10 ปี ‘เสี่ยโต’บนเส้นทางการเมือง นายทุนพรรค ดีลโปรเจกต์ยักษ์ ?
"แม้ผมจะถูกมองว่าเป็นนายทุนพรรคการเมือง แต่สำหรับผมแล้ว กำลังใช้ทุนทางความคิด ประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะด้านมาช่วยพัฒนาประเทศและประชาชน ภายใต้แบรนด์พลังประชารัฐ"
- “เสี่ยโต” กำลังผลักดัน 2 โครงการใหญ่ เพื่อยกระดับการจัดการแข่งขันกีฬาไทยไปสู่โอลิมปิก และติดตั้งโซลาร์รูฟฟรีให้ประชาชน
- “สนามม้านางเลิ้ง” อายุ 102 ปีปิดตัวลง กลุ่มคนชื่นชอบกีฬาแข่งม้า แสวงหาความร่วมมือกับนักลงทุนหาก่อสร้างสนามม้าแห่งใหม่
- จากสนามม้า ขยายเป็น “สปอร์ต คอมเพล็กซ์” หรือ “ศูนย์กีฬาโอลิมปิก” รองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลก โดยการผนึกกำลัง" บิ๊กป้อม -พล.อ.วิชญ์ -เสี่ยโต"
- กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย สนใจติอต่อขอร่วมลงทุนอยู่ระหว่างเจรจา
กว่า 10 ปีบนถนนการเมืองของ อภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเจซีเคอินเตอร์เนชั่นแนล มหาชน ซึ่งประกอบธุรกิจโรงงานสำเร็จรูป หรือแวร์เฮาส์ ในนิคมอุตสาหกรรม และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ บมจ.เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้(JCKH) ธุรกิจอาหารในตราสินค้า ฮอทพอท ไดโดมอน ร้านอาหารจีน Zheng Dou ร้านอาหารอิตาเลียน Signor Sassi
ชื่อของ “เสี่ยโต” อภิชัย เตชะอุบล ปรากฎใน สส.บัญชีรายชื่อครั้งแรก ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะชักชวนเข้าสังกัด ในตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค และถูกเรียกขานว่าเป็น“นายทุนพรรค”
ปัจจุบัน “เสี่ยโต”กำลังเดินหน้าผลักดัน 2 โครงการใหญ่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการแข่งขันกีฬาไทยไปสู่โอลิมปิก โดยวางเป้าหมายในหลายมิติ นอกจากเสริมสร้างเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ดึงนักลงทุนเข้าประเทศแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างคน สร้างอาชีพ
โดยผนึกกำลังกับ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมี “บิ๊กป้อม” เป็นประธาน ผุดโครงการก่อสร้าง “สปอร์ต คอมเพล็กซ์” หรือ “ศูนย์กีฬาโอลิมปิก” แบบครบวงจร รองรับการแข่งขันกีฬาระดับโลก บนเนื้อที่เกือบ 2,000 ไร่ จ.สมุทรปราการ ติดมอเตอร์เวย์ และอยู่ห่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพียง 15 กิโลเมตร และโครงการจัดสร้างสนามแข่งม้าในระดับโลก
สำหรับที่มาของโครงการดังกล่าวเริ่มจาก ภายหลังราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ“สนามม้านางเลิ้ง” สถานที่ใช้จัดการแข่งม้าสลับกับราชกรีฑาสโมสรมาเกือบ 102 ปี หมดสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และถูกรื้อถอนปี 2562 ปัจจุบันแปรสภาพเป็นอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
จึงมีความพยามของกลุ่มคนที่ยังชื่นชอบและอยากอนุรักษ์กีฬาแข่งม้า ซึ่งเป็นทั้งอดีตทหาร พลเรือน แสวงหาความร่วมมือกับนักลงทุนเพื่อหาสถานที่เหมาะสม ก่อสร้างสนามม้าแห่งใหม่ ทดแทนสนามม้านางเลิ้งมาเกือบ 5 ปี
