ไทยเสี่ยง ตั้งรับศึก‘เมียนมา’เดือด แนวชายแดนพื้นที่ปฏิบัติการ 2 ฝ่าย

ไทยเสี่ยง ตั้งรับศึก‘เมียนมา’เดือด แนวชายแดนพื้นที่ปฏิบัติการ 2 ฝ่าย

"รัฐบาลไทย" ได้รับแรงกดดันจากทุกทิศทาง ทั้ง นานาชาติ องค์การสากล องค์กรเอกชนหวังใช้ไทยเป็นพื้นที่หน้าด่านหรือพื้นที่ปฏิบัติการของตนเองเข้าสู่ประเทศเมียนมา

Key Point :

  • เมียนมา ประกาศเกณฑ์ทหารทั้งชายหญิง ดัชนีชี้วัดความรุนแรงครบรอบ3ปีรัฐประหาร
  • รับบาลไทย เร่งประสานรัฐบาลเมียนมา และชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม ส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรม ผ่านสภากาชาดเมียนมา ปูทางสู่การเจรจาหยุดยิง
  • รัฐกะเหรี่ยง กังขาความเป็นกลางสภากาชาดเมียนมา เรียกร้องรัฐบาลไทย ส่งความช่วยเหลือมาให้โดยตรง 
  • กองทัพประเมินสถานการณ์ สู้รบเมียนมาทวีความรุนแรง เตรียมพื้นที่ปลอดภัยกว่า 100 จุดตามแนวชายแดน รองรับผู้อพยพได้เพียง 1 แสนคน

 

สถานการณ์สู้รบระหว่างทหารเมียนมากับชนกลุ่มน้อย ล่าสุด ยังปะทุต่อเนื่อง ตามแนวชายแดนทางบก และทางอากาศที่ติดกับไทย ระยะทางกว่า 500 กิโลเมตร โดยกลุ่มต่อต้านยังคงปักหลักอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ไม่ได้เคลื่อนขบวนเข้าปฏิบัติในเมืองใหญ่ ที่เป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาลเมียนมา เช่น เนปิดอร์

“ชายแดนไทย” ยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ แม้การสู้รบจะมีมาเนิ่นนานหลาย 10 ปี แต่ครั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์รุนแรงสุด เพราะครบรอบ 3 ปี รัฐประหารเมียนมา (1 ก.พ.2564) โดยมีดัชนีชี้วัด การระดมกำลังด้วยการประกาศเกณฑ์ทหาร ทั้งชายหญิง เมื่อ 10 ก.พ.2567 ที่ผ่านมา ของรัฐบาลเมียนมา

โดยกำหนดให้ชายมีอายุระหว่าง 18-35 ปี ส่วนผู้หญิง อายุระหว่าง 18-27 ปี เข้ารับการเกณฑ์ทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี บุคคลที่ไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก อาจถูกลงโทษจำคุก เท่ากับจำนวนปีที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร

แม้การเกณฑ์ทหาร รัฐบาลเมียนมากำหนดมาหลายปีแล้ว แต่รอบนี้ระบุเพิ่มเติมว่า ต้องการให้คนมาเกณฑ์ทหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้าน แต่สาเหตุหลัก น่าจะมาจากกำลังทหารเมียนมามีไม่เพียงพอ

 

สำหรับรัฐบาลไทย เตรียมแผนรับมือ 2 ส่วน คือปฏิบัติการเชิงรุกเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฐานะไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อเมียนมายาวที่สุด หลัง “ปานปรีย์ พหิทธานุกร” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จุดริเริ่มเตรียมส่งความช่วยเหลือ

เริ่มต้นจากด่านศุลกากรแม่สอด แห่งที่ 2 ผ่านด่านแม่สอดเมียวดี​ สะพานมิตรภาพไทย- เมียนมา​ แห่งที่ 2 ไปยังพื้นที่ผู้พลัดถิ่น​ โดยสภากาชาดไทยเป็นผู้ส่งมอบไปยังสภากาชาดเมียนมา​ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมสิ่งของ คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนจะเริ่มส่งมอบ

