แผนชิงเลขา ป.ป.ช.คนที่ 9 วัดกำลัง ‘ตำรวจ’ VS ‘ลูกหม้อ’

แผนชิงเลขา ป.ป.ช.คนที่ 9 วัดกำลัง ‘ตำรวจ’ VS ‘ลูกหม้อ’

ว่ากันว่า ขณะนี้เริ่มมีการ “วัดกำลังภายใน” เกิดขึ้นอีกครั้งระหว่างคนที่หนุน “ค่ายตำรวจ” กับคนที่หนุน “ลูกหม้อ” ทั้งกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีอยู่เดิม และกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ ต่างเลือกฝ่ายกันอย่างชัดเจน

KEY

POINTS

  • ศึกใน “องค์กรสนามบินน้ำ” ป่วนหนัก แคนดิเดตคู่ชิงเก้าอี้ “เลขาธิการ ป.ป.ช.” วัดกำลัง “ฝ่ายตำรวจ” สู้กับ “ลูกหม้อ”
  • “บิ๊กกุ้ย” ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ต้องการดัน “พล.ต.ต.อรุณ” อดีตนายเวรคนสนิทถึงฝั่งฝันได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้
  • แต่ต้องชนกับคนในที่มี “สุรพงษ์ อินทรถาวร” มือทำงานด้านปราบโกง อาวุโสลำดับ 1 ให้ได้เสียก่อน

ปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 26 การก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างเป็นทางการ 

โดยนับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ เมื่อปี 2542 เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ยกระดับจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ยุค “สัญญา ธรรมศักดิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2517

องค์กรอย่าง ป.ป.ช. ถือเป็นหน่วยงาน “เบอร์หนึ่ง” ที่ดูแลด้านป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชันของไทย โดยมีอำนาจในการ “ป้องปราม” สอดส่องการทุจริตต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับนักการเมือง หน่วยงานศาล องค์กรอิสระ และข้าราชการต่าง ๆ จึงมีบทบาทอย่างมากในการเมืองไทย โดยเฉพาะในช่วงกว่า 10 ปีแห่ง “วิกฤติความขัดแย้ง” เป็นต้นมา และมักเป็น “ตำบลกระสุนตก” ในช่วงเวลาชี้ชะตาทีเด็ดทีขาดทางการเมือง

จนนำไปสู่วาทกรรม “2 มาตรฐาน” ถูกบางฝ่ายนำมาป้ายสี เนื่องจากเห็นว่าองค์กรนี้มักตัดสินคดีแบบ “ตราชั่งเอียง” กับนักการเมืองค่ายหนึ่งเสมอ ๆ ขณะที่อีกฝ่ายแม้จะถูกร้องเรียน แต่มักรอดพ้นบ่วงไปได้เกือบทุกครั้ง แน่นอนว่าจนถึงปัจจุบันวาทกรรมดังกล่าวยังคงถูกยกมาพูดอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะกรณีล่าสุดเมื่อ “บิ๊กโจ๊กพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ดับเครื่องชนกับ “นายกฯเศรษฐา ทวีสิน” ยื่นเรื่องร้องเรียนกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการเลือก ผบ.ตร. แม้ว่าสุดท้าย “บิ๊กโจ๊ก” จะขอถอนข้อกล่าวหาออกไปแล้ว แต่กระบวนการไต่สวนยังคงอยู่

แต่ที่น่าสนใจคือการ “ชำแหละไส้ใน” องค์กรสนามบินน้ำแห่งนี้ เนื่องจากมีการปล่อยเอกสารร้องคัดค้านการทำหน้าที่ของ “กรรมการ ป.ป.ช.”บางราย โดยอ้างถึงสายสัมพันธ์ทางการเมืองกับ “บิ๊กเนม” รายหนึ่ง ที่ผลักดันให้บุคคลนี้เข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ช.ได้ และพร้อมรับใช้ตอบสนองต่อฝ่ายการเมืองบางฝ่าย 

ปัจจุบันเรื่องนี้เงียบหายไปแล้ว โดยไม่มีการตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอย่างไรกันแน่ นอกจากแค่การปฏิเสธของฝ่ายการเมือง และบุคคลใกล้ชิดกรรมการ ป.ป.ช.รายดังกล่าวเท่านั้น

ประเด็นที่น่าสนใจ สำนักงาน ป.ป.ช.ขณะนี้ กำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน มิใช่แค่บรรดาคณะกรรมการ ป.ป.ช.หลายคนทยอยเกษียณอายุราชการ และมีบางคนได้รับการสรรหาและเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาให้เข้ามาทำหน้าที่แล้วก็ตาม ยังมีส่วนของ “ฝ่ายบริหารภายใน” ซึ่งมี “เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.” กุมบังเหียน ปัจจุบันคือ “นิวัติไชย เกษมมงคล” ก็จะเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย. 2567 เช่นกัน หลังจากได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นเลขาธิการฯ เมื่อปี 2564

สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น ส่วนใหญ่บุคคลที่ได้รับเลือกมักเป็น “ลูกหม้อ” ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. หลายคนทำงานมาตั้งแต่สมัยเป็น “สำนักงาน ป.ป.ป.” ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ราว 50 ปีก่อนด้วยซ้ำ แต่หากนับเฉพาะการก่อตั้งของ ป.ป.ช.เมื่อปี 2542 มีเลขาธิการฯมาแล้ว 8 คน คนแรกคือ “กล้านรงค์ จันทิก” ปัจจุบันเป็น สว. ส่วนคนล่าสุดคือ “นิวัติไชย เกษมมงคล”