อีกทั้งสนามม้าโคราช ซึ่งอยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ถูกสั่งปิดตามนโยบายของกองทัพบก และเตรียมแปรสภาพเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนใช้ประโยชน์ตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาด
ส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงม้าแข่งทั้งใน กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา ขอนแก่น ทยอยขายม้าให้กับผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงม้าแข่งต่างประเทศ เนื่องจากแบกภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว เพราะเมื่อ 2 ปีที่แล้วเกิดโรคระบาด ทำให้ม้าแข่งล้มตายหลายร้อยตัว ปัจจุบันม้าแข่งไทยเหลืออยู่ประมาณ 100 กว่าตัว จาก 1,000 กว่าตัว
พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะนายกสมาคมกีฬาม้าแข่งไทย และเคยเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ทราบว่า เสี่ยโต มีแนวคิดจะสร้างสนามม้า ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีสนามกีฬาเป็นมาตรฐาน จึงชักชวนให้ดึงคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ เข้าร่วมด้วย
หวังยกระดับการจัดการแข่งขันกีฬาไทยไปสู่โอลิมปิก ตามเจตนารมณ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกฯ และได้มีการประชุมและลงนามบันทึกความร่วม (MOU) โครงการสร้างสนามแข่งม้า ระหว่าง บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และสมาคมม้าแข่งไทย
โดยมีผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม นำโดย พล.อ.วิชญ์ ในฐานะนายกสมาคมม้าแข่งไทย และ อภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจซีเคฯ เมื่อปี 2566
สำหรับรายละเอียดของการเซ็นเอ็มโอยูในครั้งนี้ ทาง เจซีเค และสมาคมฯ ตกลงกันว่าจะดำเนินการจัดสร้างสนามแข่งม้า เพื่อมุ่งพัฒนากีฬาม้าแข่ง และม้าแข่งไทย ให้ก้าวไกลระดับโลกและเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน และการก่อสร้าง สปอร์ตคอมเพล็กซ์ หรือ ศูนย์กีฬาโอลิมปิก เพื่อยกระดับการจัดแข่งขันกีฬาไทยสู่มาตรฐานสากล อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ของประเทศไทย
“อภิชัย” เล่าถึงความตั้งใจในการทำโครงการนี้ว่า บริษัทตน มีที่ดินผืนหนึ่งอยู่ที่ อ.บางปะกง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรม เฟส 1 และ เฟส 2 ขายไปหมดแล้ว ตอนนี้กำลังขึ้นเฟส 3 และมีที่ดินอยู่บริเวณด้านข้างเฟส 3 ประมาณเกือบ 2,000 ไร่ ตั้งใจจะสร้างเป็น“สปอร์ต คอมเพล็กซ์”
เมื่อ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกฯ ทราบอยากให้ดึงโอลิมปิกฯมาร่วมด้วย เพราะมีแนวทางที่ตรงกันว่าประเทศไทยยังไม่มีสนามกีฬาที่เป็นมาตรฐาน ในขณะที่ประเทศอื่นมีหมดแล้ว เช่น ญี่ปุ่น จีน และมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิก และหากประเทศไทยก้าวไปสู่จุดนั้นได้ ถือเป็นความก้าวหน้าอีกระดับ
โดย “สปอร์ต คอมเพล็กซ์” หรือ “ศูนย์กีฬาโอลิมปิก” จะเป็นศูนย์รวมสนามกีฬาสากล เช่น สนามม้า สนามฟุตบอล สนามเทนนิส สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ กรีฑา สนามวอลเลย์บอล แบดมินตันฯ อยู่ระหว่างการวางแผนของ พล.อ.วิชญ์ ร่วมทั้งยังมี โรงแรม ร้านอาหาร บ้านพักนักกีฬา ห้างสรรพสินค้า
