เช็คเลยใครเข้าข่าย! คลอดแล้วประกาศ กกต.ตีความลักษณะอื่น 20 กลุ่มสมัคร สว.
ราชกิจจานุเบกษาแพร่ประกาศ กกต. ตีความลักษณะอื่น ๆ ใน 20 กลุ่มเข้าข่าย ลงสมัครเลือก สว. พบอาชีพอิสระได้เฮ มีสิทธิลงสมัคร
เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง การมีลักษณะอื่นๆในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา หรือ "สว." ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 เม.ย. 2567 ระบุสาระสำคัญ ดังนี้
โดยที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 11 กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนสองร้อยคนซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคล ซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะหรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงานหรือเคยทำงานด้านต่าง ๆที่หลากหลายของสังคมในแต่ละกลุ่ม จำนวนยี่สิบกลุ่ม
และการมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันของแต่ละกลุ่มอาชีพ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนด จึงสมควรให้มีประกาศคณะกรรมกรการเลือกตั้ง เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ตามมาตรา 11 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เพื่อให้การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ เช่น ข้อ 4 ลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ของกลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง นอกจากผู้เคยเป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 11 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เช่น ผู้เคยเป็นพนักงานในรัฐวิสาหกิจพนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐ ลูกจ้าง ผู้ซึ่งปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง ประธานหรือกรรมการในคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประธานหรือกรรมการในคณะกรรมการซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฏ คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล บุคคลซึ่งมีกฎหมายให้อำนาจในการออกกฎ คำสั่ง หรือมติใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อบุคคล หรือตำแหน่ง หรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง
ที่น่าสนใจ ตามประกาศข้อ 8 ลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ของกลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชลัมลุก ตามมาตรา 11 (5) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 เช่น เกษตรกรที่เพาะปลูกพืชล้มลุกหรือธัญพืชอันจะเก็บเกี่ยวได้คราวหนึ่งหรือหลายคราวต่อปี หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง
ข้อ 9 ลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ของกลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง ตามมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 เช่น นักวิชาการป่าไม้ พนักงานป่าไม้ นักกี่ฏวิทยา นักวิชาการแผนที่ภาพถ่าย พนักงาน พิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่ตรวจป่า ผู้ปลูกสร้างสวนป่า วนเกษตร อาชีพการนำผลผลิตจากป่ามาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ อาชีพการแปรรูปไม้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไม้ อาชีพค้าไม้ท่อน ค้าไม้แปรรูป อาชีพส่งออกและนำเข้าไม้ อาชีพทำและค้เฟอร์นิเจอร์และสิ่งประดิษฐ์ที่ทำจากไม้ นักวิจัย นักฟื้นฟูปาไม้ จากการถูกทำลาย หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง
นอกจากนี้ ข้อ 20ลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน ของกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตามมาตรา 11 (19) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ. 2561 เช่น (1) กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ คือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งไม่มีนายจ้าง และเป็นอาชีพที่ต้องมี ความชำนาญเฉพาะต้านและต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งถูกกำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น วิชาชีพกายภาพบำบัด วิชาชีพการแพทย์แผนไทย วิชาชีพการสัตวแพทย์ วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน วิชาชีพทันตกรรม วิชาชีพบัญชี วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตัวแทนประกันชีวิต หรือตำแหน่งหรืออาชีพอื่นที่ผู้สมัครยืนยันและมีผู้รับรอง
(2) กลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ คือ ผู้ประกอบอาชีพซึ่งไม่มีนายจ้าง เช่น
(ก) ผู้ประกอบอาชีพค้าขาย
(ข) ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างหรือให้บริการ
(ค) ผู้รับงานไปทำที่บ้าน
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 ราชกิจจาฯ ได้เผยแพร่ ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการเลือกตั้งสว. พ.ศ.2567 โดย เนื้อหาในระเบียบดังกล่าว มีทั้งสิ้น 9 หมวด 172 ข้อ ซึ่งมีการอธิบาย กลุ่มวิชาชีพต่างๆ ในการลงสมัครเลือก สว. โดยเฉพาะข้อ 5.กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน และข้อ 6.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน รวมไปถึง กลุ่มที่ 20 ที่ระบุอื่น ๆ ตกเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ต่อกรณีการระบุ หรืออื่น ๆ เป็นอย่างไร จนทำให้ มีการออกประกาศฉบับล่าสุด มาขยายความให้ชัดเจนขึ้น
อ่านฉบับเต็ม คลิกที่นี่