ขยับหมาก‘ฉากซูเปอร์ดีล’ ฝ่ายค้าน‘ชกไม่เต็มหมัด’
สัญญาณฝ่ายค้านใส่เกียร์ถอย! "ซักฟอกรัฐบาล" จับอาการ “ต่อยไม่สุดหมัด” เกมยาวขยับหมากเปิดฉาก "ซูเปอร์ดีล?"
KEY
POINTS
- “ขั้วรัฐบาล” ที่ยามนี้กำลังติดหล่มจากหลากหลายนโยบาย ท่ามกลางเสียงทวงถามที่ดังก้องจากทั่วทุกสารทิศ ย่อมกลายเป็นนาทีทองที่ “ฝ่ายค้าน” จะฉกฉวยโอกาสในการเปิดเวทีสภาฯ ขยี้แผลซ้ำ
- ในห้วงที่มีการจับตาไปที่การโชว์ฟอร์มฝ่ายค้าน กลับมีสัญญาณมาจาก “พรรคแกนนำ” ในทิศทางตรงกันข้าม
- การเลือกทิ้งจังหวะซักฟอก ทั้งที่มีโอกาสถึง 4 ครั้ง แน่นอนว่าย่อมไม่พ้นข้อครหาว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแบบ “ชกเต็มหมัด” หรือไม่
- การขยับหมากครั้งนี้ อาจนำไปสู่ “ฉากซูเปอร์ดีล” ในอนาคตหรือไม่? ต้องติดตาม
หากเปรียบกับสำนวนที่ว่า “ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน” ในทางการเมือง แน่นอนว่า หมายถึงการช่วงชิงจังหวะที่คู่ต่อสู้กำลังเพลี่ยงพล้ำในการปล่อยหมัดน็อกเสยปลายคาง
โดยเฉพาะ “ขั้วรัฐบาล” ที่ยามนี้กำลังติดหล่มจากหลากหลายนโยบาย ท่ามกลางเสียงทวงถามที่ดังก้องจากทั่วทุกสารทิศ ย่อมกลายเป็นนาทีทองที่ “ฝ่ายค้าน” จะฉกฉวยโอกาสในการเปิดเวทีสภาฯ ขยี้แผลซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา152 “แบบไม่ลงมติ” หรือการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หรือ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ตามมาตรา 151
ทั้งนี้ แม้ตามมาตรา 154 แห่งรัฐธรรมนูญ จะระบุว่า การอภิปรายทั้ง 2 กรณี สามารถกระทำได้ปีละ 1 ครั้ง แต่ตามภาษากฎหมายแล้ว คำว่า “ปีละ 1 ครั้ง” ไม่ได้หมายถึงปี พ.ศ. แต่หมายถึง “ปีสมัยประชุม” ซึ่ง 1 ปีประชุม จะมีการเปิดสภาฯ 2 ครั้ง
ฉะนั้น เมื่อสมัยประชุมปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (3 ก.ค.2566-30 ต.ค.2566) ฝ่ายค้านยังไม่ได้ยื่นอภิปรายแม้แต่ครั้งเดียว
ณ เวลานี้สภาฯ กำลังดำเนินอยู่ในช่วงสมัยประชุมปีที่ 1 ครั้งที่ 2 ซึ่งเวทีสภาฯ เปิดฉากโหมโรงมาตั้งแต่ 12 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดสมัยประชุมในวันที่ 9 เม.ย.2567 นี้ จึงมีการจับตาว่า “รัฐบาลเศรษฐา” อาจต้องฝ่าสมรภูมิซักฟอกถึง 4 ครั้ง
แต่จนถึงเวลานี้ รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 5 เดือน ในขณะที่ทั่วทุกสารทิศส่งสัญญาณทวงถามไปถึงหลากหลายนโยบายของรัฐบาล ที่ยังไร้ซึ่งแสงสว่างปลายทาง เสียงทวงถามไปถึง “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคแกนนำ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพี่ใหญ่ทางการเมือง ในการชิงจังหวะรุกฆาตรัฐบาล ย่อมมีเป็นเท่าทวีคูณเช่นกัน
