ประท้วงวุ่น! 'เบญจา' อภิปรายปม 'เหมืองทองอัครา' โยง 'รัฐบาลประยุทธ์'
ประท้วงกันวุ่น! 'เบญจา ก้าวไกล' อภิปรายปม 'เหมืองทองอัครา' โยง 'รัฐบาลประยุทธ์' ซัด 'เพื่อไทย' ทำเป็นขึงขังเล่นใหญ่ยุคก่อน แต่พอมาเป็นรัฐบาลเองกลับไม่ทำอะไร ด้าน สส.รทสช. - พท.ชี้อย่าพาดพิงคนนอก ท้าเปิดชื่อใครขี่คอ 'รัฐบาลเศรษฐา'
เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2567 ที่รัฐสภา ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นคดีเหมืองทองอัครา ตอนหนึ่งว่า เป็นมรดกบาปของคนไทย และเป็นละครฉากใหญ่ที่ตบตาประชาชนคนไทยในทุกรัฐบาล เช่นเดียวกับในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งในยุคที่พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน ก็อภิปรายเล่นใหญ่ จัดหนัก แต่พอเป็นรัฐบาลก็กลับทำอะไรไม่ได้ พร้อมกล่าวอีกว่า ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการสั่งปิดเหมือง และมีการแต่งตั้งบุคลากรของเหมืองทองอัคราที่เพิ่งลาออก 12 วัน มาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เป็นผู้ผลักดันเหมืองแร่โปแตช มีการผูกขาดขุมทรัพย์ใต้ดิน
แต่ระหว่างที่ น.ส.เบญจา อภิปราย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ใช้สิทธิประท้วงว่า นี่เป็นการอภิปรายรัฐบาลชุดนี้ แต่กลับมีการพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ หลายรอบ เป็นคนภายนอก ไม่สามารถมาชี้แจงได้ หากจะพูดถึงความหลังขอให้พอประมาณ เพราะที่ฟังมา ยังไม่เข้าประเด็นถึงรัฐบาลชุดนี้
นายปดิพัทธ์ จึงขอให้ น.ส.เบญจา หลีกเลี่ยงการใช้ชื่อบุคคลภายนอก และให้ใช้คำว่ารัฐบาลชุดก่อนแทน แต่ น.ส.เบญจา กลับอภิปรายเชื่อมโยงกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และเอ่ยถึงนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.อุตสาหกรรม ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ ที่ย้ายพรรคจากพลังประชารัฐมาเป็นพรรคเพื่อไทย ทำให้ น.ส.ชนก จันทาทอง สส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ประท้วงประธานในที่ประชุมควบคุมการประชุมว่าผู้อภิปราย อภิปรายถึงผลงานรัฐบาลที่แล้วหรือเป็นผลงานของรัฐบาลชุดนี้ เพราะประชาชน และตนเองฟังแล้วรู้สึกสับสน
หลังจากนั้น น.ส.เบญจา ได้อภิปรายต่อถึงดีลพิสดารของเหมืองทองอัคราไปให้นายทุน จึงขอถามไปยังรัฐมนตรี 3 คน คือ นางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเข้ามาสานงานต่อ ก่อปัญหาใหม่ ว่าจะแก้ปัญหา และหากทางออกเรื่องเหมืองทองอัคราอย่างไร พร้อมถามไปยังนายสุริยะ ที่เป็นรัฐมนตรีชุดที่แล้ว และยังเป็นรัฐมนตรีชุดนี้ที่มาจากพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นตัวละครสำคัญ เหตุใดต้องเลื่อนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการออกไป เอาอะไรไปประเคนให้บ้าง และถามไปถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าจะจัดการกับ พล.อ.ประยุทธ์ และอดีต รมว.อุตสาหกรรมอย่างไร ในวันที่พรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้านลุกขึ้นอภิปรายอย่างขึงขังจัดหนัก และพูดถึงขั้นมีหลักฐานเด็ดจะจัดการกับ พล.อ.ประยุทธ์
ทำให้นายเอกนัฏ ลุกขึ้นประท้วงอีกครั้งว่า ยังมีการพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมาะสม เพราะเป็นบุคคลภายนอก และขอให้ถอนออก ด้านนายปดิพัทธ์ วินิจฉัย ขอ น.ส.เบญจา อย่าเอ่ยชื่อคนนอก และขอให้ถามไปยังรัฐมนตรีเลย แต่ น.ส.เบญจา ยังโชว์สไลด์ขึ้นชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้นายเอกนัฏ ต้องประท้วงอีกรอบ นายปดิพัทธ์ จึงกล่าวว่า ตนเองได้วินิจฉัยไปแล้ว และ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯ ในยุคนั้นจริงๆ ต่อให้ชี้แจงไม่ได้ แต่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชี้แจงได้ และขอให้ น.ส.เบญจา หลีกเลี่ยง และขอนายเอกนัฏ ไม่ให้ประท้วงแล้ว
น.ส.เบญจา จึงอภิปรายว่า วันนี้รัฐบาลเศรษฐา และรัฐบาลเพื่อไทยมีอำนาจจะจัดการนายกรัฐมนตรีในอดีตได้แล้วหรือยัง หรือจริงๆ แล้วมีอำนาจนอกทำเนียบ ตัวจริง ขี่คออยู่กันแน่
ทำให้ นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร สส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย ประท้วงขอให้ถอนคำพูดว่ามีใครขี่คอรัฐบาลอยู่ และขอให้พูดชื่อออกมาเลย ต่อมานายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ประท้วงนายปดิพัทธ์ ให้ทำหน้าที่ประธานด้วยการวางตัวเป็นกลาง พร้อมขอให้ผู้อภิปรายเข้าประเด็น ไม่อยากให้พาดพิงบุคคลภายนอก นายปดิพัทธ์ จึงวินิจฉัยว่า เชื่อว่า น.ส.เบญจา พร้อมรับผิดชอบในการพาดพิง แต่ขอให้หลีกเลี่ยงเอ่ยชื่อไปที่ตัวบุคคล
สุดท้าย น.ส.เบญจา จึงอภิปรายขอถามนายเศรษฐา ว่ารัฐบาลนี้จะทำเพื่อใคร หรือจะทำเพื่อนายทุน และเพื่อนายทุนเท่านั้น จึงขออย่าปล่อยให้เรื่องที่รัฐบาลเพื่อไทยจริงจังขึงขังในวันนั้น จบลงแบบปาหี่ในวันนี้ อย่าให้เป็นแค่ละครฉากใหญ่ ที่ใช้เป็นเทคนิคในการหาเสียงเท่านั้น และอย่าปล่อยให้มหากาพย์เรื่องนี้เป็นแค่มวยล้มต้มคนดู
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์