อิสระของแบงก์ชาติ ไม่ถูกใจ 'แพทองธาร'
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันชัดเจนว่า กฎหมายพยายามให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอิสระจากรัฐบาล เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ หลายฝ่ายจับตาว่าพรรคเพื่อไทยมองพ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยหรือไม่
เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในการประกาศทิศทางการทำงานของพรรคเพื่อไทยต่อสมาชิกพรรคเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2567 โดยยืนยันชัดเจนว่า กฎหมายพยายามให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นอิสระจากรัฐบาลจึงเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายการคลังถูกใช้งานข้างเดียวอย่างหนักจนหนี้สาธารณะสูงขึ้นทุกปีจากการตั้งงบประมาณขาดดุล โดย ธปท.ไม่ยอมเข้าใจและให้ความร่วมมือ
ความเห็นดังกล่าวถูกแรงสะท้อนกลับไปที่พรรคเพื่อไทย รวมถึงสื่อมวลชนต่างประเทศที่มีการรายงานท่าทีของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยอีกคน ซึ่งการที่เป็นข้อเสนอของ น.ส.แพทองธาร ทำให้เป็นที่จับตามองถึงแนวคิดของพรรคเพื่อไทยที่เห็นว่า พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และถ้าจะแก้ปัญหานี้พรรคเพื่อไทยอาจมีแนวคิดการแก้ไขกฎหมายเหมือนที่รัฐบาลเพื่อไทยในอดีตเคยดำเนินการแต่ไม่สำเร็จ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาปกป้อง น.ส.แพทองธาร ที่ระบุถึงความเป็นอิสระของธปท.ดังกล่าว เป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนมากกว่า โดยนายกรัฐมนตรียืนยันว่ามีเข้าใจในความอิสระของ ธปท. และมีความมั่นใจว่าทำงานร่วมกันได้ รวมถึงให้เกียรติมาโดยตลอด ซึ่งประเด็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เห็นว่าควรต้องปรับลดลง แต่ผู้ว่า ธปท.มีเหตุผลไม่ปรับลด จากนี้รัฐบาลจึงต้องเดินหน้าพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง เพื่อให้ลดดอกเบี้ยลง
นอกจากนายกรัฐมนตรีแล้วยังมีรัฐมนตรีบางคนออกมาชี้แจงแทน น.ส.แพทองธาร โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนหนึ่งเห็นว่า ธปท.ไม่ใช่สถาบันที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่องค์กรที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ และในทางตรงข้าม ธปท.เป็นกลไกของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ที่ประชาชนทุกฝ่ายเข้าถึงและเสนอความคิดเห็นได้ ซึ่งเป็นการออกมาปกป้องหัวหน้าพรรคเพื่อไทยแบบพร้อมหน้ากัน
หากพิจารณาในมุมมองขององค์กรระหว่างประเทศ โดยคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่าธนาคารกลางหลายประเทศเผชิญความท้าทายต่อการดำเนินงานที่เป็นอิสระ โดยเฉพาะเสียงเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก่อนเวลาอันควร และมีแนวโน้มสถานการณ์เช่นนี้จะเพิ่มขึ้น รวมถึงความเสี่ยงถูกแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งความเห็นดังกล่าวเป็นประเด็นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยควรพิจารณา