ผู้ตรวจฯโยนเผือกร้อน กกต.ชงศาล รธน.ชี้ขาดคุณสมบัติ รมต. 'พิชิต ชื่นบาน'

ผู้ตรวจฯโยนเผือกร้อน กกต.ชงศาล รธน.ชี้ขาดคุณสมบัติ รมต. 'พิชิต ชื่นบาน'

ผู้ตรวจการแผ่นดิน โยนเผือกร้อนปมคุณสมบัติ 'พิชิต ชื่นบาน' ให้ กกต.ชงศาล รธน.ชี้ขาดแทน เหตุไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ เป็นเรื่องขององค์กรอิสระอื่นดำเนินการ

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยผลวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีร้องเรียนนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 160 (4) และ (5) 

พ.ต.ท.กีรป กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และมาตรา 170 วรรคสามยังกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้อีกด้วย

พ.ต.ท.กีรป กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนมีคำวินิจฉัยแล้ว ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2562 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 29/2563 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2564 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2565 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2567 และคณะกรรมการการเลือกตั้งก็ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 7/2562

ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ปัญหาตามคำร้องเรียนในเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 37 (3) เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่นหรือที่องค์กรอิสระอื่นรับไว้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระนั้นแล้ว ตามมาตรา 37 (4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 กำหนดเป็นเรื่องที่ห้ามมิให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรับไว้พิจารณา

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงไม่อาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงส่งเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามหน้าที่ ต่อไป