'โรม' เปิด 5 ปมแฉนักการเมืองทำธุรกิจผิด กม.จี้ ป.ป.ช.สอบทรัพย์สิน 'อุปกิต'
‘โรม’ แถลงกว่า 1 ชม. เปิดโปงนักการเมืองทำธุรกิจผิดกฎหมาย-อวดอ้างเคลียร์คดีได้ โยงคดี ‘ทุน มิน ลัต’ ซัดมีคนอยู่เบื้องหลังนอมีนี หน้าฉากทำบีบน้ำตา ไม่เห็นด้วยศาลยกฟ้อง ‘ลูกเขยอุปกิต’ จี้ ป.ป.ช.สอบทรัพย์สิน 'อุปกิต' ห่วงเป็นบรรทัดฐานต่อในอนาคต
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงกรณีการยกฟ้องคดีทุนมินลัต ซึ่งถูกกล่าวหามีความผิดฐานสมคบค้าและสมคบฟอกเงิน เนื่องจากคดีนี้จะมีผลต่อคดีของนายอุปกิต ปาจรียางกูร สว. โดยใช้เวลาในการแถลงกว่า 1 ชั่วโมง เริ่มต้นจากการนำคลิปเสียงมาเปิดต่อสาธารณะ และกล่าวก่อนการเปิดคลิปว่า หวังว่าคลิปเสียงนี้จะนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จะนำไปสู่การดำเนินการในสิ่งที่ถูกที่ควรต่อไป เนื่องจากคลิปเสียงนี้ จะแสดงให้เห็นว่ามีการวิ่งเต้นของผู้มีอำนาจ
นายรังสิมันต์ กล่าวถึงคลิปเสียงแรกว่า เป็นการเลี่ยงภาษีของนักการเมืองและนักธุรกิจชาวไทย ซึ่งไม่ยอมนำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจที่เมียนมา มาเสียภาษี
ส่วนในคลิปที่ 2 นายรังสิมันต์ กล่าวว่า นักธุรกิจรายหนึ่งมีการใช้นอมินีทำธุรกิจแทนตนเอง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะปิดบังทำไม หากเป็นการทำธุรกิจที่สุจริต ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่นักธุรกิจรายนี้เลี้ยงดูปูเสื่อครอบครัว โดยซื้อคอนโดให้แก่มินอ่องลาย เพื่อให้นักธุรกิจรายนี้มีสิทธิพิเศษในการทำธุรกิจ ส่วนคลิปที่ 3 นายรังสิมันต์ ระบุว่า มีการพูดถึงความเชื่อมโยงของนักการเมืองบางกลุ่มกับภาคเอกชน ซึ่งทำให้เห็นถึงเครือข่ายชนชั้นนำที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง สำหรับคลิปที่ 4-5 พบว่านักธุรกิจคนนี้ อวดอ้างว่าสามารถเคลียร์คดี และช่วยพรรคพวกของตัวเองไม่ให้ถูกดำเนินคดีได้อีกด้วย ซึ่งตนคิดว่า ขบวนการที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง
“ประเทศเรามีอะไรมากกว่าที่พวกเราเห็น วันนี้เรามีปัญหาสิ่งผิดกฎหมายตามชายแดน มีเครือข่ายบางอย่างที่ทอดเงาอยู่เบื้องหลัง หน้าฉากก็แสดงเป็นคนดีบีบน้ำตา ส่วนฉากหลังจ้องแต่จะทำเรื่องผิดกฎหมายร้ายแรง ใช้คอนเนคชั่นที่ตัวเองมีช่วยเหลืออุ้มชูพวกเดียวกันให้อยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาที่ยังรอคอยให้รัฐบาลแก้ไข” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เพื่อไม่ให้กฎหมายถูกนำมาใช้กับประชาชนตาดำๆ เพียงอย่างเดียว ตนอยากฝากไปถึงผู้ที่ถูกอ้างถึงในคลิปเสียงนี้ หวังว่าพวกท่านจะไม่ทำสิ่งที่เลวร้ายให้แก่ประเทศชาติมากไปกว่านี้เลย
นายรังสิมันต์ กล่าวถึงความเชื่อมโยงกับคำพิพากษาของคดีทุนมินลัต เป็นการกระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และความผิดเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า เนื่องจากคำพิพากษาในคดีตุนมินหลัดฉบับนี้ จะมีผลต่อบรรทัดฐานทางกฎหมายของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ตนขอยกตัวอย่าง 5 ประเด็นหลักที่ศาลใช้ยกฟ้อง โดยตนไม่เห็นด้วย และเห็นควรว่าคำพิพากษาฉบับนี้ จำเป็นที่จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ คือ