อย่างไรก็ดีบรรยากาศการคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.รอบนี้ ค่อนข้าง “ดุเดือด” เพราะไม่ใช่แค่ “ลูกหม้อ” เท่านั้น แต่มี “คนนอก” เข้ามาร่วมชิงเก้าอี้ตัวนี้ด้วย

โดยเต็งหนึ่งที่คาดว่าจะได้รับการคัดเลือกคือ พล.ต.ต.อรุณ อมรวิริยะกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เหลืออายุราชการอีก 4 ปี เขาคือ “คนสนิท” ของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.คนปัจจุบัน

โดย พล.ต.ต.อรุณ เคยเป็น “นายเวร” ของ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ตั้งแต่สมัยนั่ง ผบ.ตร. นอกจากนี้เขายังมี “พี่ชาย” เป็น พล.ต.อมร อมรวิริยะกุล อดีตหัวหน้าสำนักงานรัฐนตรีกระทรวงกลาโหม สมัย พล.อ.ประวิตร เป็น รมว.กลาโหม อีกด้วย 

หลังจาก พล.ต.อ.วัชรพล เกษียณตำแหน่ง ผบ.ตร. และได้รับความเห็นชอบให้เป็นกรรมการ ป.ป.ช.นั้น ได้มีการโอนย้าย พล.ต.ต.อรุณ จากผู้บังคับการกองยุทธศาสตร์ สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มาเป็นหนึ่งในคณะทำงานของประธานกรรมการ ป.ป.ช.

ต่อมา พล.ต.อ.วัชรพล ลงนามคำสั่งรับโอนย้าย พล.ต.ต.อรุณ ให้มาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ภาค 1 ตั้งแต่กลางปี 2562 ซึ่งถือว่า “อยู่ในไลน์” เตรียมขยับขึ้นรองเลขาธิการ และก้าวไปสู่ตำแหน่งเลขาธิการ ตามลำดับ 

โดยในช่วงเวลานั้นเกิดเสียงวิจารณ์สนั่น “องค์กรสนามบินน้ำ” ถึงความเหมาะสม เพราะตำแหน่งดังกล่าวในเวลานั้นมีผู้สมัครถึง 99 ราย จากโควตา 11 เก้าอี้ แต่กลับโอนย้าย “คนนอก” มานั่ง 1 เก้าอี้ เหลือที่ว่างแค่ 10 ที่เท่านั้น

ในที่ประชุม กปปช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางบริหารงานบุคคลของสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งมีบุคคลภายนอกเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และมี “บิ๊กกุ้ย” อยู่ในที่ประชุม โดย กปปช.มีอำนาจแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ภายในสำนักงาน ป.ป.ช. นั้น ว่ากันว่ามีกรรมการ กปปช.บางคนท้วงติงกรณีโอนย้าย พล.ต.ต.อรุณ ดังกล่าว แต่ “บิ๊กกุ้ย” ยกสารพัดเหตุผลมาอ้าง โดยเฉพาะการประสานสำนวนการตรวจสอบเรื่องทุจริตกับตำรวจ จนสุดท้ายที่ประชุมเห็นชอบให้โอนย้ายได้

“เป็นข้อเท็จจริงส่วนหนึ่ง แต่ พล.ต.ต.อรุณ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ป.ป.ช. ต้องการใช้งาน เพื่อขับเคลื่อนงานต้องอาศัยความร่วมมือกับ ตร. ในการสะสางงานเก่า” พล.ต.อ.วัชรพล เคยตอบคำถามเกี่ยวกับความสนิทสนมระหว่างตัวเขากับ พล.ต.ต.อรุณ ไว้

เมื่อ พล.ต.ต.อรุณ ถูกวางตัว “เข้าไลน์” เรียบร้อย ก็ไต่เต้าตำแหน่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2564 ถูกดันนั่งตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่เพิ่งทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการฯได้เพียง 2 ปี กระทั่งในปี 2567 ก้าวขึ้นมาเป็น “เต็งหนึ่ง” ที่จะนั่งเก้าอี้เลขาธิการฯแล้ว

สำหรับคู่แข่งของ “พล.ต.ต.อรุณ” คือ “สุรพงษ์ อินทรถาวร” ที่ถูกแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการฯ ตั้งแต่ปี 2563 ถ้าวัดกันตามการครองตำแหน่ง ควรจะเป็นคนที่ “อาวุโสลำดับ 1” ที่สำคัญเป็น “ลูกหม้อ” ของสำนักงาน มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และมีผลงานด้านการปราบปรามการทุจริตเป็นที่ประจักษ์ ทำงานลักษณะ “ปิดทองหลังพระ” จนได้รับความนิยมชมชอบจากคนภายในจำนวนไม่น้อย

ว่ากันว่า ขณะนี้เริ่มมีการ “วัดกำลังภายใน” เกิดขึ้นอีกครั้งระหว่างคนที่หนุน “ค่ายตำรวจ” กับคนที่หนุน “ลูกหม้อ” ทั้งกรรมการ ป.ป.ช.ที่มีอยู่เดิม และกรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ ต่างเลือกฝ่ายกันอย่างชัดเจน 

ดังนั้นบทสรุปของเรื่องนี้จะจบอย่างไร ใครจะถูกเข้าวินได้นั่งเก้าอี้เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คนที่ 9 ต้องติดตาม