจนข้อสังเกตของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
หรือแม้แต่ข้อถกเถียงว่าเศรษฐกิจ ณ เวลานี้ “วิกฤติ” หรือ “ไม่วิกฤติ” ก่อนหน้านี้ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ยืนยันเสียงแข็งรัฐบาลมีอำนาจตามกฎหมายฟังธง เศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่
อีกทั้งวันก่อน จุลพันธ์ ตอบคำถามสื่อมวลชน ย้ำหนักแน่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมือง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลประกอบขึ้นจากพรรคการเมืองหลายพรรค
เป็นการตอกย้ำจากฝั่งรัฐบาล“เข็นให้สุด”แล้วไปลุ้นที่ปลายทาง โดยเฉพาะการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ผ่านกระบวนการสภาฯ ที่เปิดช่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต้องจับตาจังหวะก้าว ภายในพรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะร่วมหัวจมท้ายบนเรือลำนี้ไปจนสุดทางหรือไม่ อย่างไร
- “เกมสภา” ศึกวัดพลัง
ถัดมา จิ๊กซอว์ตัวที่สาม คือ “เกมสภา” ยังต้องไปลุ้นกันที่หลากหลายวาระร้อนจ่อคิว ก่อนปิดสมัยประชุมในเดือน เม.ย.นี้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านเพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่ง “จุลพันธ์”บอกว่าได้ดำเนินการยกร่างไว้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว
ในชั้น สส. แน่นอนว่า ลำพังเสียงรัฐบาล ณ เวลานี้ เกินพอสำหรับเข็นกฎหมายทั้ง 3 วาระผ่านฉลุย เว้นแต่ว่า จะเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางนำไปสู่การ “แตกหัก” ภายในขั้วรัฐบาล จากชนวนเหตุใด เหตุหนึ่ง หรือบางพรรคร่วมรัฐบาลยกมือสนับสนุนไม่สุดแขน หากเป็นเช่นนั้น โอกาสที่พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านจะถูกคว่ำกลางสภาก็ยังมี
หรือหากท้ายที่สุด พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ผ่านในชั้นสภาล่าง ยังมีอีกหนึ่งด่านวัดใจนั่นคือ“ด่านสภาสูง” ที่แบ่งสายอย่างชัดเจน และทั้งหมดถูกคุมเกมโดย“คีย์แมนตัวจริง” ซึ่งต้องนับรวมไปเกมซักฟอกของ สว.ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.นี้อีกด้วย
แม้แต่ “ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” ที่เวลานี้พรรคร่วมรัฐบาลจะประสานเสียง แต่หากไล่ลึกลงไปไส้ในแต่ละพรรค จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ชัดว่า จะหาจุดร่วมที่ลงตัวอย่างไร โดยเฉพาะ “เพื่อไทย” และ “รวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งเคยเป็นคู่ขัดแย้งกันทางการเมือง ตั้งแต่เหตุการณ์ชุมนุมปี 2549-2557 แต่ยามนี้แปรเปลี่ยนมาเป็น “พรรคร่วมรัฐบาล”
- โค้งอันตราย "จุดพลิก-สมการเปลี่ยน"
จิ๊กซอว์ตัวที่ 4 “โค้งอันตราย” ในช่วง “18 ก.พ.” ถึง “11 พ.ค.” ต้องลุ้น จุดพลิก-สมการเปลี่ยน
ต้องไม่ลืมว่า “ครม.เศรษฐา 1” ณ เวลานี้ ยังเหลือ 2 โควตา ในส่วนของ “พิชิต ชื่นบาน” พรรคเพื่อไทย และ “ไผ่ ลิกค์” ที่รอเขย่า ปรับโยก เกลี่ยโควตา สลับคน ไปพร้อมกับสลับกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มรัฐมนตรีโลกลืม กลุ่มที่ได้รับต่างตอบแทนแล้ว และนำกลุ่มที่จ่อคิว มีสัญญาใจ และอาจรวมไปถึงบางพรรคที่รอคิวเสียบหลังจากนี้
ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่า 11 พ.ค.2567 นี้ จะเป็นช่วงที่ สว.ชุดปัจจุบันหมดวาระ ไร้เงื่อนไขในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นเกมต่อรองทางดุลอำนาจ และยังเป็นจังหวะที่งบประมาณ 2567 เริ่มทยอยเบิกจ่ายอีกด้วย
ต้องจับตา“4 ฉากทัศน์” ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ทุกสถานการณ์เป็นเดิมพันที่ต้องลุ้นจุดเปลี่ยนการเมือง!