บทพิสูจน์ กกต. บนกติกาซับซ้อน เลือก สว.ใหม่ ฝ่าทางตันการเมืองไทย

บทพิสูจน์ กกต. บนกติกาซับซ้อน เลือก สว.ใหม่ ฝ่าทางตันการเมืองไทย

การเลือก สว.ครั้งนี้ จะไม่มีการเลื่อนหรือล่าช้าไปกว่าไทม์ไลน์ที่เคยประกาศไปแล้ว คือต้องเสร็จสิ้นภายใน ก.ค. 2567 เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้ชะลอไปมากกว่านี้ได้ แม้ว่าจะมีคำร้องกล่าวหาเข้ามาก็ตาม แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการ

KEY

POINTS

  • นับหนึ่งทางการเลือก สว.ชุดใหม่ หลังชุดเก่ายุค คสช.หมดวาระลงตั้งแต่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา
  • โยนกติกาสลับซับซ้อนเกิดขึ้นเพราะ สนช.เขียนกฎหมาย กกต.มีหน้าที่ปฏิบัติตามเท่านั้น
  • โชว์ไทม์ไลน์เปิดรับสมัคร 20-24 พ.ค.นี้ คาดประกาศผลได้ภายในเดือน ก.ค. ยืนยันไม่มีเลทอีก
  • เลขา กกต.คอนเฟิร์มผู้สมัคร แนะนำตัวผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกติกา ห้ามโชว์วิสัยทัศน์-หาเสียงเด็ดขาด
  • ไฟเขียว “สื่อ” รายงานข่าวได้เต็มที่ แต่ต้องอยู่ใน “ข้อเท็จจริง”

เข้าสู่ช่วง “นับหนึ่ง” อย่างเป็นทางการ สำหรับเส้นทางการเลือก “สว.ชุดใหม่” เข้าไปนั่งในสภาฯสูง หลังจาก พ.ร.ฎ.เลือก สว. 2567 มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ สว.ชุด คสช.หมดวาระลงเมื่อ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่

ต้องไม่ลืมว่า สว. คือหนึ่งใน “เสาหลัก” สำคัญของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” นอกจากมีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และให้ความเห็นชอบบุคคลไปนั่งในองค์กรอิสระแล้ว ยังมีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาล รวมถึงชี้นำทิศทางของการเมืองไทยอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงกว่า 10 ปีที่เกิด “วิกฤติความขัดแย้ง” สว.คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

ทว่า กติกาการเลือก สว.ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ค่อนข้างยากลำบาก จนมีบางฝ่ายออกมาเหน็บแนมว่า “ซับซ้อนที่สุดในโลก” แต่ก็ยังมีหลายคนเสนอตัวเข้าไปชิงดำขอนั่งเก้าอี้ตัวนี้ในสภาฯสูง เพื่อหวังแก้ไข เปลี่ยนแปลงประเทศ 

แบ่งเป็น 20 กลุ่มวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นคนดัง เซเลบริตี้ทุกแขนง คนในวงการบันเทิง นักวิชาการด้านการเมือง กูรูเศรษฐกิจ อดีตทหาร ตำรวจ ข้าราชการ รวมถึงประชาชนทั่วไป ปัจจุบันมีผู้เข้ามาขอใบสมัคร สว.ก่อนวันเปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.จนถึงวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา มียอดรวมประมาณ 9,833 คน และคาดว่าจะพุ่งทะลุ 1 หมื่นคนในวันที่ 14 พ.ค.

โดยไทม์ไลน์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า จะเปิดรับสมัครผู้เข้าเลือก สว.ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ค.นี้ 

หลังจากนั้น กำหนดวันเลือก สว. แบ่งเป็น วันเลือกระดับอำเภอ วันที่ 9 มิ.ย. 2567 วันเลือกระดับจังหวัด วันที่ 16 มิ.ย. 2567 วันเลือกระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย. 2567 และประกาศผล กกต.ภายในเดือน ก.ค.นี้

ประเด็นที่น่าสนใจในการเลือก สว.ครั้งประวัติศาสตร์นี้คือ ความเคลื่อนไหวของ “คณะก้าวหน้า-ไอลอว์” ที่เดินเกมรณรงค์ให้ประชาชนสมัคร สว.เพื่อใช้ “เสียงอิสระ” โหวตเลือก สว.จากภาคประชาชน เข้าไป “รื้อโครงสร้าง” แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ก็ถูกจับตาเช่นเดียวกันว่า หมิ่นเหม่ทำผิดกฎหมายหรือไม่

“สามารถทำได้ เป็นไปตามระเบียบของ กกต. ยอมรับทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีใครใหญ่ไปกว่ากฎหมาย ถ้าผู้สมัครรู้เห็นเป็นใจเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์จะต้องรับโทษ ดังนั้นขอให้ผู้สมัคร สว.ระมัดระวังตัวเองด้วย” คือถ้อยความยืนยันจาก “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ในกิจกรรมพบปะพูดคุยกับสื่อมวลชนวานนี้ (14 พ.ค.)

