‘ทักษิณ’ หมดสิทธิสมาชิกเพื่อไทย ใช้ช่องที่ปรึกษา-ผู้ช่วยหาเสียง ?

‘ทักษิณ’ หมดสิทธิสมาชิกเพื่อไทย ใช้ช่องที่ปรึกษา-ผู้ช่วยหาเสียง ?

เชื่อได้ว่าในอนาคต “ทักษิณ” ก็ยังสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย เหมือนเช่น “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ที่เคยเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยมาแล้ว

KEY

POINTS

  • "แพทองธาร ชินวัตร" ย้ำ "ทักษิณ" ไม่จำเป็นต้องเป็นที่ปรึกษาให้พรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่รัฐมนตรี หากอยากปรึกษาสามารถทำได้ "จะบอกพ่อลูกแล้วมาครอบงำ คงไม่ใช่”
  • "ทักษิณ" ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลฎีกาฯ ทำให้ไม่สามารถสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้
  • "ทักษิณ" มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่โยงถึงมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ ใน (9) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
  • ในอนาคตอาจได้เห็น "ทักษิณ" เป็นที่ปรึกษาให้กับพรรคเพื่อไทยหรือเป็นผู้ช่วยหาเสียงในช่วงเลือกตั้งก็ได้
     

ผู้นำจิตวิญญาณแห่ง “พรรคเพื่อไทย” ได้ปรากฎกายเข้าที่ทำการพรรค อาคารโอเอไอทาวเวอร์ (ที่มาจากชื่อลูกๆ โอ๊ค - เอม - อิ๊งค์) เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2567 ท่ามกลางการต้อนรับของมวลชนแฟนคลับพรรคเพื่อไทย รัฐมนตรี สส.ของพรรคเพื่อไทยอย่างชื่นมื่น

“ทักษิณ ชินวัตร” อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 กับการหวนคืนพรรคเพื่อไทย โดยไม่มีตำแหน่งทางการเมืองเป็นครั้งแรกในรอบ 17-18 ปี หลังต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อปี 2549 และเดินทางออกนอกประเทศเมื่อปี 2551

‘ทักษิณ’ หมดสิทธิสมาชิกเพื่อไทย ใช้ช่องที่ปรึกษา-ผู้ช่วยหาเสียง ?

มีช่วงหนึ่งระหว่างที่ “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า “ทักษิณ” จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ เพราะหากการมาเช่นนี้ อาจถูกมองว่า เป็นคนนอกที่ครอบงำพรรค

“แพทองธาร” บอกว่า การจะสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยหรือไม่ แล้วแต่ท่าน ตนเองคงตอบไม่ได้ ส่วนที่มองว่าจะมีการครอบงำนั้น คิดว่าคุณพ่อ (ทักษิณ) ไปไกลกว่าเป็นสมาชิกพรรคแล้ว

“ท่านสามารถเป็นที่ปรึกษา ทำประโยชน์ให้ประเทศได้ ไม่จำเป็นต้องปรึกษาแค่ในพรรคเพื่อไทย แต่รัฐมนตรี หากอยากปรึกษา สามารถทำได้ ท่านเป็นที่ปรึกษาดิฉันมาทั้งชีวิต ตั้งแต่เด็ก ปฏิเสธไม่ได้ การจะบอกพ่อลูกแล้วมาครอบงำ คงไม่ใช่”

‘ทักษิณ’ หมดสิทธิสมาชิกเพื่อไทย ใช้ช่องที่ปรึกษา-ผู้ช่วยหาเสียง ?
 