พื้นที่นำร่อง​ 3 หมู่บ้าน​ ในรัฐกะเหรี่ยง​ ประเทศเมียนมา ซึ่งมีจำนวนประชากรประมาณ​ 20,000 คน แต่ดูเหมือนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐกะเหรี่ยง​ มีเงื่อนไขห้ามรัฐบาลเมียนมาเข้ามายุ่งเกี่ยวในพื้นที่ หากจะส่งมอบความช่วยเหลือ อยากให้รัฐบาลไทยส่งผ่านรัฐกะเหรี่ยง​โดยตรง ไม่จำเป็นต้องผ่านสภากาชาดเมียนมา เพราะยังกังขาถึงความเป็นกลาง

ปัจจุบัน รัฐบาลไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการส่งความช่วยเหลืออย่างระมัดระวัง ภายใต้ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน​ โดยประสานงานใกล้ชิดทั้งรัฐบาลเมียนมา รัฐกะเหรี่ยง​ เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า สภากาชาดเมียนมา คือหน่วยงานเป็นกลาง เพื่อเคลียร์เส้นทางให้เกิดความปลอดภัยไม่กระทบต่อการลำเลียงสิ่งของ

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยมีความพยายามประสานกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ซึ่งมีจำนวนมาก โดยบางกลุ่มหยุดยิงแล้ว แต่ห้ามทหารเมียนมาเข้าพื้นที่ บางกลุ่มปฏิบัติการอยู่ เนื่องจากมีความเห็นต่างในเรื่องรูปแบบการปกครอง อุดมการณ์ทางการเมือง และบางกลุ่มมีผลประโยชน์ในพื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง แย่งชิงกับรัฐบาลเมียนมา

แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่รัฐบาลไทยคาดหวังว่าการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะเป็นการนำร่องให้รัฐบาลเมียนมา ชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีโอกาสพูดคุย นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมา ด้วยการเจรจาหยุดยิง สร้างสันติภาพเกิดขึ้นต่อไป

แต่หากสถานการณ์กลับตาลปัตร การสู้รบในเมียนมายิ่งทวีความรุนแรง แม้รัฐบาลไทยจะมีแผนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วยการเตรียมพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวไว้กว่า 100 แห่ง แต่สามารถรองรับผู้หนีภัยสู้รบได้ประมาณ 100,000 คนเท่านั้น และคาดว่าผู้หนีภัยสู้รบจะเพิ่มมากขึ้น

แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุว่า ช่วงแรกๆ ที่มีสถานการณ์สู้รบ ประเทศชาติตะวันตกห่วงใยต่อสถานการณ์เมียนมา และส่งสัญญาณกับรัฐบาลไทย ขอให้เตรียมพร้อมรับผู้หนีภัยสู้รบที่จะทะลักมาตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ประกอบกับช่วงนั้น เริ่มมีการสู้รบ และคนก็เริ่มข้ามมา ประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์ในเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ก็เป็นการเตรียมพื้นที่ปลอดภัยตามแนวชายแดนเพื่อดูแล

“โดยการเตรียมพื้นที่ส่วนหนึ่ง ต้องคำนึงว่าเราต้องสามารถควบคุมได้ และอีกส่วนต้องให้ผู้หนีการสู้รบ พ้นจากพื้นที่การสู้รบ จึงเป็นที่มาการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเอาไว้ ยืนยันว่าเป็นของเดิมที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ และยังดำรงไว้อยู่จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการเตรียมการเอาไว้ในแต่ละพื้นที่ เพราะเมื่อทะลักมาแล้ว หากไม่ได้เตรียมการอะไรเลย จะดูแลไม่ได้ และเราก็จะถูกโจมตีจากกลุ่มเอ็นจีโอ องค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) หรือประเทศชาติตะวันตก ว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพ ในการปฏิบัติต่อผู้ได้รับผลกระทบ” แหล่งข่าวกองทัพบก ระบุ

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยได้รับแรงกดดันจากทุกทิศทาง ไม่ว่าจะเป็น นานาชาติ องค์การสากล และองค์กรเอกชน แม้แต่รัฐบาลเมียนมา และชนกลุ่มน้อย

ดังนั้นการแสดงบทบาทและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในเมียนมา จึงต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ตามกรอบอาเซียนคือไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก เพราะทุกฝ่ายหวังใช้ประเทศไทยเป็นพื้นที่หน้าด่าน หรือพื้นที่ปฏิบัติการของตนเองกันถ้วนหน้า