ประเด็นที่ 1 เรื่องบัญชีม้า ศาลในคดีทุน มินลัต ได้ชี้ว่า แม้ทุน มินลัต จะได้รับเงินโอนจากบัญชีม้ามากกว่า 500 บัญชี จากร้านโพยก๊วน ให้กับการไฟฟ้าแม่สาย เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ หากเป็นร้านที่น่าเชื่อถือ และบุคคลทั่วไปนิยมใช้บริการ ซึ่งศาลได้แยกความผิดของร้านโพยก๊วนออกไป ไม่เกี่ยวข้องกับคดีทุน มินลัต
แม้ศาลเชื่อว่า มีเงินที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดบางส่วนในกลุ่มบัญชีม้า โอนไปยังกลุ่มของทุนมินลัตจริง แต่ตำรวจไม่สามารถพิสูจน์ที่มาของเงินหมุนเวียนในบัญชีม้าได้ทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะการใช้บัญชีม้าก็เพื่อปกปิดเส้นทางหารเงินของผู้กระทำความผิด และยังมีกลุ่มผู้กระทำความผิดอีกหลายเครือข่าย ที่ยังไม่ถูกสอบสวนหรือจับกุมทั้งหมด จึงยังไม่สามารถพิสูจน์เส้นทางการเงินทั้งหมดได้ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับคดีที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ถูกตัดสินว่าความผิดแล้วนั้น จึงเป็นที่น่าแปลกประหลาดมาก เพราะเหตุใด ศาลจึงมองว่า โพยก๊วนที่ควบคุมบัญชีม้าจำนวนมาก และรับโอนเงินจากขบวนการค้ายาเสพติด เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และการที่ทุน มินลัตรับเงินดังกล่าวเคยรู้ หรือควรรู้ว่า เป็นเงินที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย เหตุใดจึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ การที่ศาลเห็นไปในแนวทางนี้ การนำไปสู่การตีความได้ว่า การใช้บัญชีม้า ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และสามารถใช้บัญชีม้าในการทำธุรกรรมการเงินทั่วไปได้ ทั้งที่การใช้บัญชีม้า ไม่อาจมองกลุ่มผู้ใช้ไปในทางสุจริตได้เลย บรรทัดฐานนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก
ประเด็นที่ 2 ศาลมองว่า ที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา มีการโอนเงินโดยใช้ร้านโพยก๊วนที่ชื่อว่า 'ชเวซินโป' ซึ่งศาลระบุว่ากลุ่มธุรกิจนี้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินตรา แต่น่าแปลกใจว่ากลุ่มธุรกิจดังกล่าว ไม่ได้แปลว่าจะทำหน้าที่โอนเงินระหว่างประเทศได้ด้วย และศาลก็ได้บอกเองว่าการโอนเงินจากเมียนมาร์มาไทยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ สามารถทำได้แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แต่ศาลได้กล่าวว่า ในมุมมองของคนทั่วไป การโอนเงินผ่านร้านโพยก๊วนอาจทำได้ดีกว่า ประหยัดกว่า เพราะไม่ต้องมีค่าธรรมเนียมเหมือนผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ถูกกฎหมาย ทั้งที่ผู้ใช้บริการร้านโพยก๊วนก็ทราบดี ว่าร้านเหล่านี้ใช้บัญชีม้า ซึ่งเป็นการปิดบังอำพรางสุ่มเสี่ยงในการทุจริต ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
การที่ศาลชี้ว่าการโอนเงินผ่านโพยก๊วนสามารถทำได้ ตนเห็นว่าจะเป็นปัญหาอย่างมาก เท่ากับเรายิ่งส่งเสริมให้คนใช้ร้านชเวซินโปที่ท่าขี้เหล็ก โอนเงินมายังประเทศไทยได้ต่อไป เป็นการซ้ำเติมปัญหาการฟอกเงิน และส่งผลเสียต่อระบบธนาคารของประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ ศาลยังบอกเองว่า ร้านโพยก๊วนดังกล่าวยังใช้บัญชีม้าเป็นจำนวนมาก ประชาชนทั่วไปที่ได้อ่านคำพิพากษานี้จะรู้สึกอย่างไร ถ้าอยากฟอกเงินก็สามารถไปใช้บริการได้เลยหรือไม่ การตีความกฎหมายออกมาในแนวทางนี้จะเป็นปัญหาหรือไม่
ส่วนประเด็นที่ 3 การอ้างบริษัทใหญ่ๆ มากมาย อย่างคาราบาวแดง มิสทีน หรือโรงเรียนนานาชาติว่า มีการรับเงินจากโพยก๊วนเช่นเดียวกัน แล้วไปเทียบเคียงพฤติการณ์ของบริษัทเหล่านี้ว่ามีสถานะเช่นเดียวกันกับบริษัทในเครือข่ายทุนมินลัต ตนคิดว่าไม่สามารถอ้างได้ เพราะบริษัทเอกชนเหล่านี้ ไม่ได้เป็นคนใช้บริการโพยก๊วน เพื่อนำเงินมาจ่ายที่ฝั่งไทย เขาเป็นแค่เพียงผู้รับเงินเท่านั้น ซึ่งหากเขามีการทำบัญชีรายรับอย่างถูกต้อง ก็น่าเชื่อได้ว่าเงินที่ได้จากบัญชีพวกนี้ แม้เป็นการรับโอนเงินจากบัญชีม้า แต่เป็นการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนธุรกิจที่ผิดกฎหมาย จึงไม่ได้ร่วมกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำความผิด แตกต่างกันกับบริษัทในเครือทุนมินลัต ที่ล้วนมีผู้ที่อยู่เบื้องหลังเกี่ยวข้องกันทั้งสิ้น
ประเด็นที่ 4 ศาลเห็นว่าการไม่ยื่นภาษีอย่างถูกต้องของเครือข่ายทุนมินลัต เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ไม่มีการบันทึกรายรับและรายได้ในงบการเงิน จึงยิ่งเชื่อได้เลยว่า ลึกๆแล้ว เงินที่ได้รับโอนมาเป็นเงินที่ไม่สุจริต จึงไม่อยากทิ้งหลักฐานให้ถูกตรวจสอบย้อนหลังได้ มากไปกว่านั้น ในคดีนายวรวัฒน์เอง ซึ่งเกิดขึ้นก่อน ศาลก็ยืนยันในหลักการนี้ว่าหลักฐานการแสดงรายได้และการชำระภาษีนั้นเป็นสิ่งที่สามารถนำมาใช้ยืนยันความสุจริตของตัวเองได้ การที่ศาลชี้ว่าหลักฐานที่กลุ่มบริษัทอัลลัวร์ไม่ยื่นแสดงรายได้อย่างถูกต้อง ไม่อาจเป็นหลักฐานสำหรับการพิจารณาคดีนี้ ไม่ถึงขนาดเป็นพิรุธข้อสงสัยว่ามีการปิดบังอำพราง เงินที่ได้จากการขบวนการค้ายาเสพติด เป็นการสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติอย่างมาก อาจเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยคดีอื่นต่อไป
ประเด็นที่ 5 ศาลชี้ว่าหลักฐานของตำรวจไม่น่าเชื่อถือ เพราะตำรวจไม่ฟ้องเครือข่ายยาเสพติดมาพร้อมกัน รวมถึงต้องมีหลักฐานที่ชัดกว่าเส้นทางการเงิน ซึ่งตามความเป็นจริง ก็จะพบว่าเครือข่ายยาเสพติด หรือเครือข่ายผู้กระทำความผิดนั้นจะปกปิดตัวตนไม่ให้คนในเครือข่ายรู้จัก เพื่อป้องกันไม่ให้เพื่อนร่วมขบวนการสามารถซัดทอดมายังตนได้เมื่อถูกจับกุม ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ มันไม่มีทางเลยที่ขบวนการเหล่านี้มันจะต้องรู้จักกัน เพราะมันจะทำให้เครือข่ายยาเสพติด หรือ เครือข่ายการฟอกเงิน ถูกทำลายได้โดยง่าย จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ตำรวจจะหาหลักฐานแบบนี้เจอ
