กกต.แจงกลุ่มอาชีพเลือก สว. 'สตรี' คือหญิงโดยกำเนิด 'ชาติพันธ์ุ' ยึดตาม พม.

กกต.แจงกลุ่มอาชีพเลือก สว. 'สตรี' คือหญิงโดยกำเนิด 'ชาติพันธ์ุ' ยึดตาม พม.

กกต.ตอบข้อซักถาม 2 กลุ่มอาชีพเลือก สว. 'กลุ่มสตรี' นับเฉพาะเพศหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น 'กลุ่มชาติพันธ์ุ' ยึดตามความหมายของ พม.

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอบข้อสอบถามเกี่ยวกับกลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 11 (14) และ (15) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) พ.ศ. 2561 เกี่ยวกับกลุ่มอาชีพ ตามมาตรา 11 (14) กลุ่มสตรี และ (15) กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น หรืออื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ดังนี้

1. กลุ่มอาชีพที่ 14 "กลุ่มสตรี" มีความหมายอย่างไรและรวมถึงบุคคลใดบ้าง นับรวมบุคคลที่มีเพศชายที่เชี่ยวชาญในเรื่องสิทธิสตรีและหญิงข้ามเพศด้วยหรือไม่ หรือนับเฉพาะบุคคลที่มีเพศกำเนิดเท่านั้น

คำตอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (141) "กลุ่มสตรี" หมายความเฉพาะบุคคลที่มีเพศเป็นหญิงโดยกำเนิดเท่านั้น

กกต.แจงกลุ่มอาชีพเลือก สว. \'สตรี\' คือหญิงโดยกำเนิด \'ชาติพันธ์ุ\' ยึดตาม พม.  

2. กลุ่มอาชีพที่ 15 จะมีกระบวนการและหลักเกณฑ์ในการพิสูจน์ความเป็น "กลุ่มอัตลักษณ์"และ "ชาติพันธุ์" อย่างไร

คำตอบ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีหนังสือไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อขอข้อมูลในการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของนุษย์ ได้ให้ความหมายของ "กลุ่มอัตลักษณ์" และ "ชาติพันธุ์" ดังนี้

"อัตลักษณ์ทางเพศ" หมายถึง การกำหนดเพศสภาพตามความรู้สึกภายในของบุคคลในการเป็นชาย หญิง หรือเพศสภาพที่ไม่ได้อยู่ในระบบทวิเพศ หรือการมีหรือไม่มีเพศสภาพหรือเพศสภาพอื่น ๆ โดยอาจไม่สอดคล้องกับคุณลักษณะทางเพศก็ได้

กกต.แจงกลุ่มอาชีพเลือก สว. \'สตรี\' คือหญิงโดยกำเนิด \'ชาติพันธ์ุ\' ยึดตาม พม.

"ชาติพันธุ์" หมายถึง เป็นกลุ่มชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างในด้านต่าง ๆ จากคนส่วนใหญ่ เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี เป็นกลุ่มคนที่สืบทอดจากบรรพบุรุษเดียวกัน (สายเลือด) มีลักษณะทางชีวภาพและรูปพรรณเหมือนกัน (เชื้อชาติ) มีพันธะเกี่ยวข้องสืบเนื่องกันมายาวนาน แสดงเอกลักษณ์ออกมาโดยการผูกพันลักษณะของสัญชาติ และเชื้อชาติเข้าด้วยกันมีวัฒนธรรมประเพณีและภาษาพูดเดียวกัน รวมตัวกันเป็นพหุวัฒนธรรมมุ่งมั่นในการอนุรักษ์พัฒนาสืบทอดบนพื้นฐานดินแดนและอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษของตน โดยจำแนกพื้นที่จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานได้ 4 ลักษณะ ได้แก่

1. กลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูง หรือ ชนชาวเขา จำนวน 13 กลุ่ม ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง (แม้ว) เย้า (เมี้ยน) ลีซซู (ลีซอ) ลาหู่ (มูเชอ) อาข่า (อีก้อ) ลั่วะ ถิ่น ขนุ จีนฮ่อ คะอิ่น และปะหล่อง (ดาลาอั้ง)

2. กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ราบ จำนวน 38 กลุ่ม ได้แก่ มอญ ไทลื้อ ไททรงดำ ไทใหญ่ ไทเขิน ไทยอง ไทหญ่า ไทยวน ภูท ลาวครั่ง ลาวแง้ว ลาวกา ลาวตี้ ลาวเวียง แสก เขมร เซเร ปรังบรู (โซ่) โซ่ง โช (ทะวิง) อืมปี ก๋อง กุลา ชอุโอจ (ซุอุ้ง) กูย (ส่วย) ฮกรู (ซาวบน) ฌ้อ โย้ย เขมรถิ่นไทย เวียดนาม (ญวน) เญอหมี่ ซอ (บีซู) ชอง กระชอง มลายู กะเลิง และลาวโซ่ง (ไทดำ)

3. กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานในทะเล หรือ ชาวเล จำนวน 3 กลุ่ม ได้แก่ มอแกน มอแกลน และอูรักละโว้ย

4. กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่า จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ มลาบรี่ (ตองเหลือง) และมานิ (ซาไก)

ทั้งนี้ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การมีลักษณะอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันตามมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561