ชันสูตรพลิกซาก ‘เรือหลวงสุโขทัย’ ปริศนาตัวเรือ ‘ฉีก-ทะลุ’
คงต้องจับตา เรือหลวงสุโขทัย เรือรบขนาดใหญ่อับปาง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย สุดท้ายแล้วปัญหาเกิดจากสาเหตุใด ทั้งการแทรกแซงการทำหน้าที่ของ"ผู้การเรือ" ปัญหาการซ่อมบำรุง หรือสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน
KEY
POINTS
ทีมนักประดาน้ำไทย-สหรัฐฯ เริ่มปฏิบัติการสำรวจเรือหลวงสุโขทัย เข้าสู่วันที่ 8 แล้วแต่ยังไม่พบร่างกำลังพล 5 นายที่สูญหา
ข้อมูล-วัตถุพยาน เปลี่ยนสภาพไปตามกาลเวลาถยอยขึ้นมาจากน้ำเพื่อนำไปเป็นข้อมูลในการสอบสวน
หากเช็คตามไทม์ไลน์ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ระบุไว้ในปฏิบัติการค้นหา และปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยบนเรือ Ocean Valor ของสหรัฐอเมริกา พื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ปัจจุบันเข้าสู่วันที่ 8 แต่ยังไม่พบร่างกำลังพลสูญหายทั้ง 5 นาย ตลอดทั้ง8 วัน ทีมประดาน้ำผสมไทย-สหรัฐฯ เริ่มทยอยนำสิ่งของขึ้นมาจากน้ำควบคู่กับการสำรวจถ่ายภาพสภาพเรือตลอดทั้งลำ
ป้ายชื่อเรือหลวงสุโขทัย เป็นของชิ้นแรกที่นำขึ้นจากน้ำ ตามมาด้วย พระพุทธรูป เอกสาร อาวุธปืนเอ็ม16 การปลดวัตถุอันตรายระบบอาวุธปล่อยนำวิถี Harpoon ระบบตอร์ปิโด
เบื้องต้นสภาพตัวเรือพบรอยฉีกหน้าโครงกันคลื่น (Wave breaker) รอยทะลุบริเวณหัวเรือ(จุดสงสัยน้ำเข้าเรือก่อนอับปาง)รอยทะลุข้างตัวเรือกราบซ้าย รอยฉีกขาดโครงกันคลื่นบริเวณหน้าป้อมปืน รอยฉีกบนเพดานใต้โครงกันคลื่น
แหล่งข่าวกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ปกติตัวเรือ ทำด้วยเหล็กที่ได้มาตรฐาน ก่อนเรือออกจากท่า และแล่นไปในทะเลมีโอกาสเจอวัตถุ หรือ ขยะขนาดใหญ่ที่อยู่ในทะเลซึ่งมีจำนวนมาก กรณีเจอคลื่นลมแรงระดับ 5 แบบเรือหลวงสุโขทัย และเรือมีอายุ 36 ปีแล้ว โอกาส ร้าว แตก ปริ เป็นไปได้
“เรือไปโดนอะไรถึงมีรอยฉีก ทะลุ จากประสบการณ์คนทำงานบนเรือ เป็นคำถามที่ตอบยาก ไปโดนบริเวณใด ไม่มีใครรู้ มารู้อีกทีเรือเริ่มเอียง บางครั้งไม่รู้ตัวเนื่องจากสภาพคลื่นลมกระแทกเข้ามา แยกไม่ออกว่าที่โดนกระแทกเป็นคลื่นลม หรือวัตถุในทะลที่ลอยมาตามกระแสคลื่น”
แหล่งข่าวคนเดิม กล่าวต่อว่า ปกติแล้วก่อนนำเรือออกไปปฏิบัติภารกิจ ผู้การเรือ ต้องทำหน้าที่ตรวจสภาพเรือทุกจุดว่าพร้อมออกไปปฏิบัติงานหรือไม่ กรณีข้อสงสัยที่ว่าไม่ได้รับการดูแลรักษา หรือ ซ่อมบำรุงตามวงรอบ เหตุงบประมาณถูกตัดนั้น ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะหากเรือไม่สมบูรณ์ ชำรุด โดยเซนส์ผู้การเรือจะไม่นำเรือออกปฏิบัติภารกิจ
อีกทั้งเส้นทางเดินเรือของเรือหลวงสุโขทัยเป็นปากอ่าว ขาไปเรือวิ่งตามกระแสคลื่นลม แต่ไปหนักช่วงใกล้ จ.ชุมพร ผู้การเรือ จึงขอกลับเข้าท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์แต่มีปัญหาทางธุรการ จะเข้าหรือไม่เข้า ก่อนที่ผู้การเรือ ตัดสินใจกลับสัตหีบ ตรงนี้จะหนักเพราะเรือสวนคลื่นสวนลม ขณะที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์
