'นักวิชาการ' หวั่นประชามติแก้รธน.ไม่ผ่าน เหตุ 'รัฐบาล-ฝ่ายค้าน' เห็นต่าง
"ปริญญา" หนุน "รัฐบาล" คุย "ฝ่ายค้าน" ปรับความเห็นประชามติแก้รธน.หวั่นความเห็นต่างทำให้คนออกมาใช้สิทธิไม่ถึง 50%
ที่รัฐสภา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ต่อการทำประชามติเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รัฐบาลเห็นชอบในหลักการว่าจะทำประชามติ 3 ครั้ง โดยเชื่อว่าจะเป็นปัญหารระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในประเด็นคำถาม ที่ว่า จะเห็นชอบด้วยหรือไม่กับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เพราะมีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งตนกังวลว่าจะเป็นประเด็นที่ทำให้การออกเสียงประชามติครั้งแรกไม่ผ่าน อย่างไรก็ดีการเดินหน้าทำประชามติขณะนี้ ตนมองว่ามีเพียงรัฐบาลที่เดินหน้าไปฝ่ายเดียว ทั้งนี้มีประเด็นที่ประชาชนคาดหวังอยากเห็น คือ ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ร่วมมือกันเดินหน้าเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และฉบับสุดท้าย
"หากรัฐบาลอยากเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้ ควรหาทางพูดคุยกับฝ่ายค้านเพื่อให้พอไปกันได้ เพราะถ้าหากเดินหน้าไปโดยเห็นต่างกัน การทำประชามติไม่ผ่าน และไปไม่ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ผมมองว่าหากเลี่ยงความขัดแย้งควรออกแบบคำถามประชามติเป็น 2 คำถามเหมือนกับตอนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีคำถามพ่วง” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา กล่าวถึงเงื่อนไขการผ่านประชามติว่าด้วยการออกเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น ในกฎมายประชามติ โดยเชื่อว่าโอกาสผู้ออกมาใช้สิทธิจะเกินกึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 74% แต่หากรัฐบาล และ ฝ่ายค้านยยังเห็นต่างกัน ตนกังวลว่าอาจมีผู้ใช้สิทธิไม่ถึง 50%
"หากเงื่อนไขค่อนข้างจะสูง ทำให้เกิดปัญหาได้ แต่ปัญหาขณะนี้ไม่ใช่คำถาม แต่คือความเห็นต่างระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ดังนั้นการนำพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยปกติอีกครั้ง เป็นเรื่องที่ประชาชนย่อมคาดหวัง โดยโอกาสทำให้สำเร็จมีขึ้นได้ เพราะเปลี่ยนสว.ชุดใหม่ ที่ไม่ใช่ชุดที่คสช.ครอบงำแล้ว” นายปริญญา กล่าว.