ผ่าทางตัน ‘เพื่อไทย’ยื้อแก้รธน. จับตา 2 สูตร ‘คว่ำ’เพื่ออยู่ยาว
2ทางไปของการแก้รัฐธรรมนูญ คือ ทำประชามติ หรือ ดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่รัฐสภาให้พิจารณา ทว่าทั้ง2ทางนี้ ล้วนมีช่องให้ "รัฐบาลเพื่อไทย" ยื้อแก้รธน. เพื่ออยู่ครบวาระได้
Key Point :
- เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีตกคำร้องของรัฐสภา นัยยที่สะท้อนคือ การแก้รัฐธรรมนูญต้องเดินตามครรลอง
- ทางไปตอนนี้ มี 2 ตัวเลือก คือ รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไข หรือ ทำประชามติขอไฟเขียวจากประชาชน
- กรณียื้อแก้รัฐธรรมนูญของ "รัฐบาลเพื่อไทย" เพื่ออยู่ยาว ยังคงมีทางไปเช่นกัน
- ทั้งกระบวนการ ล่มประชามติ หรือ คว่ำร่างแก้ไขในวาระแรก
เมื่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ" เสียงเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องที่ “รัฐสภา” เสียงข้างมาก ส่งเรื่องให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอน ของการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” เท่ากับว่า ได้ “รีเซต” เกมยื้อ รื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ หลังจากที่รัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” หาช่องทางประวิงเวลามากว่า 7 เดือน
ให้กลับไปสู่จุดที่ต้อง “ปฏิบัติ” เสียที ในแง่ของขั้นตอนปฏิบัติ หากถอดความตามประเด็นที่ส่งคำร้อง คือ
1.รัฐสภาจะบรรจุวาระ และพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่บทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติถามประชาชนต่อความต้องการทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่
2.ในกรณีที่รัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ในกระบวนการทำประชามติต้องทำในขั้นตอนใด
ศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ใน 2 ประเด็นนั้นว่า การบรรจุวาระหรือไม่ เป็นอำนาจของประธานรัฐสภา ส่วนประเด็นทำประชามติขั้นตอนใดนั้น “เป็นเพียงข้อสงสัย” ไม่เข้าเงื่อนไขในหน้าที่และอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบกำหนดไว้
ดังนั้นเท่ากับว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้มีข้อสรุปเดียวคือ “ต้องเดินหน้า” ตามสัญญาที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียง และเป็นคำมั่นที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
การเดินหน้าจึงมี 2 ทางออก คือ
1.รัฐบาล ยืนยันในกระบวนการออกเสียงประชามติตามที่มอบหมายให้ “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ศึกษา และขณะนี้มีข้อเสนอเตรียมให้ “ครม.” พิจารณาคำถามแล้ว
คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์” และมีจำนวนครั้งทำประชามติ 3 ครั้ง
2.เป็นบทบาทของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนด
โดยขณะนี้มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ จากพรรคเพื่อไทย 1 ฉบับ และพรรคก้าวไกล 1 ฉบับ ยื่นรอให้รัฐสภาพิจารณาแล้ว
ต่อเรื่องนี้ “ก้าวไกล” โดย “สส.พริษฐ์ วัชรสินธุ” ขอให้เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ บนทางเลือกที่ 2 โดยจุดเริ่มคือ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ต้องทบทวนการตัดสินใจจากที่ไม่บรรจุวาระแก้รัฐธรรมนูญ ไปเป็น “บรรจุ” เพื่อให้รัฐสภาได้ทำหน้าที่ของตนเอง และเดินหน้าสู่การทำประชามติ 2 ครั้ง
“สส.พริษฐ์” ผู้ขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ก่อนเข้าสภาฯ มองว่า อุปสรรคที่หลายฝ่ายกังวลคือด่านของ “สว.” ที่ต้องเห็นชอบในวาระรับหลักการ ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ไม่มีอะไรเป็นปัญหาอีก เพราะความชัดเจนของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ออกมาเมื่อ 17 เม.ย. และอ้างถึงคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะยกเป็นข้ออ้างทางกฎหมายเพื่อลงมติไม่รับหลักการอีก
ส่วนกรอบเวลาเริ่มนับหนึ่งของปฏิบัติการแก้รัฐธรรมนูญนั้น “พริษฐ์” มองว่าอยู่ที่การตัดสินใจของ “ประธานรัฐสภา” ว่าจะบรรจุวาระเมื่อใด
ขณะที่ฝ่ายวิชาการ นักกฎหมาย “ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” ในฐานะอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นด้วยเช่นกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจของ “รัฐสภา” ตามมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญกำหนด ที่สามารถออกแบบบทบัญญัติได้ แต่หากบทบัญญัติใดเข้าเงื่อนไขที่ต้องนำไปออกเสียงประชามติ ต้องดำเนินการตามขั้นตอน
“ตอนนี้ พรรคเพื่อไทยและ พรรคก้าวไกล ทู่ซี้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ทั้งที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ เหมือนที่เคยแก้ไขเรื่องระบบเลือกตั้ง ดังนั้นหากเห็นว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาเรื่องใด ให้แก้ไขส่วนนั้น และหากเข้าเงื่อนไขที่ต้องไปทำประชามติ ตามมาตรา 256 ต้องนำไปทำประชามติ ดังนั้นเรื่องใดที่มีปัญหา ควรแก้ไขเพื่อทำประชามติครั้งเดียว แต่ตอนนี้ 2 พรรคไม่ชัดเจนว่าจะแก้ไขในบทบัญญัติใดบ้าง เพียงแค่ไม่ต้องการรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มาจากการรัฐประหาร แต่วิธีการของพวกเขาเท่ากับการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง” ดร.เจษฎ์ ระบุ
ทว่า ในประเด็นที่เป็นความต้องการของรัฐบาล ในการหาช่อง “ยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ยังมีช่อง โดย “ดร.เจษฎ์” มองว่า “หากเพื่อไทยไม่อยากแก้ไข ควรคว่ำในวาระแรก โดยไม่ต้องยืมมือสว. แต่ใช้เสียงของพรรคตัวเองดำเนินการ”
หรืออีกทางที่ “ก้าวไกล” หวั่นเกรง คือในขั้นตอนถาม คำถามประชามติ ที่ตั้งคำถามแบบยัดไส้ สร้างเงื่อนไขให้ “ประชามติไม่ผ่าน”
ดังนั้นต้องจับตาให้ดีว่า ต่อจากนี้ “รัฐบาลเพื่อไทย” จะใช้วิธีใดเพื่อ “ยื้อแก้รัฐธรรมนูญ" ออกไปได้อีก.