เวทีเสวนา กสม.พอใจกฎหมายป้องอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน หลังบังคับใช้ครบ 1 ปี
เวทีเสวนา กสม.พอใจกฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน หลังมีผลบังคับใช้ครบ 1 ปี แนะสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม เข้าเป็นภาคี OPCAT ลุยหารือ ตร.ยกระดับต้นธารกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ร่วมพัฒนาโรงพักต้นแบบ
เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2567 ที่สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่ายและองค์กรภาคประชาสังคม ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมป้องกันการทรมาน (Association for the Prevention of Torture: APT) และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จัดเสวนาวิชาการในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือกฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ในเวทีดังกล่าว ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอได้ชี้แจงถึงการเตรียมความพร้อมและการดำเนินการเพื่อบังคับใช้กฎหมาย ทั้งด้านบุคลากร การออกกฎหมายลำดับรอง รวมถึงระเบียบที่จำเป็น การจัดหาอุปกรณ์และระบบ กลไกในการทำงาน
โดยเฉพาะกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่สำหรับบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุมและสอบสวน ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดซื้อเพิ่มอีก 40,000 ตัว โดยจะมีการส่งมอบในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ เช่นเดียวกับทางดีเอสไอ และกรมการปกครองที่ได้จัดหากล้องให้เจ้าหน้าที่เช่นกัน นอกจากนี้กรมการปกครองยังได้เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุ 878 อำเภอทั่วประเทศ ขณะที่สำนักงานอัยการสูงสุดก็ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่รับแจ้งเรื่องร้องเรียนครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง
พัฒนาการที่สำคัญประการหนึ่งจากกฎหมายฉบับนี้ คือ หากประชาชนผู้ใดพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดฐานทรมาน หรือบังคับให้สูญหาย สามารถแจ้งเหตุได้กับทั้งตำรวจ อัยการ ฝ่ายปกครอง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งทำให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าถึงความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น
การบังคับใช้กฎหมายในรอบปีที่ผ่านมา แม้มีอุปสรรคหรือข้อขัดข้องอยู่บ้าง แต่ก็มีความพยายามแก้ปัญหา และยกระดับการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด อย่างคดี “ลุงเปี๊ยก” ที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษก็จะขอให้ทางฝ่ายปกครองและอัยการเข้ามาร่วมสอบสวนด้วย ซึ่งขณะนี้ต้องถือว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมในการบังคับใช้และปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการทรมานฯ มากขึ้น แต่การร้องเรียนยังมีค่อนข้างน้อย มีคดีที่ดำเนินการอยู่ไม่กี่คดี
สำหรับการเสวนาในประเด็นข้อท้าทายและความคาดหวังต่อผู้บังคับใช้กฎหมาย ผู้ร่วมเสวนาเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนทุกคน ถือเป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมของไทยในหลายมิติ และไปไกลกว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งนอกจากจะยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนจากการถูกกระทำทรมานและบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังจะช่วยคุ้มครองและเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต เมื่อถูกกล่าวหาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจค้น จับกุม และสอบสวนในคดีอาญาด้วย
ผู้ร่วมเสวนาพอใจที่มีกฎหมายฉบับนี้ออกมา และค่อนข้างพอใจกับการบังคับใช้กฎหมายในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยพบว่า การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องเหล่านี้ลดน้อยลง เจ้าหน้าที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น ขณะที่นางสาวนริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ ผู้เสียหายจากกรณีพลทหารวิเชียร เผือกสม ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหาร และเสียชีวิตในเวลาต่อมาเมื่อปี 2554 ได้สะท้อนประสบการณ์การเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ตายซึ่งเป็นน้าชาย ว่า เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากถูกสกัดกั้นการเข้าถึงความยุติธรรม เจออิทธิพลของผู้มีอำนาจและความล่าช้าในการดำเนินคดี เป็นเหตุให้ต้องใช้เวลายาวนานถึง 12 ปี กว่าคดีจะถึงที่สุดและได้รับการเยียวยา เชื่อว่ากฎหมายป้องกันการทรมานฯ จะช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับเหยื่อที่ถูกกระทำทรมานและบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษที่เหมาะสมตามฐานความผิดที่กระทำ และย่นระยะเวลาในการดำเนินคดีได้ โดยหวังว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมีความระมัดระวังในการใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนผู้พบเห็นเหตุการณ์ในการร่วมกันเฝ้าระวังและแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำทรมานหรือบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย
นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ช่วงท้ายของการเสวนามีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นก้าวต่อไปกับการป้องกันการทรมาน โดยมีข้อเสนอแนะให้ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ สร้างความตระหนักเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงขยายความร่วมมือให้กว้างขวาง ให้รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงศึกษาธิการ สื่อมวลชน บทบาทเยาวชน และสภาทนายความ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้รัฐบาลไทยเร่งเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention Against Torture: OPCAT) ที่กำหนดให้มีกลไกป้องกันระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) ทำหน้าที่ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง และจัดทำข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการป้องกันมิให้มีการทรมานเกิดขึ้น
“ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 แม้จะพบปัญหาและข้อท้าทายในเชิงปฏิบัติที่จำเป็นต้องถอดบทเรียน แต่เป็นที่น่ายินดีที่หน่วยงานต่าง ๆ มีความตื่นตัวและความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น ทั้งนี้ กสม. ขอสนับสนุนให้รัฐบาลเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสาร OPCAT ตามที่เคยให้คำมั่นต่อนานาชาติ โดย กสม. ได้เตรียมการและเตรียมความพร้อมในการเป็นกลไกป้องกันการทรมาน (NPM) ที่เป็นกลางและเป็นอิสระ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นด้วยแล้ว” นายวสันต์ กล่าว
ขณะที่ นายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. เปิดเผยว่า กสม. ได้กำหนดเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธารเป็นประเด็นสำคัญของงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2567 เนื่องจากการเข้าถึงความยุติธรรมเป็นประเด็นที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากประชาชน ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กสม. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากรเพื่อให้ประชาชนที่พ้นโทษพ้นผิดได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข และการจัดตั้งคณะทำงานตรวจสอบและเร่งรัดการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกอายัดเพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีที่ล่าช้าด้วย
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention Against Torture: OPCAT) ซึ่งมีเนื้อหาหลักในการพัฒนาระบบการตรวจเยี่ยมสถานที่ลิดรอนเสรีภาพ (deprivation of liberty) ที่เข้าข่ายการเป็นสถานที่ควบคุมตัว ภายใต้การดำเนินงานหรือการกำกับของรัฐ เช่น สถานีตำรวจ โรงพัก ห้องขัง เรือนจำ สถานที่ควบคุมตัวของทหาร พื้นที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้หนีภัยจากความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน สถาบันจิตเวช และสถานที่ดูแลกลุ่มเปราะบางหรือผู้ด้อยโอกาส และการจัดตั้งกลไกป้องกันการทรมานระดับชาติ (National Preventive Mechanism: NPM) เพื่อรองรับการตรวจเยี่ยมของคณะอนุกรรมการป้องกันการทรมานแห่งสหประชาชาติ (SPT) เพื่อนำเสนอข้อค้นพบ หรือข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลและหน่วยรับการตรวจเยี่ยม นั้น กสม. เห็นความสำคัญในการประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับ ตร. เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างและระบบการทำงานในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นธารตั้งแต่ขั้นตอนการรับแจ้งความ การจับกุม การคุมขัง การออกหมายอาญา การทำแผนประกอบคำรับสารภาพ และการเร่งรัดดำเนินคดี
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงาน กสม. ได้เข้าพบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ต. ชัช สุกแก้วณรงค์ รองผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี (กมค.) และ พล.ต.ต. วิทยา เย็นจิตต์ ผู้บังคับการกองคดีอาญา ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยที่ประชุมได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานสำคัญหลังจากที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 และการเตรียมความพร้อมการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (OPCAT) โดย ตร. เห็นพ้องกับสำนักงาน กสม. ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อจัดทำแผนพัฒนาสถานีตำรวจที่เน้นการสร้างมาตรฐานทั้งทางกายภาพและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อผู้ต้องหา หรือผู้ถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจ และเลือกสำรวจพื้นที่สถานีตำรวจจากทั้งหมด 1,484 แห่งทั่วประเทศ เพื่อค้นหา พัฒนา และยกระดับเป็น “โรงพักต้นแบบ” ตามมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ปราศจากการกระทำทรมานต่อไป