We Watch ทำ จม.เปิดผนึกถึง กกต.ค้านระเบียบเลือก สว. ชี้ปิดหูปิดตาปิดปาก ปชช.
กลุ่ม We Watch ทำจดหมายเปิดผนึกถึง กกต.เชิญสื่อ-ประชาชน ร่วมกันลงชื่อค้านระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือก สว. ชี้เป็นการปิดปากผู้สมัคร-สื่อ ปิดหูปิดตา ปชช. เรียกร้องงดใช้ระเบียบดังกล่าวชั่วคราวเพื่อแก้ไข จัดทำมาตรการใหม่ให้เปิดกว้าง สอดคล้อง รธน.
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2567 กลุ่ม We Watch ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักศึกษา นักวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน จับตาการเลือกตั้ง ก่อตั้งเมื่อปี 2565 ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พร้อมกับเชิญชวนสื่อมวลชน และประชาชน คัดค้านระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว. 2567
โดย We Watch ระบุว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 วางกรอบที่เข้มงวดจนสร้างบรรยากาศของความกังวลและความหวาดกลัวให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นวุฒิสมาชิก (สว.) เพราะหากไม่ปฏิบัติตามอาจมีบทลงโทษทางอาญาให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 5 ปี ระเบียบของ กกต.
ผู้ร่วมลงชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จึงมีความเห็นว่าระเบียบนี้เป็นการปิดปากผู้สมัคร ปิดปากสื่อมวลชน และปิดหูปิดตาประชาชน มีความจำเป็นต้องคัดค้านและเรียกร้องให้มีการแก้ไข โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ปิดปากผู้สมัคร
ระเบียบดังกล่าวกำหนดให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวได้เพียงการทำเป็นเอกสาร A4 ไม่เกิน 2 หน้า โดยมีข้อความเพียงข้อมูลส่วนตัว รูปถ่ายของผู้สมัคร ประวัติการศึกษา และประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในกลุ่มที่สมัครเท่านั้น แม้จะให้มีการแนะนำตัวทางออนไลน์ได้ แต่ห้ามเปิดเผยให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครรับทราบ ด้วยแนวทางนี้ ในทางปฏิบัติผู้สมัครแทบจะไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียได้ ข้อบังคับเช่นนี้ตัดการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนออกจากการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการทางการเมือง โดยการออกระเบียบไม่ให้ผู้สมัครแนะนำตัวหรือประกาศตัวต่อสาธารณะ แต่ให้คุยกันเองในวงเล็ก ๆ ด้วยข้อมูลที่จำกัดเท่านั้น
2. ปิดปากสื่อมวลชน
นอกจากห้ามผู้สมัคร ระเบียบ กกต. ฉบับนี้กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและผู้เอาใจใส่สังเกตการณ์ในหลายประการ ทั้งการห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ รวมถึงห้ามให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อออนไลน์ ประกอบกับระเบียบยังนิยามคำว่า “แนะนำตัว” ไว้อย่างกว้างขวาง คือ “การบอก ชี้แจง หรือแจกเอกสาร เพื่อให้ผู้สมัครอื่นรู้จัก” ขอบเขตที่กว้างและไม่ชัดเจนนี้ ทำให้ไม่อาจทราบว่าการกระทำถึงขนาดไหนจะถือว่าเป็นหรือไม่เป็นการแนะนำตัวของผู้สมัคร ก่อให้เกิดสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จนอาจเกิดเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนเลือกจะเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อความปลอดภัยเพราะแม้จะไม่ใช่ผู้สมัคร แต่หากการรายงานข่าวนั้นถูกตีความว่าเป็นผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร ซึ่งอาจถือเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและมีโทษเช่นเดียวกันกับผู้สมัคร
3. ปิดหูปิดตาประชาชน
ขอบเขตกฎหมายที่กว้าง ไม่ชัดเจน และโทษทางอาญาที่สูง ประกอบกับการที่ กกต. เองออกมาสื่อสารกับสาธารณะโดยตลอดว่าห้ามมีการหาเสียง แนะนำตัว ประกาศตัว หรือกระทำการที่เข้าข่ายจะมีบทลงโทษ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการบังคับทางอ้อมให้ประชาชนและผู้สมัครจำเป็นต้องจำกัดบทบาทของตนต่อกระบวนการเลือกสว. ส่งผลต่อบรรยากาศการเลือก สว. ที่กำลังจะเกิดขึ้นขาดการมีส่วนร่วมและโปร่งใสเพียงพอ จนสวนทางกับกระแสสังคมที่กำลังเรียนรู้และสนใจกระบวนการเลือก สว.
ดังที่เราได้เห็นผู้ประสงค์จะลงสมัครคัดเลือกต่างทยอยประกาศตัวให้สาธารณะและให้ผู้สมัครคนอื่นได้รู้จัก ระเบียบ กกต. ฉบับนี้มีผลทำให้เกิดบรรยากาศที่ผู้ประสงค์จะสมัคร สว. ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าแนะนำตัว เพราะไม่แน่ใจขอบเขตของการแนะนำตัว จนที่สุดทำให้บรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนลดลง ทั้งยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 78 ที่กำหนดให้ รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง หากปล่อยไว้เช่นนี้ ย่อมเป็นที่น่ากังวลว่าความน่าเชื่อถือของ สว. ชุดใหม่ ย่อมสั่นคลอนและไร้ซึ่งการยอมรับของประชาชน และที่เลวร้ายกว่านั้นหากปล่อยให้มีระเบียบที่ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นนี้ ยิ่งจะลดทอนความศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
1. ระงับการบังคับใช้ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีการแก้ไขเพื่อรองรับหลักการของการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน
2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรกำหนดมาตรการและแผนงานในการส่งเสริมการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบการทุจริตโดยประชาชน เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ผ่านการเปิดกว้างเพื่อรับฟังเสียงประชาชนและสื่อมวลชนที่จะได้รับผลกระทบให้มากยิ่งขึ้น
อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม คลิกที่นี่