ในวันดังกล่าว “แสวง” อธิบายถึงที่มาที่ไปของการเลือก สว.ชุดใหม่ เนื่องจากมีข้อสงสัย-ข้อถกเถียงค่อนข้างมาก โดยยืนยันในงานหลายครั้งว่า “ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ต้องเข้าใจว่า กกต.ไม่ได้เป็นผู้เขียนหรือออกแบบ แต่มีที่มาจากสภาฯ ก็คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขณะนั้นเป็นผู้เขียน และ กกต.ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ตามกติกาดังกล่าว”

แสวง ยืนยันว่า กกต.ฟังทุกความคิดเห็นและนำมาปรับปรุงแก้ไขเท่าที่เห็นกฎหมายให้ กกต.สามารถทำได้ ยอมรับว่าการเลือก สว.ครั้งนี้มีความสลับซับซ้อน ยังคงมีความเห็นต่าง มองในสิ่งที่ตัวเองต้องการเห็น สิ่งที่จะทำให้เราเดินไปถึงจุดหมายร่วมกันได้คือกติกา หากแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานกติกาเรื่องก็จะง่าย ความเห็นต่างกันนั้นสามารถมีได้ แต่ต้องรู้ว่ากติกาเขียนเอาไว้ว่าอย่างไร บางครั้ง กกต.ไม่ได้คิดต่างจากประชาชน แต่ต่างกันแค่ที่ยืน ในฐานะที่เป็นกรรมการก็มีหน้าที่ทำตามกฎหมาย น้อยกว่า มากเกินกว่ากฎหมายก็ไม่ได้ นอกจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพที่ กกต.จะให้เพิ่มขึ้นมา

“รัฐธรรมนูญต้องการให้ได้ สว.ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.พยายามออกแบบเพื่อให้กระบวนการไปถึงตรงนั้นให้ได้ ขอให้เดินมาสมัคร และมีสิทธิได้รับเลือก ไม่ใช่ไปตั้งกลุ่มก๊วนถือว่ามีพวกมากก็ได้กับการคัดเลือก ดังนั้นเป็นไปตามกฎหมายเป็นธรรมและให้โอกาสคนทั่วไป คิดว่าน่าจะมีคนอีกเยอะที่ไม่ได้พูดอะไร แล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้เป็นสิ่งที่เขาสามารถสู้ได้ การป้องกันการเลือกไม่สุจริต สมมติมีการฮั้วแลกคะแนนกัน ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง สำนักงานมีข้อมูลไม่ว่าจะทั้งบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ เราเก็บข้อมูลมาโดยตลอด การที่กฎหมายออกแบบใหม่มีการเลือกไขว้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้ออกมาคิดว่าจะป้องกันการฮั้วได้ระดับหนึ่ง” แสวง กล่าว

ในส่วนประเด็นเรื่องผู้สมัคร สว.สามารถแนะนำตัวผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ซึ่งได้รับความนิยมในยุคนี้ได้หรือไม่นั้น “แสวง” กล่าวว่า ทำได้ หมายถึงว่า ในการเลือก สว.ครั้งก่อนปี 2562 แนะนำตัวผ่านผู้สมัครเท่านั้น คือหมายความว่าให้แต่ทำไม่ได้อยู่แล้วตามสภาพ ดังนั้นครั้งนี้ผู้สมัคร สว.สามารถแนะนำตัวผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มไหน แต่สาระของการแนะนำตัวให้เป็นไปตามกฎหมาย เท่าที่แบบ สว.3 เช่น ประวัติส่วนตัว การศึกษา ประสบการณ์การทำงานที่เคยทำมาก่อน ห้ามพูดลักษณะแสดงจุดยืน หรือพูดสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นที่เป็นไปลักษณะการขอคะแนนเสียง หรือแสดงวิสัยทัศน์ เท่านั้นเอง ยืนยันว่าทำได้

“อย่างที่บอกว่า ระเบียบแนะนำตัวของ กกต.ออกมาสำหรับผู้สมัคร เขาจะดูแลของเขาเอง แต่สื่อยังทำงานได้ปกติ อะไรที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นข่าว เขาลงสมัครเป็นข้อเท็จจริง รายงานได้เลย มันคือการเสนอข่าว ไม่ได้ห้าม การห้ามคือ ห้ามแนะนำเขาไปพูดในลักษณะหาเสียง จะกระทบเขาหน่อย แต่สื่อสามารถลงข่าวได้ว่า คนดังลงเขตนี้ หรือคนนี้มีประวัติอย่างนู้นอย่างนี้ ขอเป็นข้อเท็จจริง ถ้าเป็นเรื่องอื่นคือกฎหมายอื่น ต้องระมัดระวัง” แสวง กล่าว

