เผยผลประชุมขับเคลื่อน กทม. แก้ PM2.5 ด่วน-แก้ปัญหาจราจรเมืองกรุงฯ
เผยผลประชุม 'ผู้ว่าฯ-กทม.-นายกฯ' ถกขับเคลื่อน กทม. ลุยแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เร่งด่วน จัดการสาธารณูปโภคพื้นฐาน-แก้จราจร พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เชื่อมโยงข้อมูลขนส่งมวลชน ขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ทุกคนร่วมเผชิญปัญหาท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบาก
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2567 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ให้การต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเดินทางมาเยือนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งประชุมติดตามเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร
โดยสรุปผลรายงานประชุมติดตามความก้าวหน้าเร่งรัดพัฒนา กทม.ในช่วงเช้า ได้มีการประชุมติดตามความก้าวหน้าในการเร่งรัดพัฒนากทม. ใน 2 กลุ่มประเด็น คือ 1.การจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และ 2.การจัดการด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรายงานผลการประชุมแก่นายกรัฐมนตรี
จัดการสาธารณูปโภคพื้นฐาน-แก้ปัญหาจราจร
แนวทางในการขับเคลื่อนเพื่อเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยการจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการจัดการด้านสังคมและเศรษฐกิจ ได้แก่ ปัญหาจุดฝืดจราจรและวินัยจราจร ส่วนหนึ่งเกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจร ทั้งการจอดรถในที่ห้ามจอด การขับรถฝ่าไฟแดง การกลับรถในที่ห้ามกลับ รวมถึงปัญหารถรับจ้างสาธารณะ รถแท๊กซี่ รถสามล้อ จอดกีดขวางป้ายรถโดยสารประจำทาง ทำให้เกิดความไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการใช้ถนน แนวทางการแก้ไข 1.การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย โดยกรุงเทพมหานครจะเชื่อมโยงเครื่องมือตรวจจับการฝ่าฝืนกฎหมาย อาทิ การใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่สามารถตรวจจับการฝ่าฝืนกฎหมายได้ หรือการใช้ข้อมูล input จาก GPS รถเพื่อตรวจสอบการจอดรถผิดกฎหมาย แล้วนำข้อมูลส่งมอบให้ตำรวจออกใบสั่งจับกุมผู้ฝ่าฝืน และเมื่อไม่จ่ายค่าปรับจะส่งข้อมูลเพื่อให้กรมการขนส่งทางบกห้ามต่อทะเบียนรถ 2.การมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานทางด้านบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดภาระงานของตำรวจ และการถ่ายโอนภารกิจหน้าที่ในการบริหารจัดการจราจรบางประการให้แก่หน่วยงานท้องถิ่น 3.การใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการจราจรบูรณาการข้อมูลและระบบทางด้านเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้กรุงเทพมหานครมีระบบการบริหารจัดการจราจรที่เป็นระบบและปลอดภัยมากขึ้น
ในส่วนของปัญหาด้านกายภาพส่วนใหญ่เกิดจากการก่อสร้างสาธารณูปโภค ซี่งส่งผลต่อพื้นผิวถนนทำให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรในพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหาคอขวด สิ่งก่อสร้างกีดขวางการจราจร สร้างปัญหาในการเดินทางของประชาชน แนวทางการแก้ไข 1.ประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีการก่อสร้างสาธารณูปโภค ในการกำกับและอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งตรวจสอบและวางแนวทางในการคืนผิวจราจรให้ประชาชนเร็วที่สุด พร้อมทั้งติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับการก่อสร้างและเส้นทางทดแทน 2.ขยายช่องจราจรหรือปรับปรุงพื้นผิวจราจรในบริเวณที่มีคอขวดเพื่อลดปัญหาวงเลี้ยวหรือทางแคบ
การปรับปรุงการบริหารจัดการและการควบคุมการจราจรในกรุงเทพมหานคร อาทิ จังหวะสัญญาณไฟจราจรที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณจราจร การขาดการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำไปใช้ร่วมกับระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย แนวทางการแก้ไข 1.ปรับรอบสัญญาณไฟจราจรให้มีความเหมาะสมในแต่ละจุด พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการจราจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว 2.การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการจราจร ITMS (Intelligent Traffic Management System) เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงจังหวะสัญญาณไฟตามสภาพจราจรและปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรแบบ Adaptive Signaling เพื่อปรับตัวจากระบบอัตโนมัติตามการจราจรในแต่ละช่วงเวลา
พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เชื่อมโยงข้อมูลขนส่งมวลชน
การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ยังไม่ครอบคลุมอย่างทั่วถึง การขาดการเชื่อมโยงข้อมูลเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งความสะดวกในการเข้าถึงระบบขนส่งและความเชื่อมต่อในการเดินทาง ทำให้ประชาชนต้องใช้หลายระบบเพื่อเดินทางถึงจุดหมาย แนวทางการแก้ไข 1.เพิ่มโครงข่ายรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่ที่ยังไม่ครอบคลุม หรือปรับเส้นทางการเดินรถประจำทางในพื้นที่ที่มีการขยายตัวของเมืองเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการเดินทาง 2.ส่งเสริมการเดินทางสู่จุดหมายปลายทางด้วยโครงการ First and Last Mile โดยปรับปรุงทางเท้า และสนับสนุนโครงการ Bike Sharing 3.ใช้เทคโนโลยีและแอปพลิเคชันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้รถ รวมถึงส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลรถสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากขึ้น 4.ปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสาร และป้ายรถประจำทาง เพื่อให้ผู้เดินทางมีข้อมูลรถประจำทางที่อัปเดตตลอดเวลา ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกการเดินทาง
แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5
การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จากแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2564-2566 ฝุ่น PM2.5 เริ่มสูงขึ้นบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ตั้งแต่เดือนธันวาคม โดยจะมีแนวโน้มเข้าสู่สถานการณ์วิกฤต มีปริมาณฝุ่นละอองสะสมเกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงเทพมหานครได้รับอิทธิพลจากสภาวะของอากาศที่นิ่งและปิดเอื้อต่อการสะสมของฝุ่นละออง ประกอบกับแหล่งกำเนิดที่ปล่อยฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การคมนาคมขนส่งทางถนน และการเผาในที่โล่ง จากการติดตามเฝ้าระวังปริมาณฝุ่น PM2.5 โดยสถานีตรวจวัด 70 สถานีของกรุงเทพมหานคร พบว่าสถานการณ์ฝุ่นละออง ปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เป็นต้นมา ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 19.8 – 91.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยกรุงเทพมหานครได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง
แก้ปมแท็กซี่-มัคคุเทศก์ผี
การแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ รถสามล้อ และมัคคุเทศก์ผี จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานเขตในพื้นที่ และข้อมูลการร้องเรียนของตำรวจท่องเที่ยว พบจุดที่มีแท็กซี่จอดเรียกผู้โดยสารอยู่ โดยจะมีย่านใหญ่ๆ ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ย่านข้าวสาร 19 จุด นอกจากนี้ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน (โทร.1584) กรมการขนส่งทางบก ได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการรถสาธารณะเกี่ยวกับการให้บริการที่ไม่เป็นธรรม อาทิ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ ขับรถประมาทน่าหวาดเสียว ไม่ส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ตกลงกัน โดยพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ 1.หน้าห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน แพลททินัมไอคอนสยาม มาบุญครอง เอสพลานาด และฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 2.บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง 3.บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสาร เช่น จตุจักร (หมอชิต) เอกมัย และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ถนนบรมราชชนนี (ตลิ่งชัน) 4.สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัดพระแก้ว สนามหลวง ย่านทองหล่อ อโศก และซอยนานา แนวทางการแก้ไขปัญหา กรุงเทพมหานคร ได้รับความร่วมมือจากตำรวจท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการลงพื้นที่จับกุมผู้กระทำความผิดในย่านท่องเที่ยวหลัก และประสานข้อมูลดำเนินการร่วมกัน
โดยหน่วยงานที่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการให้บริการรถสาธารณะ ส่งให้ขบ.ผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น Facebook, @1584dlt และ Appication DLTGPS ของขบ. เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเรียกผู้กระทำความผิดมาดำเนินการต่อไป จัดทำแผนปฏิบัติงานและส่งชุดตรวจการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่ได้รับการร้องเรียน โดยบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง นำมาตรการการตัดคะแนนความประพฤติของผู้ขับรถ และการพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถมาใช้อย่างเข้มข้น เพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้ขับรถ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายในภารกิจที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด
นำพื้นที่ราชการพัฒนาเป็นพื้นที่ทำมาหากินผู้มีรายได้น้อย
การนำพื้นที่ราชการมาพัฒนาเป็นพื้นที่ทำมาหากินของผู้มีรายได้น้อย หาบเร่แผงลอยเป็นแหล่งอาหารราคาประหยัด เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายคนกรุง ปัจจุบันมีผู้ค้า 20,012 ราย ในจุดผ่อนผัน 86 จุด 5,419 ราย จุดทบทวน 9 จุด 629 ราย นอกจุดผ่อนผัน 621 จุด 13,964 ราย มีพื้นที่ของหน่วยงานราชการหลายแห่งที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น Hawker center ลานกีฬา สวนสาธารณะ มีพื้นที่ของหน่วยงานราชการหลายแห่งที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น Hawker center ลานกีฬา สวนสาธารณะ กทม. ได้มีตัวอย่างความร่วมมือกับหลายหน่วยงานและได้ผลตอบรับไปในทิศทางที่เป็นบวก เช่น ร่วมมือกับ รฟม. บริเวณหน้าห้าง Union mall เพื่อจัดหาพื้นที่ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย
การป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากสถานการณ์ปัจจุบัน ประชากรไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ชาย 71,456 คน คิดเป็น 90.8% หญิง 7,256 คน คิดเป็น 9.2% เด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี 24,050 คน คิดเป็น 30.5% กรุงเทพมหานครมีประชากรที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 47,753 คน คิดเป็น 60.7% ของประเทศไทย แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ภายในรัศมี 200 เมตร จากสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องไม่มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า สื่อสารสาธารณะเพิ่มสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สร้างชุดความรู้สื่อประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน
ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนร่วมเผชิญปัญหา ท่ามกลางสถานการณ์ยากลำบาก
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมแถวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักเทศกิจ และสำนักอนามัย พร้อมทั้งปล่อยขบวนรถออกปฏิบัติการ บริเวณลานคนเมือง
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ว่า รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ในทุก ๆ ด้าน โดยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน ระดมความคิดและกำลังทุกหน่วยงานมาช่วยกันสร้างกรุงเทพมหานครให้ดีกว่าเดิมและดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยและชีวิตที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวทุกคน วันนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้พบกับทุกท่าน และรับทราบว่าทุกคนปฏิบัติหน้าที่ได้ดีแค่ไหน เพราะตลอดเวลาระยะเวลาที่ผ่านมาในยามที่กรุงเทพฯ ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลําบาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ โรคโควิด19 ฝุ่นพิษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาตรการช่วยเหลือกันอย่างทันท่วงที รวมทั้งได้พลังจากเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสุดความสามารถ เพื่อคลี่คลายสถานการณ์และบรรเทาความเดือดร้อนต่าง ๆ ให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างดี ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหัวใจที่เข้มแข็ง ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนากรุงเทพฯ ให้มีความเจริญก้าวหน้าตลอดมา