'ก้าวไกล' ยื่นร่างแก้ รธน.เข้าสภาฯ เน้นเลือกตั้ง สสร. มาร่างใหม่แบบ 100%
'ก้าวไกล' ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาฯ เน้น 'เลือกตั้ง สสร. 100%' เร่งเดินหน้าจัดทำ รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดยทำประชามติแค่ 2 ครั้ง หวังประธานสภาฯ บรรจุทุกร่างเข้าวาระการประชุม เพื่อให้กระบวนการเกิดขึ้นโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยกล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีได้เคยประกาศในคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า วาระเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล แต่ผ่านมากว่า 6 เดือน ประชาชนยังไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าประเทศจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และภายในเมื่อใด
นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในขณะที่คณะกรรมการศึกษาฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา นำโดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลสรุปไปเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ว่าได้เสนอให้รัฐบาลเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการทำ “ประชามติ 3 ครั้ง” ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากการให้ ครม.มีมติให้จัดทำประชามติครั้งที่ 1 ก่อน แต่ สส.พรรคเพื่อไทย นำโดยชูศักดิ์ ศิรินิล ได้เลือกเส้นทางในการพยายามเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยการทำ “ประชามติ 2 ครั้ง” ซึ่งเริ่มต้นจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี สสร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อเดือนมกราคม 2567
นายพริษฐ์ กล่าวอีกว่า แม้พรรคก้าวไกลเราเข้าใจถึงเหตุผลในเชิงการเมืองที่ทำให้หลายฝ่ายมองถึงความจำเป็นในการจัดประชามติ 3 ครั้ง แต่เรายืนยันว่าตลอดว่าหากยึดตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การจัดประชามติเพียง 2 ครั้ง เพียงพอแล้วในเชิงกฎหมาย ดังนั้น ในวันนี้ที่พรรครัฐบาลพร้อมจะเดินหน้าตามสูตร “ประชามติ 2 ครั้ง” พรรคก้าวไกลจึงตัดสินใจยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ฉบับก้าวไกล ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในกระบวนการดังกล่าว
โดยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ฉบับก้าวไกลเป็นการเพิ่มหมวด 15/1 (การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) และแก้ไขมาตรา 256 (การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1) จัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบไปด้วยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- 100 คนแบบแบ่งเขต ใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้สมัครเป็นรายบุคคล ประชาชนสามารถเลือกผู้สมัครได้ 1 คน และผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้รับเลือก
- 100 คนแบบบัญชีรายชื่อ ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง โดยให้สมัครเป็นทีม ประชาชนเลือกทีมผู้สมัครได้ 1 ทีม และแต่ละทีมได้จำนวน สสร. ตามสัดส่วนคะแนนที่ได้รับ
ทั้งนี้ ระบบเลือกตั้งที่มี สสร. ทั้ง 2 ประเภทจะทำให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีทั้งตัวแทนเชิงพื้นที่ และตัวแทนเชิงประเด็น-กลุ่มอาชีพ-กลุ่มสังคม
2) กำหนดให้ สสร. มีอำนาจในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ตราบใดที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ตามที่บัญญัติไว้แล้วในรัฐธรรมนูญมาตรา 255
3) กำหนดให้ สสร. มีกรอบเวลาไม่เกิน 360 วันในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้ สสร. มีเวลาเพียงพอในการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านและทำงานอย่างรอบคอบ ในขณะที่ไม่ทำให้กระบวนการมีความยืดเยื้อจนทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างล่าช้าจนเกินไป
4) กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้สมัคร สสร. ไว้ที่ 18 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากลว่าอายุขั้นต่ำสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ก็ตาม มักยึดตามอายุขั้นต่ำในการมีสิทธิเลือกตั้ง
5) กำหนดให้ สสร. มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ประกอบไปด้วย สสร. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการ เพื่อให้ กมธ. มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นเสียงส่วนใหญ่ ขณะที่ยังเปิดพื้นที่ให้กับคนนอกที่ สสร. คัดเลือกและอนุมัติ เพื่อให้ กมธ. มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ที่อาจไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยตรง
6) กำหนดให้มีการจัดทำประชามติหลังจากที่ สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ เพื่อสอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564
7) กำหนดให้ สสร. มีอำนาจจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) และส่งให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ หากรัฐสภาไม่เห็นชอบ พ.ร.ป. ฉบับใดของ สสร. รัฐสภาก็จะมีอำนาจในการรับไปทำต่อเอง ทั้งนี้ เพื่อประหยัดเวลาและป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
8) กำหนดให้ สสร. สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อได้ โดยไม่ถูกกระทบจากการยุบสภาฯ หรือจากการที่สภาฯ หมดวาระ เพื่อความต่อเนื่องของ สสร. และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
9) กำหนดให้ สสร. ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น สส. สว. รัฐมนตรี ผู้บริหาร-สมาชิกสภาท้องถิ่น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ภายใน 5 ปีแรก เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
10) ปรับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (มาตรา 256) โดยกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้ หาก
- ได้รับความเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งประกอบไปด้วย สส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และ
- ได้รับความเห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
- เฉพาะในกรณีที่เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านประชามติด้วย
นายพริษฐ์ กล่าวด้วยว่า พรรคก้าวไกลทราบว่าทางประธานรัฐสภาได้ตัดสินใจไม่บรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ที่ถูกเสนอโดย สส. พรรคเพื่อไทยเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา โดยให้เหตุผลว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 กำหนดให้ต้องมีการจัดทำประชามติก่อนเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภา ในมุมมองของพรรคก้าวไกล การกระทำดังกล่าวของประธานรัฐสภาเป็นการตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญและการตัดสินใจที่เราไม่เห็นด้วย โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนการตัดสินใจดังกล่าว และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ของทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากการเสนอร่างทั้ง 2 ร่างดังกล่าวเข้าสู่รัฐสภาไม่ได้เป็นขั้นตอนหรือมีเนื้อหาสาระส่วนใดที่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งเพียงกำหนดไว้ว่าให้มีประชามติ 1 ครั้งก่อนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประชามติอีก 1 ครั้งหลังมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“ภารกิจในการฟื้นฟูประชาธิปไตยไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ หากไม่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยเราหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ฉบับก้าวไกลที่เรายื่นเข้าสู่รัฐสภาในวันนี้ จะเป็นหมุดหมายสำคัญในการเดินหน้าไปสู่เป้าหมายดังกล่าว” นายพริษฐ์ กล่าว