กสม.ชี้โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน แนะหน่วยงานรัฐแก้ไข

กสม.ชี้โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน แนะหน่วยงานรัฐแก้ไข

กสม. ชี้โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี ละเมิดสิทธิชุมชน กระทบวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน-ระบบนิเวศทางทะเล แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไข

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ระบุว่า อ่าวปัตตานีซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอในจังหวัดปัตตานี ได้แก่ อำเภอเมืองปัตตานีและอำเภอยะหริ่ง เดิมมีความอุดมสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะสัตว์ทะเล ประชาชนรอบอ่าวจึงมีวิถีชีวิตผูกพันกับอ่าวปัตตานีโดยประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน ต่อมาในปี 2562 หน่วยงานของรัฐโดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า (ผู้ถูกร้องที่ 1) เห็นว่า อ่าวปัตตานีตื้นเขิน จึงได้ดำเนินโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี โดยจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแต่เป็นเพียงการให้ประชาชนยกมือแสดงความเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และไม่ได้แจ้งข้อมูลโครงการและผลกระทบของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบอย่างเพียงพอ ต่อมาเมื่อหน่วยงานของรัฐเข้าขุดลอกร่องน้ำในอ่าว ก็ไม่ได้นำทรายไปทิ้งที่อื่น ทำให้เกิดเป็นสันดอนทรายซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อวิถีการเดินเรือของชาวประมงพื้นบ้านแล้ว ยังทำให้หน้าดินใต้ท้องทะเลได้รับความเสียหายเกิดเป็นตะกอนน้ำขุ่น รบกวนระบบนิเวศทางทะเลและทำให้ปริมาณสัตว์ทะเลลดน้อยลงจนส่งผลโดยตรงต่อชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งนี้ แม้ในภายหลังจังหวัดปัตตานี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ได้แก้ไขปัญหาสันดอนทรายโดยการขุดและดูดทรายออกแล้ว แต่ชาวประมงพื้นบ้านยังคงได้รับผลกระทบ จึงขอให้ตรวจสอบ

นายวสันต์ กล่าวว่า กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วม การจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ได้กำหนดให้รัฐภาคีรับรองสิทธิของทุกคนในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสำหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ และสภาพการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่ 1 สิทธิในการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชน ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการจัดประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนรอบอ่าวปัตตานีได้รับทราบข้อมูล ก่อนดำเนินโครงการได้จัดประชุมชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และได้ขอให้ประชาชนลงมติโดยการยกมือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการ โดยประชาชนไม่รับทราบข้อมูลผลกระทบด้านลบทั้งด้านทรัพยากรทางทะเลและการประกอบอาชีพของชุมชน หรือมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ กระบวนการและขั้นตอนการมีส่วนร่วมของบุคคลและชุมชนในการดำเนินโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานี จึงไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงมีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ 2 การกำกับดูแลการดำเนินโครงการ เห็นว่า สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า ผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่และอำนาจในการดูแล รักษาและขุดลอกร่องน้ำ ทางเรือเดิน แม่น้ำลำคลอง ทะเลสาบและทะเลภายในน่านน้ำไทย โดยโครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีไม่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หรือ EIA เนื่องจากไม่ได้อยู่ในประเภทโครงการที่ต้องจัดทำ EIA ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแม้ว่าจะมีการศึกษาและจัดทำรายงานศึกษาและวางแผนการทิ้งวัสดุขุดลอก รวมทั้งการศึกษาในด้านอื่น ๆ แล้ว แต่ยังขาดการวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน เช่น มิติด้านสังคมและวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนรอบอ่าว นอกจากนี้ แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้ทรายและวัสดุไหลกลับ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังการขุดลอกอ่าวปัตตานีแล้วเกิดสันดอนทราย และอ่าวปัตตานียังคงตื้นเขิน ขณะที่การแก้ไขปัญหาของจังหวัดปัตตานี ผู้ถูกร้องที่ 2 โดยการขุดและดูดทรายออกจากสันดอนทราย ก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพอย่างเพียงพอ ทั้งยังเป็นไปอย่างล่าช้า จึงเห็นว่ามาตรการในการกำกับดูแลของผู้ถูกร้องทั้งสองไม่อาจป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง อีกทั้งยังเป็นการทำลายระบบนิเวศและส่งผลกระทบต่อชุมชน จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

ประเด็นที่ 3 ผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศ จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ่าวปัตตานีเป็นระบบนิเวศทะเลซึ่งกระแสน้ำและลมจะพัดพาตะกอนและทรายกลับเข้ามาทับถมและถ่ายออกไปจากอ่าวตามธรรมชาติ โครงการขุดลอกอ่าวปัตตานีของผู้ถูกร้องที่ 1 นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความตื้นเขินของอ่าวได้ ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ โดยการขุดลอกทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนดินและทรายเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ทะเล ขณะที่สันดอนทรายซึ่งเกิดจากการขุดลอกอ่าวยังทำให้ระบบการหมุนเวียนของทรายในอ่าวเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศมากเกินสมควร นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยในระหว่างที่มีการขุดลอกอ่าว เมื่อน้ำทะเลลดลงต่ำสุด ชาวบ้านไม่สามารถแล่นเรือและใช้เครื่องมือประมงบางประเภทในการประกอบอาชีพได้ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวบางส่วนต้องสูญเสียอาชีพและไม่ได้รับการเยียวยาที่เป็นรูปธรรม จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังผู้ถูกร้องทั้งสอง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 กรมเจ้าท่า และจังหวัดปัตตานี ให้งดเว้นการดำเนินโครงการที่จะมีผลกระทบรบกวนระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในอ่าวปัตตานีเป็นระยะเวลา 3 - 5 ปี เพื่อให้ระบบนิเวศได้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ จากนั้นให้สำรวจ ศึกษาปัญหา ผลกระทบ การฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอ่าวปัตตานี โดยให้มีมาตรการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการมีส่วนร่วมของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อกำหนดแผนหรือแนวทางในการแก้ไขปัญหา และให้จังหวัดปัตตานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ฟื้นฟูและส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชนรอบอ่าวปัตตานี โดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตและประกอบอาชีพคู่กับอ่าวปัตตานีได้อย่างยั่งยืน 

นายวสันต์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปยังจังหวัดปัตตานี ให้นำแผนหรือแนวทางการสำรวจและศึกษาปัญหาและผลกระทบ การฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอ่าวปัตตานี บรรจุเข้าไว้ในแผนบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแก้ไขประกาศกระทรวงฯ เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดประเภทโครงการหรือกิจการที่เกี่ยวกับการขุดลอก โดยให้ศึกษาเงื่อนไขของขนาดพื้นที่ในการขุดลอกที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ไว้ในประกาศ รวมทั้ง ให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ศึกษาและถอดบทเรียนเรื่องการขุดลอกในพื้นที่ระบบนิเวศแบบทะเลโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วย