ที่ปรึกษา รมช.กต.ยัน ‘ไทย’ เป็นผู้นำประสานแก้วิกฤตใน ‘เมียนมา’ ได้
ที่ปรึกษา รมช.ต่างประเทศ โต้ปม APHR ย้ำอาเซียนยังไม่ยอมรับให้ไทยเป็นผู้นำแก้ปัญหาเมียนมา ยืนยันไทยสามารถเป็นผู้นำประสานกับทุกฝ่ายได้ พร้อมมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาเมียนมา
วันที่ 21 มี.ค. 2567 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงการเป็นผู้นำของไทยในการแก้ไขปัญหาเมียนมา โดยหยิบยกกรณีการให้สัมภาษณ์นิตยสาร TIME ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังเมื่อเร็วๆนี้ ว่า นอกจากประเด็นคำโปรยปกที่คนไม่น้อยให้ความสนใจแล้ว ยังมีเนื้อหาสาระที่เป็นประเด็นสำคัญด้านการต่างประเทศของไทย คือการประกาศของผู้นำไทยต่อโลกว่าไทยจะเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาเมียนมา
ซึ่งประเด็นนี้ก็มีสื่อของไทยรายหนึ่งนำมารายงานต่อสรุปว่า รัฐสภาอาเซียน (APHR) ได้ออกแถลงการณ์ว่าอาเซียนยังไม่มีอาณัติร่วมกันให้ไทยเป็นผู้นำดังกล่าว ซึ่งรายงานที่ว่านี้มีส่วนความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง จึงอยากนำเรื่องนี้มาคุยกัน
1. ประการแรก ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR) ไม่ใช่รัฐสภาอาเซียน และมิได้มีสถานะเป็นองค์กรทางการใดๆ ของอาเซียน โดยเป็นแต่เพียงการรวมตัวของกลุ่มบุคคลทั้งอดีตและปัจจุบันที่เป็นสมาชิกรัฐสภา (Member of Parliament/Parliamentarian) จากประเทศอาเซียน รวมถึงบุคคลอื่น ๆ ที่มีความสนใจเกี่ยวกับอาเซียนและสิทธิมนุษยชน เป็นกลุ่มที่มีสมาชิกมารวมตัวกันอย่างสมัครใจ ที่มิได้ลงทะเบียนเป็น NGO ซึ่งไม่ได้มีพันธะใดๆ กับอาเซียนทั้งสิ้น
2. เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2566 APHR ได้ลงบทความในเว็บไซต์ชื่อ “ASEAN’s continued engagement with Myanmar junta risks legitimizing illegal regime, Southeast Asian MPs say” โดยประธานของกลุ่ม APHR ได้แสดงทัศนะของตนเองว่า “There is no clear mandate within ASEAN that makes it acceptable for Thailand to take the lead on Myanmar, given that it is neither the current Chair nor part of the ASEAN troika.” ซึ่งแปลคร่าวๆ ว่า “อาเซียนยังไม่มีแนวทางชัดระหว่างกันที่จะยอมรับให้ไทยเป็นผู้นำเรื่องเมียนมา โดยไทยมิใช่ทั้งประธานปัจจุบัน หรือของปีก่อนและปีถัดไป (Troika)”
3.ในการประชุมสุดยอดเพื่อฉลองการครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ของอาเซียน-ญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียวเมื่อเดือน ธ.ค. 2566 นายกรัฐมนตรึไทยได้แจ้งที่ประชุมทราบถึงนโยบายของไทยที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา
4.เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไทยมีพรมแดนติดกับเมียนมามากกว่าสองพันกิโลเมตร และได้รับผลกระทบโดยตรงจากความขัดแย้งในเมียนมามากกว่าประเทศอื่นในอาเซียน นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศที่สามารถติดต่อพูดจากับทุกฝ่ายในเมียนมาได้ รวมทั้งเป็นมิตรใกล้ชิดกับประเทศมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์ในภูมิภาค ดังนั้น ทั้งในแง่ความจำเป็นของไทยเองที่ถูกกระทบโดยตรง และสถานะพิเศษของไทยที่สามารถประสานกับทุกฝ่ายได้ ประเทศไทยจึงจำต้องมีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาเมียนมา ซึ่งไม่มีประเทศอาเซียนใดแสดงการคัดค้านความพยายามดังกล่าวของไทย
5. ทั้งนี้การที่สื่อแปลชื่อ APHR ว่าเป็น “รัฐสภาอาเซียน” ทั้งที่เป็นเพียงการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มีสถานะทางการใดๆทั้งสิ้นในฐานะองค์กรอาเซียน จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และสร้างความเข้าใจผิดให้กับสาธารณะชน โดยเฉพาะที่พยายามสื่อว่าความเห็นส่วนบุคคลเพียงคนเดียวดังกล่าวเป็นเสมือนแถลงการณ์ท่าทีทางการขององค์กรในอาเซียน ซึ่งมันไม่ใช่
นายรัศม์ ระบุว่า อยากบอกว่าทุกคนย่อมมีสิทธิแสดงความเห็นส่วนตัว และก็เป็นเรื่องปกติที่แม้แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันเองจะเห็นต่างกันในบางเรื่อง แต่ไม่ว่าอย่างไร จากผลกระทบโดยตรงจากปัญหาสู้รบในเมียนมา ประเทศไทยจำเป็นต้องเดินหน้าและมีบทบาทแข็งขันในการไขปัญหาดังกล่าว
"ในความเห็นของผม ด้วยสถานะพิเศษของรัฐบาลไทยในปัจจุบันที่สามารถพูดคุยได้ทุกฝ่าย รวมทั้งกับประเทศมหาอำนาจ ไทยจึงอยู่ในฐานะที่จะเป็นประเทศผู้นำในการแก้ไขวิกฤติการณ์เมียนมา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของทั้งไทยและภูมิภาคอาเซียนโดยรวม"