อภิชัย ยอมรับว่า อาจต้องใช้เงินลงทุนมากกว่า 20,000 ล้านบาท และขณะนี้กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติซาอุดีอาระเบีย ทราบข่าวว่าเรามีโครงการนี้ ได้ติดต่อเข้ามาร่วมด้วย อยู่ระหว่างขั้นตอนเจรจาว่าจะมาร่วมอย่างไร เพราะปัจจุบันประเทศซาอุดีอาระเบียกับประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เขาก็พยายามที่จะเข้ามาร่วมลงทุน อย่างไรก็ตามโครงการนี้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกช่องทางหนึ่ง
สำหรับเวลาในการก่อสร้างอาจใช้เวลา 4-5 ปี ถึงจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง เช่น สนามม้า ต้องใช้เนื้อที่ประมาณ 400-500 ไร่ บริเวณตรงกลางจะทำเป็นสนามฟุตบอล ส่วนที่เริ่มจากสนามม้าก่อน เพราะปัจจุบัน สนามม้าในประเทศทยอยปิดตัวรวมถึงในประเทศสิงคโปร์ ก่อนขยายเป็นสนามกีฬาอื่นๆ
“พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ชอบกีฬาแข่งม้าอย่างเดียว ท่านชอบกีฬาทุกชนิดและใช้เวลาว่างมาเล่นกีฬา เช่น ตีกอล์ฟ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือแม้แต่กีฬาชกมวย ท่านก็ชอบ และเมื่อผมมาทำตรงนี้แล้ว ก็อยากให้ครบวงจร เพราะเราไม่มีสนามที่เป็นมาตรฐาน สามารถรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้ เราต้องจริงจัง และทำให้ได้ เพราะปัจจุบันสนามกีฬาของเราไม่ค่อยได้มาตรฐาน แต่หากเราทำได้ จนสามารถจัดกีฬาโอลิมปิก ถือได้ว่าประเทศไม่ธรรมดา ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน สร้างคน สร้างงาน” อภิชัย มั่นใจ
เขายังบอกถึงอีกความตั้งใจว่า จากประสบการณ์ทำงานการเมือง ทำให้ทราบว่า ประชาชนยังมีความเดือดร้อน โดยเฉพาะปัจจุบันปัญหาค่าไฟสูงขึ้น ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่าย อีกทั้งทั่วโลกกำลังตื่นตัว ให้ความสำคัญต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูง กว่า 1.5 องศาเซลเซียส จึงผลักดันให้เร่งผลิตพลังงานหมุนเวียน ให้เป็น 3 เท่าภายในปี 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2550
ตนจึงมีความคิดจะติดตั้งโซลาร์รูฟฟรี ขนาด 5 กิโลวัตต์ ให้กับประชาชนโดยตั้งเป้า 6 หลังคาเรือน ร่วม 30,000 เมกะวัตต์ เพราะโซลาร์รูฟถือเป็นพลังงานหมุนเวียน แต่ราคาติดตั้งประมาณกว่า 100,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ยาก และหากทำสำเร็จจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อีกทั้ง จะได้คาร์บอนเครดิต เมกะวัตต์ละ 1,250 เมตริกตัน/ปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 37,500,000 ตัน/ปี
ปัจจุบันนี้ประเทศไทยพัฒนาพลังงานหมุนเวียนช้ามาก ทั้งที่ทำกันมาเป็น 10 ปีแล้ว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งรัฐบาลควรให้การสนับสนุน และอยากเชิญชวนบริษัทใหญ่ด้านพลังงาน มีทุนเยอะอยู่แล้ว ให้มาช่วยกันทำให้ประชาชน ออกเงินให้ไปก่อน จะบรรเทาความเดือดร้อน และสามารถลดภาวะก๊าซเรือนกระจก มลภาวะก็น้อยลง
นอกจากนี้ ตนเตรียมหารือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกระทรวงที่ดูแลเรื่องนี้
“อภิชัย”ทิ้งท้ายว่า "แม้ผมจะถูกมองว่าเป็นนายทุนพรรคการเมือง แต่สำหรับผมแล้ว กำลังใช้ทุนทางความคิด ประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะด้านมาช่วยพัฒนาประเทศและประชาชน ภายใต้แบรนด์พลังประชารัฐ"