'ทวี'แจงยิบปม'ทักษิณ' กฎหมายเหนือบุญคุณ 'พักโทษ' ยึดพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับสนช.
"ทวี" แจงยิบ ครหา"ทักษิณ" ซูเปอร์วีไอพี ยืนยันกฎหมายอยู่เหนือบุญคุณ กระบวนการเกิดในยุค "รัฐบาลประยุทธ์" ย้ำชง "พักโทษ" ยึดพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ฉบับสนช.2560
การประชุมวุฒิสภา วาระญัตติด่วนขอเปิดอภิปรายทั่วไปใน วุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงต่อที่ประชุมหลังถูกพาดพิง ยืนยันว่าการบริหารราชการแผ่นดินตนมีอุดมการณ์แน่วแน่ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และยึดในหลักการของกฎหมาย ยึดประโยช์ส่วนรวม
“ผมเข้าใจดีว่าประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมผมเลือกประโยชน์ส่วนรวม บุญคุณกับการถูกกฎหมายผมเลือกการถูกกฎหมาย กฎหมายกับความถูกต้องแม้มันอาจจะไม่ไปด้วยกันเราต้องแก้ให้ไปด้วยกัน ระบบอุปถัมภ์และระบบคุณธรรมผมเลือกระบบคุณธรรม”
รมว.ยุติธรรม ยังกล่าวว่า กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า อดีตนายกฯไม่ได้สั่งการที่ขัดต่อกฎหมายและคุณธรรม
กรณีการกลับสู่ประเทศไทยเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อวันที่22ส.ค. ขณะนั้นรัฐบาล รวมถึงนายกรัฐมนตรียังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.ยุติธรรม เป็นนายวิษณุ เครืองาม ส่วนปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงผบ.เรือนจำเป็นคนๆเดียวกันหมดซึ่งเมื่อตนเข้ามาเป็นรมว.ยุติธรรมไม่ได้เปลี่ยนใครเลย
ตนสะท้อนใจที่สมาชิกมีการระบุว่าตนได้ทำลายกระบวนการและ ระบบยุติธรรม ยืนยันว่าตนไม่สามารถไปสั่งพล.อ.ประยุทธ์ได้ว่า นายทักษิณกลับประเทศแล้วต้องไปรพ.ทันที ขณะนั้นตนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พรรคมี9คนจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ ตนจึงอยากให้ความเป็นธรรมตรงนี้ คิดว่าการทำลายระบบยุติธรรมคือการยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำลายระบบยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวว่า ตนรับตำแหน่งรมว.ยุติธรรมหลังนายทักษิณได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้วซึ่งก็คิดว่าเหตุใดจึงไม่ได้อยู่ในเรือนจำเลยแล้วต้องไปอยู่รพ.ตำรวจ
เหตุผลคือกฎหมายราชทัณฑ์ปี2560ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เข้าสู่สภาวาระแรกเมื่อปี2559 ขณะเดียวกันยังเป็นกฎหมายที่ออกโดยบุคคลจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน อาทิ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นต้น
ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้แก้มาแล้วคนราชทัณฑ์แทบไม่มีอำนาจ แต่เป็นเรื่องของศาล แต่เรื่องการบริหารโทษเป็นเรื่องของกฎหมายราชทัณฑ์ กรณีของนายทักษิณ จะต้องมีคำสั่งจำคุกจากศาลฏีกาก่อน
ขณะที่การส่งตัวไปรักษาตัวที่รพ.ตำรวจนั้น พบว่ากฎหมายที่พวกท่านร่างกันมาเองพบว่า เป็นไปตามหลักการทางการแพทย์ซึ่งการแพทย์ของระบบราชทัณฑ์ไม่พร้อม ขณะเดียวกันในกฎหมายราชทัณฑ์ยังระบุถึงที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ นั่นคือโรงพยาบาลหมายรวมไปถึงโรงพยาลเอกชนด้วย
รมว.ยุติธรรม ย้ำว่า การคุมขังตามกฎหมายใหม่ ไม่ใช่คุมขังที่เรือนจำ ถ้าทำตามที่สว.ได้ทำกฎหมายเรื่องการใช้ที่คุมขังอื่นควรจะออกมาแล้ววันที่มีนักโทษที่ถูกคุมขังถึง2แสนรายจากที่คุมขังได้1.7-1.8 แสนราย กรณีนายทักษิณ ที่รักษาตัวที่รพ.ตำรวจก็เปรียบเสมือนเรือนจำมีผู้คุม และปฏิบัติเหมือนเรือนจำ ยืนยันว่ากรณีนายทักษิณยังถือว่าเป็นการจำคุกแต่มีการจำคุกในสถานที่อื่นแทน ที่ผ่านมาก็มีนักโทษที่ถูกส่งตัวรักษา4-5หมื่นคน
“กฎหมายนี้เกิดก่อนผมเข้ามา กฎหมายนี้ผมไม่ได้ร่างเลย ผมบอกแล้วว่าบุญคุณกับการถูกกฎหมายผมยึดว่าการถูกกฏหมาย”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา120วันที่นายทักษิณรักษาตัวที่รพ.ตนได้กำชับให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่องซึ่งได้รับคำยืนยันจากแพทย์ว่าป่วยจริงและจำเป็นต้องรักษาตัวที่รพ.
ขณะที่การพักโทษ ยืนยันว่าราชทัณฑ์ หรือรมว.ยุติธรรมไม่มีอำนาจในการพักโทษใคร แต่เป็นเรื่องของคณะกรรมการพักโทษ15คน ส่วนเกณฑ์การพักโทษไม่ใช่เกณฑ์ที่ตนกำหนดเแต่เป็นเกณฑ์ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ กรณีนายทักษิณ ผู้แทนกระทรวงสาธารณะสุขมีความเห็นว่าเป็นกรณีเข้าหลักเกณฑ์ผู้สูงอายุ เหลือโทษไม่มาก ได้คะแนน9คะแนน เป็นคะแนนที่ลงโดยพยาบาลของกรมอนามัย ไม่มีความเห็นต่าง
ขณะที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยืนยันว่าการรักษาตัวของนายทักษิณในรพ.ตำรวจให้ถือว่าเป็นการรักษาในเรือนจำตามหลักเกณฑ์มาตรา55 ของพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ยืนยันว่าเกณฑ์การพักโทษถือว่าเป็นไปตามระบบ และเป็นการพักโทษตามปกติ