“ผมขอถามกลับไปยังศาลสถิตยุติธรรมว่าตกลงแล้ว คดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดและการฟอกเงิน ควรจะมีบรรทัดฐานอย่างไร เท่ากับว่าหากยึดบรรทัดฐานเดียวกับทุนมินลัต คนอย่างวรวัฒน์ที่ถูกศาลพิพากษาประหารชีวิต เขาก็ไม่ควรถูกตัดสินแบบนี้ แต่หากบอกว่าบรรทัดฐานที่ถูกที่ควรคือ ตามที่วินิจฉัยไว้ในคดีวรวัฒน์ ซึ่งตนไม่เห็นว่าคำพิพากษาคดีพวกทุนมินลัต จะออกมาสอดคล้องกับคดีวรวัฒน์แต่อย่างใด ตกลงแล้วบรรทัดฐานของศาลอยู่ที่ไหน” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า หากปล่อยให้ถูกยึดไปเป็นบรรทัดฐานในการพิพากษาคดีในอนาคต จะทำให้การจับพวกค้ายาเสพติด และการฟอกเงินจากยาเสพติด กลายเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ เท่าที่ตนทราบมา ตนได้ยินแว่วๆ มีความพยายามวิ่งเต้นให้อัยการไม่อุทธรณ์ ซึ่งผมก็หวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมันมีความจำเป็นที่จะต้องสู้คดีให้ถึงที่สุด อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจของคดีนี้ ยังมีต่อไปด้วยกันอีก 2 ประเด็น คือในคดีนี้ศาลได้ชี้ให้เห็นว่า การทำธุรกิจของเครือข่ายอัลลัวร์ ที่ทำกันทั้งไทย และเมียนมา เราจะพบว่านายอุปกิต ซึ่งเป็น สว. ศาลเขียนไว้ในคำพิพากษาว่า “ อุปกิตมีการเชิดนายดีน ลูกเขยของตัวเอง ให้ถือหุ้นและเป็นกรรมการบริษัทในเครืออัลลัวร์แทนตน ในช่วงเวลาที่ตนเองดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา” จึงหมายความว่าขณะที่นายอุปกิต เป็นสว. ก็ยังมีสถานะเป็นเจ้าของกิจการในเครืออัลลัวร์อยู่ทั้งหมดใช่หรือไม่ ซึ่งหากเป็นจริง นายอุปกิตอาจจะเข้าข่ายยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ส่วนเรื่องการยื่นบัญชีเท็จ ตนเคยยื่นร้องกับ ป.ป.ช.ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2566 ผ่านมาแล้วเกิน 180 วัน ขณะนี้ก็เป็นเวลาปีกว่าแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งที่เอกสารทุกอย่างก็มีความชัดเจน
“ก็น่าคิดว่า ป.ป.ช. มีความขยันขันแข็งในคดีของ 44 สส. พรรคก้าวไกล มีการออกมาให้ข่าวว่าอยู่ในกรอบ 180 วัน ผมก็อยากจะทราบจริงๆ ว่าคดีที่มีการกระทำที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 184(2) การยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ ผิดพ.ร.ป.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดเรื่องของจริยธรรม ผมก็อยากทราบว่าป.ป.ช. จะทำงานได้อย่างรวดเร็วอย่างที่กำลังต่อคดี 44 คนหรือไม่ นอกจากนี้ ผมจะนำคำพิพากษาฉบับดังกล่าวไปยื่นต่อกกต. เพิ่มอีก 1 หน่วยงานด้วย เนื่องจากอยู่ในอำนาจของกกต. ที่จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากพบว่ามีเหตุให้สมาชิกภาพของสว. สิ้นสุดลง ตามมาตรา 82 วรรคท้าย จากการทำผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (2) และมาตรา 185 (1) ซึ่งผมหวังว่ากกต.จะใช้เวลาพิจารณาไม่นานเหมือนกับที่พิจารณาคดีพรรคก้าวไกล” นายรังสิมันต์ กล่าว