สำหรับตัว “ทักษิณ”จะสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้หรือไม่นั้น จะต้องดูถึงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งสมาชิกพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ในหมวด 1 ว่าด้วยการจัดตั้งพรรคการเมือง มาตรา 9 กำหนดเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่มีคุณสมบัติและต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม

มีคุณสมบัติที่ล้อกันกับ หมวด 2 ว่าด้วย “การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง” ในมาตรา 24 กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมืองต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกำหนดในข้อบังคับพรรคและต้องมีอายุไม่ต่ำ 18 ปี

มาตรา 24 (2) กำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะเป็นสมาชิกพรรคไว้ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 (1) (2) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (11) (14) (16) (17) หรือ (18) ของรัฐธรรมนูญ

กรณีของ “ทักษิณ” เคยรับโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง 3 คดี

โดยศาลฎีกาฯ แจ้งคำพิพากษาจำคุก “ทักษิณ” รวม 8 ปี จาก 3 คดี คือ คดีสั่งการให้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ คดีหมายเลขดําที่ อม. 3/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 จำคุก 3 ปี  คดีหวยบนดิน คดีหมายเลขดําที่ อม. 1/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 จำคุก 2 ปี คดีแก้สัมปทานเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป คดีหมายเลขดําที่ อม. 4/2551 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551 จำคุก 5 ปี

โดยศาลให้นับโทษจําคุกของ “ทักษิณ” ต่อจากโทษจําคุกของจําเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 และต่อจากโทษจําคุกของจําเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 ซึ่งศาลออกหมายจําคุกเมื่อคดีถึงที่สุดในแต่ละคดีแล้ว และได้รับโทษจำคุกรวมระยะเวลา 8 ปี

ต่อมาพระราชทานอภัยลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1 ปี จนกระทั่งวันที่ 17 ก.พ. 2567 “ทักษิณ” ได้รับเกณฑ์การพักโทษ เพราะได้รับโทษจำคุกมาเป็นเวลา 6 เดือน

ดังนั้น คุณสมบัติในการสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยของ “ทักษิณ” จึงไม่สามารถสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ เพราะติดข้อกฎหมายตามลักษณะต้องห้ามในการเป็นสมาชิกพรรค เพราะเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุก

เป็นไปตามมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะ (9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

อีกทั้งยังเข้าตามมาตรา 98 (7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ดังนั้น กรณีของ “ทักษิณ” เมื่อเข้าเงื่อนไขตาม (9) ก็ไม่สามารถสมัครสมาชิกพรรคการเมืองใดได้

‘ทักษิณ’ หมดสิทธิสมาชิกเพื่อไทย ใช้ช่องที่ปรึกษา-ผู้ช่วยหาเสียง ?

แน่นอนว่า “ผู้นำจิตวิญญาณ” คงยังไม่หยุดเคลื่อนไหวเพียงเท่านี้ หลังก่อนหน้านี้ ได้ออกจากบ้านพัก “จันทร์ส่องหล้า” ไปกราบบรรพบุรุษ “ตระกูลชินวัตร” ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 14-16 มี.ค. 2567

ต่อเนื่องด้วยการเข้าพบปะ สส.พรรคเพื่อไทย และยังจะมีแพลนจะเดินทางไป จ.เชียงใหม่ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เม.ย. 2567

ในทางกฎหมายแม้จะไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคหรือดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองได้

แต่เชื่อได้ว่าในอนาคต “ทักษิณ” ก็ยังสามารถเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้พรรคเพื่อไทย เหมือนเช่น “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” ที่เคยเป็นผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทยมาแล้ว ซึ่งเจ้าตัวได้เปิดทางรอเอาไว้แล้ว โดยบอกว่า "สส.คนไหนอยากให้ไปในพื้นที่เสนอมา จะพิจารณาอีกครั้ง เพราะเมื่อได้เจอชาวบ้านแล้วมีกำลังใจ เพราะผมเป็นลูกชาวบ้าน"

ถึงแม้ “ทักษิณ” ไม่ต้องมีตำแหน่งเป็นทางการ แต่บารมีของเขาและการเป็นที่ปรึกษาให้กับพรรคเพื่อไทย คงไม่มี สส.หรือรัฐมนตรีคนใดจะกล้าปฏิเสธขอคำแนะนำ “ผู้นำจิตวิญญาณ” คนนี้ได้