สภาคว่ำ!'กม.เลือกคำนำหน้านาม' วาระแรก 'ครูธัญ' ย้ำคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สภาฯถก กม.รับรองเพศ เลือกคำนำหน้านาม “ครูธัญ”ย้ำต้องคืนเจตจำนงการระบุเพศให้ LGBTQ ด้าน "เพื่อไทย" ท้วงขอถอนร่าง รอร่างของภาคประชาชนที่มีแนวคิดคล้ายๆกัน ที่สุดมีมติ256 ต่อ 152 เสียง คว่ำร่างวาระแรก
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การรับรองเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ พ.ศ…. เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ก่อนเข้าสู่วาระนายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.กาญจบุรี พรรคเพื่อไทย เสนอให้เจ้าของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว พิจารณาถอนร่างพ.ร.บ.ฯออกไปก่อน เพื่อรอร่างของภาคประชาชนที่มีแนวคิดคล้ายๆกันที่จะเสนอเข้ามา ถึง 2 ฉบับ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอย่างมาก จึงมีความจำเป้นต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนทั้งที่อยูในกลุ่ม LGBTQ และไม่ได้เป็นLGBTQ เพื่อให้กฎหหมายเป็นของทุกกลุ่ม
แต่นายธัญวัจน์ ยืนยันไม่ถอนร่างฯออก เนื่องจากเห็นว่าเราสามารถสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมได้อยู่แล้ว และเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศรออยู่ เราก็ควรจะต้องผลักดัน และสภาฯก็เปิดกว้างอยู่แล้ว และเรื่องนี้มีการผลักดันกันตั้งแต่ปี 2559 แล้ว
ทำให้ที่ประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวต่อ โดยนายธัญวัจน์ ชี้แจงเหตุผลว่า โดยที่รัฐธรรมนูญ รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลยอมได้รับความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงส่งผลให้เกิดการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เอกสารของรัฐไทย ยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามซึ่งถือตามเพศกำเนิดได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้บุคคลข้ามเพศและผู้หลากหลายทางเพศอื่นประสบปัญหาในการแสดงตัวตน การจะตัดสินใจกำหนดวิถีทางเทศ และกระทบต่อการดำเนินชีวิต จึงสมควรมีกฎหมายออกมาคุ้มครอง
นายธัญวัจน์ กล่าวต่อว่า หากเราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้างสังคมใหม่ เราจำเป็นต้องคืนเจตจำนงเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขา เรื่องเพศเป็นเรื่องสำนึกภายในที่จะบอกตนเองได้ว่าตัวเองเป็นอะไร และอยากจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทั้งวิถีและการแสดงออก โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ Self-determination หรือการกำหนดเพศด้วยตัวเอง นี่คือจุดเริ่มที่เราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้าง และมีอีกหลายก้าวสำคัญที่ต้องผลักดันเพื่อให้สังคมได้โอบรับกับความหลากหลาย เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและกายภาพ
ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้นิยามอัตลักษณ์ทางเพศว่า คือการที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเองว่าคือใคร และเป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องออกกฎหมายที่คำนึงถึงเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่แค่เพศสภาพทางเพศเท่านั้น
จากนั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสส.พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน ขณะที่สส.พรรครัฐบาลทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติ อภิปรายคัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้
ขณะที่ น.ส.กฤษฎิ์ ชีวะธรรมานนท์ สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ขอสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งตนเกิดมาด้วยเพศหญิง วันนี้ขอพูดเลยว่าตนใช้ชีวิตเหมือนเด็กผู้ชายมาตลอดตั้งแต่เด็กมีความรู้สึกชอบและรักเพศหญิงมาตั้งแต่เด็ก และใช้ชีวิตแบบนี้มาเป็นปกติ จนกระทั่งวันนี้อายุ 46 ปีแล้ว ตนภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้อยากจะเปลี่ยนคำนำหน้าเป็นผู้ชายแต่อย่างใด แต่เวลาที่เราไปติดต่อราชการ หรือเวลาแนะนำตัวเอง จะต้องมีการหันกลับมามองทุกครั้งและมีความไม่แน่ใจว่า ตกลงเราผู้ชายหรือผู้หญิงกันแน่
ส่วนนายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขอพูดจากก้นบึ้งของหัวใจจากผู้หญิงข้ามเพศ อายุ 51 ปี ตนเจ็บปวดกับคำนำหน้านามว่า นาย มาตลอดชีวิต
นี่เป็นความฝันสูงสุดของตนสิ่งหนึ่งกับการที่จะได้เปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนในปัจุบัน ตนฝันสิ่งนี้มานาน ความฝันของตนคือการได้เป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ ซึ่งตนได้บรรลุความฝันเป็นผู้หญิงอย่างสมบูรณ์ไปหลายสิบปีแล้ว แต่ความฝันที่สองที่สูงสุดคือออกจากความจากความเจ็บปวดที่ตนถูกเรียกว่า นาย ทุกครั้ง และใครที่ไม่ได้เป็นบุคคลข้ามเพศไม่มีทางเข้าใจสิ่งนี้ ดังนั้นขอให้สภาฯมาร่วมกันถกเถียงปรับแก้ในจุดที่มีปัญหา และขอวิงวอนจากหัวใจของหญิงข้ามเพศที่รอสิ่งนี้มานานตลอดชีวิต
หลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติเห็นด้วย 152 เสียงไม่เห็นด้วย 256 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมไม่รับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้