ส่วนโอกาสที่เรือชำรุดเพราะแรงกระแทกคลื่นนั้น ไม่ควรจะเกิดจากสาเหตุนี้ เพราะเรือเข้าซ่อมตามวงรอบอยู่แล้ว สามารถตรวจเช็คตารางซ่อมบำรุงซึ่งมีบันทึกไว้หมด อีกทั้งเป็นเรือเหล็กแม้จะผ่านการใช้มานาน ก็ไม่ควรเกิดจากสาเหตุแรงกระแทกของคลื่นลม
เช่น เรือหลวงกูด ปัจจุบันปลดระวางไปแล้ว เคยเจอคลื่นกระแทกเข้าใส่ในช่วงฝึกหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ มนุษย์กบ ตอนนั้นสาหัสมาก ประตู Ram ขาด (ที่ขึ้นลงเรือ ซึ่งสวิงขึ้นลงได้ หรือบันไดที่จัดไว้สำหรับขึ้นลงจากเรือ) แต่ก็ยังอยู่รอดได้ ก็อุด ปะ ซ่อมแซม แก้ไขปัญหากันไปตามขั้นตอน แต่ในกรณีเรือหลวงสุโขทัย ถือว่าสาหัสพอสมควร ต้องรอดูผลสอบสวน
สำหรับหลักการตรวจสอบสาเหตุนิติวิทยาศาสตร์ เหมือนชันสูตรพลิกศพ ก็จะต้องรวบรวมหลักฐานที่มีอยู่ทั้งหมด ระดมผู้เชี่ยวชาญ ร่องรอยเรือที่ฉีก ปริ เป็นรู เกิดจากอะไรได้บ้าง แต่ต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ดังกล่าวผ่านมาแล้ว 1 ปี 2 เดือน เรือแช่อยู่ในน้ำ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของสหรัฐฯ หน่วยงานไทย ร่วมกันประเมิน วิเคราะห์ รอยฉีก รอยเป็นรู เรือหลวงสุโขทัย ว่าเกิดจากปัจจัยอะไร มาประกอบกับคำให้การของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ขั้นตอนที่ผู้การเรือสั่งให้ปิดประตูหัวเรือกันน้ำ ก็ต้องไปดูว่าตรงกันหรือไม่
สอดคล้องกับ ผบ.ทร.พล.ร.อ.อะดุง เชื่อมั่นว่า รอยฉีก เป็นรูหลายจุดบนเรือหลวงสุโขทัย ไม่ได้เกิดจากปัญหาการดูแลและการซ่อมบำรุงรักษาแน่นอน และก่อนเรือจม มีคำสั่งให้ปิดประตูเรือตามขั้นตอน สอดคล้องกับคำให้การของผู้การเรือ
พร้อมทั้งยืนยันว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจนี้ กองทัพเรือเตรียมจัดแถลงข่าว เพื่อตอบคำถามสังคม และญาติผู้เสียชีวิต กำลังพลทุกคนให้กระจ่างถึงสาเหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง
สำหรับงบกู้เรือหลวงสุโขทัย จำนวน 200 ล้าน อนุมัติสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงเตรียมการเลือกตั้ง 2566 ทำให้รัฐบาลสามารถอนุมัติงบประมาณได้เพียง 90 ล้านบาทโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนอีก 110 ล้านบาทเป็นของกองทัพเรือเอง
โดยปัจจุบันเปลี่ยนจากการกู้เรือมาเป็นค้นหาและทำลายวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัย แทนยกมาทั้งลำ โดยกองทัพเรือ เตรียมคืนงบ 90 ล้านให้กับรัฐบาล ส่วน 110 ล้านใช้ปฏิบัติการครั้งนี้
คงต้องจับตา เรือรบขนาดใหญ่อับปาง อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย สุดท้ายแล้วปัญหาเกิดจากสาเหตุใด ตั้งแต่สายการบังคับบัญชาเบื้องบน ถูกข้อครหาแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้การเรือ จนนำไปสู่การตัดสินใจล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ การซ่อมบำรุงรักษาตัวเรือถูกตั้งตามวงรอบหรือไม่ รวมถึงการฝึกซ้อมกำลังพลให้รับมือกับสถานการณ์ การละเลยหลักปฏิบัติเรื่องจำนวนผู้โดยสารบนเรือที่มีจำนวนมากกว่าเสื้อชูชีพเรือ
หรือสุดท้ายแล้ว “เรือหลวงสุโขทัยอับปาง” จะเกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน