จับตา 10 เมษายน 2567 ชี้ชะตา 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

จับตา 10 เมษายน 2567 ชี้ชะตา 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

“นายกรัฐมนตรี” กำหนดไว้ว่าวันที่ 10 เม.ย. รัฐบาลจะได้ข้อสรุปแนวทางการได้มาซึ่งงบประมาณเพื่อใช้ในโครงการ “เงินดิจิทัล” แต่ต้องดูว่าฝ่ายที่กำหนดนโยบายการเงิน กับฝ่ายที่กำหนดนโยบายการเมือง ใครจะเป็นผู้ชี้ชะตา “ดิจิทัลวอลเล็ต”

รัฐบาลมีความพยายามในการจัดหาแหล่งงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไป 50 ล้านคน รวมวงเงิน 560,000 ล้านบาท ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 2 เม.ย. 2567 เห็นชอบปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2567-2571) เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

โดยวันที่ 9 เม.ย. “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง จะเรียก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมร่วมกันเพื่อเปลี่ยนกรอบงบประมาณ 2568  ซึ่งจะทำให้ขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะต่อจีพีดีเพิ่มขึ้น

  • โดยปี 2568 กรอบรายจ่ายอยู่ที่ 3,752,700 ล้านบาท ขาดดุล 865,700 ล้านบาท หนี้สาธารณะ 66.93%
  • ปี 2569 กรอบรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,743,000 ล้านบาท ขาดดุล 703,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะอยู่ที่ 67.53%
  • ปี 2570 กรอบรายจ่ายจะอยู่ที่ 3,897,000 ล้านบาท ขาดดุล 693,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะอยู่ที่ 67.57%
  • ปี 2571 กรอบรายจ่ายจะอยู่ที่ 4,077,000 ล้านบาท ขาดดุล 683,000 ล้านบาท หนี้สาธารณะอยู่ที่ 67.05%

เหลือเพียง 3% ก็จะชนกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไม่ให้หนี้สาธารณะสูงกว่า 70% ของจีดีพี รัฐบาลเชื่อว่าแนวทางที่จะดำเนินการนั้นจะทำให้จีดีพีเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 3% ซึ่งจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีลดลงได้ในอนาคต

จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวและส่งเสริมอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าค่าเฉลี่ยและสูงกว่าอัตราการขยายตัวตามศักยภาพ

เนื่องจากปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าการเติบโตตามศักยภาพ เห็นได้จากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศในปี 2567 ขยายตัว 2.7% และไตรมาส 4 ปี 2566 หดตัว 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566

นอกจากนี้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาทั้งภายนอกและภายในประเทศ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจช่วงต้นปี 2567 หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นกระทบกับการบริโภค    

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เคยออกรายงานเชิงวิเคราะห์ถึงนโยบายประชานิยม “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นนโยบายเพิ่มความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือในการลงทุน เพราะเสี่ยงที่จะฉุดฐานะการคลังสู่การขาดดุลอย่างหนัก จนอาจกระทบอันดับเครดิตเรตติ้งประเทศ

โดยเฉพาะหากใช้ “เงินกู้” นักลงทุนและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินเตือนว่าอาจกระตุ้นเงินเฟ้อ และกระทบวินัยทางการคลัง โดยมูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และเอสแอนด์พี โกลบอล เรตติงส์ เคยเตือนว่าไทยมีสิทธิถูกหั่นอันดับเครดิตในอนาคต จากภาระหนี้ก้อนใหญ่และเศรษฐกิจชะลอตัวลง 

อย่างไรก็ตาม “นายกรัฐมนตรี” กำหนดไว้ว่าวันที่ 10 เม.ย. รัฐบาลจะได้ข้อสรุปแนวทางการได้มาซึ่ง “งบประมาณเพื่อใช้ดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัล” ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ดำเนินการนั้นก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาพรวมให้ดีขึ้น ทำให้เกิดพลังของการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบ

และหากวันที่ 10 เม.ย. การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีจำนวนเสียงที่เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ย ก็น่าจะเป็นแรงกระเพื่อมที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ต้องดูว่าฝ่ายที่กำหนด “นโยบายการเงิน” กับฝ่ายที่กำหนด “นโยบายการเมือง” ใครจะเป็นผู้ชี้ชะตา “ดิจิทัลวอลเล็ต”