แสวง คอนเฟิร์มอีกว่า สื่อยังสามารถนำเสนอข่าว หรือจัดรายการวิเคราะห์ข่าวที่เกี่ยวกับการเลือก สว.ได้ รวมถึงสามารถเชิญนักวิชาการมาวิเคราะห์หรือแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเลือก สว.ได้ อย่างไรก็ดีไม่มีระเบียบเกี่ยวกับการเลือก สว.ใด ๆ ที่บังคับใช้กับสื่อมวลชน แต่ต้องระวังไม่ให้นำเสนอข่าวในลักษณะเป็นการสนับสนุนการหาเสียงของผู้สมัคร สว.รายใดรายหนึ่ง เพราะหากมีการร้องเรียน แล้วพบว่าเป็นการสนับสนุนการหาเสียงของผู้สมัคร สว. เป็นประโยชน์กับผู้สมัครจริง ผู้สมัครรายนั้นจะมีโทษ

ขณะที่หลายคนอาจกังขาว่า หากสื่อไปเกาะติดผู้สมัคร สว.บางคนที่มีดีกรีเป็น “นักวิชาการ” หรือ “กูรู” ด้านใดด้านหนึ่ง ยังคงเชิญมาออกรายการ หรือสัมภาษณ์ได้หรือไม่นั้น แสวง ยืนยันว่า ยังสามารถทำได้เป็นปกติ แต่ผู้สมัคร สว.ที่ถูกเชิญมาออกรายการ หรือแม้แต่สื่อมวลชนที่สมัคร สว.ครั้งนี้ ขณะจัดรายการผ่านสื่อ ไม่สามารถแนะนำตัว หรือจูงใจใด ๆ ได้ หากกระทำการดังกล่าวจะมีความผิดทันที

ส่วนที่ว่าหากสื่อมีการเชิญบุคคลที่สมัคร สว.มาออกรายการบ่อย ๆ จะถูกมองว่าโน้มเอียงให้กับผู้สมัคร สว.บางคนที่ไม่สามารถเข้าถึงสื่อได้หรือไม่ แสวง กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของประชาชนที่เลือกรับชม แต่หากมีการร้องเรียนเข้ามาก็ต้องตรวจสอบ หากพบว่าบ่อยครั้งเข้า จะมีการเตือนไปยังผู้สมัคร สว.คนดังกล่าว ห้ามกระทำการอีก

นอกจากนี้ “แสวง” ยืนยันว่า การเลือก สว.ครั้งนี้ จะไม่มีการเลื่อนหรือล่าช้าไปกว่าไทม์ไลน์ที่เคยประกาศไปแล้ว คือต้องเสร็จสิ้นภายใน ก.ค. 2567 เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้ชะลอไปมากกว่านี้ได้ แม้ว่าจะมีคำร้องกล่าวหาเข้ามาก็ตาม แต่ทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการ

พร้อมยกตัวอย่าง หากกรณี กกต.ไม่รับสมัครบุคคลใด สามารถร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 3 วันก่อนวันเลือก สว. และศาลฎีกาจะต้องตัดสินให้แล้วเสร็จ 1 วันก่อนวันเลือก สว. หากไม่แล้วเสร็จ กระบวนการเลือก สว.จะต้องดำเนินการต่อไป เท่าที่มีผู้สมัครอยู่ หากสุดท้ายศาลคืนสิทธิให้ผู้สมัคร ก็ไม่กระทบกระบวนการที่ผ่านมาแล้วแต่อย่างใด เช่นเดียวกับกรณีการลบชื่อผู้สมัคร ก็ต้องร้องต่อศาลภายใน 3 วัน และศาลต้องตัดสิน 1 วันก่อนวันเลือก สว. หากไม่แล้วเสร็จ กระบวนการจะดำเนินต่อเช่นเดียวกับกรณีข้างต้น

ทั้งหมดคือคำอธิบายจาก “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.เริ่ม “นับหนึ่ง” เลือก สว.ชุดใหม่ ที่ยังค้างคาใจสาธารณชนบางส่วนถึงความสลับซับซ้อนในการเลือกบุคคลไปนั่งในสภาฯสูง

นับเป็นอีกบทพิสูจน์ครั้งสำคัญของ กกต.ที่จะเดินหน้าจัดการเลือก สว.ให้ได้ “สุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย” หรือไม่