โฟกัสไฮไลต์ประเด็นร้อน หนีไม่พ้นการพักโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” ท่ามกลางครหา “อภิสิทธิ์ชน” หรือประเด็น “สองมาตรฐาน” ที่ทิ้งไว้ซึ่งคำถามดังกระหึ่มอยู่ ณ เวลานี้ ไม่ต่างจากองค์กรอิสระ และ สว.ที่ “ลับดาบ” รอ หากมีการอภิปราย แล้วมีการยื่นหน่วยงานเหล่านั้นเพื่อลงดาบ
หรือแม้แต่ “เรือธงแดงเพื่อไทย” อย่าง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ที่เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ที่สุดทำท่าจะจบที่การยื่นตีความ
ทว่า ในห้วงที่มีการจับตาไปที่การโชว์ฟอร์มฝ่ายค้าน กลับมีสัญญาณมาจาก “พรรคแกนนำ” ในทิศทางตรงกันข้าม โดยเฉพาะท่าทีจาก “ประธานวิปฝ่ายค้าน” ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ดูเหมือนจะส่งสัญญาณใส่เกียร์ถอย อาจไม่ยื่น “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” และอาจรวมไปถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในสมัยประชุมนี้ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 9 เม.ย.
เหตุผลที่ “ประธานวิปฝ่ายค้าน” พยายามอธิบายคือ รัฐบาลเพิ่งมา ยังไม่ได้ใช้งบประมาณที่ตนเองเป็นคนจัดทำแม้แต่บาทเดียว ซึ่งปีงบประมาณ 2567 หรือปลายเดือน พ.ค.ก็จะมีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2568 คิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ชัดเจน ว่ารัฐบาลจัดสรรงบฯ ที่ตัวเองใช้อำนาจเต็ม อย่างไรบ้าง
แม้ประธานวิปฝ่ายค้านจะพยายามบอกว่า ไฮไลต์ประเด็นร้อนที่ถูกจับตา โดยเฉพาะประเด็นครหาอดีตนายกฯ ยังมีช่องทางในการยื่นกระทู้ถามในสภาฯ
แต่การเลือกทิ้งจังหวะซักฟอก ทั้งที่มีโอกาสถึง 4 ครั้ง แน่นอนว่าย่อมไม่พ้นข้อครหาว่าฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแบบ “ชกเต็มหมัด” หรือไม่ อย่างไร
เช็กสัญญาณพรรคร่วมฝ่ายค้านเวลานี้ ไล่ตั้งแต่ “พรรคก้าวไกล” อาการ “ต่อยไม่สุดหมัด” ที่เกิดขึ้น ลึกๆ แล้วอาจมาจากหลายเหตุผล ทั้งการเล่นบทซื้อใจ หวังในทอดไมตรีพลพรรคเพื่อไทย รวมถึง “นายใหญ่” ในอนาคต
ไม่ว่าจะเป็นการเดินหมากสภาฯ ดันกฎหมายสำคัญ ทั้ง “กฎหมายนิรโทษกรรม” โดยเฉพาะการนิรโทษในคดี ม.112 ซึ่งล่าสุดมีสัญญาณจาก “ชัยธวัช ตุลาธน” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน พูดถึงประเด็นที่ปล่อยให้เป็นเรื่องของ กมธ.ศึกษา
“ชัยธวัช” ยังยอมรับว่า “ในกรรมาธิการมีการถกเถียงกันว่า หากรวม ม.112 ไปแล้ว อาจเป็นอุปสรรคว่า ทำนิรโทษกรรมไม่ได้เลย แต่ถ้าไม่รวม อาจไม่ตอบโจทย์การหยุดความขัดแย้งในปัจจุบัน”
จังหวะดังกล่าว ถูกตีความว่าเป็นการยืมมือเพื่อไทยซึ่งคุมเกมใน กมธ. ส่งสัญญาณลดเพดาน โดยอ้างเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญประทับตราการกระทำของพรรคก้าวไกล ว่าไม่สามารถทำได้ ไม่ต่างจากแก้ หรือจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ใช้เหตุผลเดียวกัน
ยิ่งไปกว่านั้น อาการ “ต่อยไม่สุดหมัด” ได้ก่อให้เกิดคำถาม พร้อมถูกจับตาไปยังการเล่นบทซื้อใจ หวังลากเกมยาวไปถึงฉากทัศน์ในการพลิกสูตรจับขั้วในอนาคตหรือไม่ อย่างไร
ไม่ต่างจาก “ค่ายพระแม่ธรณี” ซึ่งถูกจับตาการคืนฟอร์มฝ่ายค้าน ในฐานะพี่ใหญ่ในทางการเมือง และเป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับ “ระบอบทักษิณ” มาอย่างยาวนาน
ท่าทีล่าสุด โดยเฉพาะฝ่ายที่ถือเสียงข้างมากในพรรคสีฟ้า แทบไม่แตะต้อง “นายใหญ่เพื่อไทย” แต่โยนไปที่ “เศรษฐา ทวีสิน” หรือบางกระทรวงแทน
โดยเฉพาะ “ชัยชนะ เดชเดโช” รองหัวหน้าพรรค ปชป.ในฐานะคีย์แมนคนสำคัญ ที่มองว่า การได้อภิสิทธิ์ของ “ทักษิณ” เจ้าตัวไม่ได้ผิด แต่คนที่ทำให้เกิดกระบวนการนี้ทั้งหมด
ไม่ต่างจากประเด็นซักฟอก ซึ่ง “ชัยชนะ” มองว่าเรื่องของทักษิณที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่ปัญหาการทำงานของรัฐบาล ปัญหาของรัฐบาลมีหลายอย่าง อาทิ เงินดิจิทัลวอลเล็ต หรือประเด็นค่าแรง 400 ที่โยนเผือกร้อนไปที่นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” แทน
จับจังหวะของค่ายแม่พระธรณียามนี้ แม้จะย้ำเสียงแข็ง เพื่อโชว์บทบาทฝ่ายค้านมืออาชีพในสภาฯ แต่แทบทุกครั้งที่มีการถามถึงโอกาสพลิกขั้วจากฝ่ายค้านไปเป็นรัฐบาล แกนนำรวมถึงสมาชิกฝั่งเสียงข้างมาก ก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปล่อยให้เป็นเรื่องอนาคต
โดยเฉพาะ “เสี่ยแทน" ชัยชนะ ที่พักหลังดูเหมือนจะถูกวางบทในฐานะคีย์แมนคนสำคัญ เจ้าตัวเพิ่งพูดไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า พรรคเพื่อไทย และ “พรรค 2 ลุง” สู้กันมาทั้งชีวิต รัฐประหารกันมา พอวันหนึ่งยังจับมือกันได้ ฉะนั้น จึงแตกต่างจากประชาธิปัตย์แน่นอน หรือแม้แต่กลุ่ม กปปส.ที่สู้กันมา ถึงเวลายังร่วมรัฐบาลกันได้ คิดว่าเรื่องปัจเจกการเมือง คือการเจรจา ถ้ามีกรอบ เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง
จังหวะก้าวย่างฝ่ายค้าน จึงต้องจับตาอาการยั้งมือ “ต่อยไม่สุดหมัด” ที่เกิดขึ้นเวลานี้ มองแบบโลกสวย อาจเป็นเพราะโหวตเตอร์ยุคนี้ไม่ได้อินกับคำว่า “ระบอบทักษิณ” มากนัก ฝ่ายค้านอาจปล่อยให้สังคมขับเคลื่อนประเด็น ขณะที่ฝ่ายตนเองก็รอเก็บเกี่ยวประโยชน์จาก “ราคา” ที่พรรคเพื่อไทยต้องจ่าย โดยไม่ต้องเปลืองแรง
ตรงกันข้าม หากมองอีกมุม ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยับหมากครั้งนี้ อาจนำไปสู่ “ฉากซูเปอร์ดีล” ในอนาคตหรือไม่ อย่างไร ต้องติดตาม!