'ก้าวไกล' แบ่งรับแบ่งสู้น้ำหนักคดียุบพรรค จ่อแถลงคำชี้แจงต้น มิ.ย.

'ก้าวไกล' แบ่งรับแบ่งสู้น้ำหนักคดียุบพรรค จ่อแถลงคำชี้แจงต้น มิ.ย.

'ชัยธวัช' แบ่งรับแบ่งสู้น้ำหนักคดียุบพรรค 'ก้าวไกล' จ่อแถลงคำชี้แจงต้น มิ.ย. หลังศาล รธน.ไฟเขียวขยายเวลาเป็นครั้งสุดท้าย - ปม 'บุ้ง ทะลุวัง' ชี้สภาฯควรให้ความสำคัญเรื่องคดีการเมือง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจริงจัง จับตาถก กมธ.นิรโทษกรรมฯ วันนี้

เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในการต่อสู้คดียุบพรรค จากกรณีถูกกล่าวหาปฏิปักษ์และล้มล้างการปกครอง ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากศาลขยายเวลาเป็นครั้งสุดท้ายในการยื่นคำชี้แจงเป็นวันที่ 2 มิ.ย. 2567 โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อศาลอนุญาตขยายเวลาแบบนี้ เราจะมีเวลาทำคำชี้แจงครั้งสุดท้าย ให้สมบูรณ์ที่สุดเพิ่มอีก ส่วนเรื่องพยานบุคคลเมื่อศาลขยายเวลาให้เพิ่ม พรรคก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก แต่การเลือกใครไปเป็นพยาน ไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ถูกร้อง แต่อยู่ที่ศาล ที่ผ่านมาศาล จะเรียกเฉพาะพยานที่ศาลคิดว่าจำเป็นเท่านั้น 

เมื่อถามว่า ยังมั่นใจเหมือนเดิม หรือไม่ว่า น้ำหนักคดีนี้ไม่ถึงยุบพรรคนั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า เหตุผลในการต่อสู้คดีมีหลายประเด็น ทั้งเรื่องข้อเท็จจริง ที่ไม่เพียงพอที่จะกล่าวหาว่า เรากระทำการล้มล้างการปกครองถึงขั้นที่จะต้องวินิจฉัยให้ยุบพรรค เป็นแค่ประเด็นหนึ่งเท่านั้น แต่จะมีอีกหลายประเด็นพรรค ก.ก.จะแถลงต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการในข้อต่อสู้ของพรรค หลังจากที่มีการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไปแล้วในช่วง ต้นเดือน มิ.ย.

ส่วนกรณีการเสียชีวิตของ "บุ้ง ทะลุวัง" ผู้ต้องหาตามคดี ม.112 นั้น นายชัยธวัช กล่าวว่า เรื่องนี้ยิ่งทำให้สภาฯ ควรให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องคดีการเมือง และปัญหาในกระบวนการยุติธรรม จริงจังมากกว่านี้ สิ่งที่รัฐบาล และสภาฯ ทำได้มีหลายเรื่อง เช่น การนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ที่เรื่องอยู่ในคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยข้อถกเถียงสำคัญหนึ่ง ที่ยังไม่มีข้อยุติในกมธ. คือว่า คดีที่ถูกกล่าวหาตาม มาตรา 112 ควรจะเข้าขายได้รับนิรโทษกรรม ด้วยหรือไม่ ซึ่งตั้งเป้าว่าจะมีการทำรายงานเป็นข้อเสนอต่อสภาฯ ให้เสร็จทันในการเปิดประชุมสภาฯสมัยหน้า โดยวันนี้ (16 พ.ค.) ที่สภาฯ ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จะมีการคุยประเด็นเหล่านี้ โดยในระหว่างที่เรายังไม่มีข้อสรุป เรื่องแนวทางในการทำกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้าสามารถทำร่วมกันได้โดยไม่แบ่งแยกฝ่ายค้านรัฐบาล ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีของบุ้ง เป็นไปได้ที่เราจะหยิบยกสถานการณ์เฉพาะหน้ามาหารือกัน 

นายชัยธวัช อยากส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล และนายกฯ ว่า ถ้าปล่อยให้ สถานการณ์ไม่เปลี่ยนไปเลย แม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ไม่น่าจะส่งผลดีต่อรัฐบาล และไม่น่าจะส่งผลดีต่อสังคมไทยเอง ตนยืนยัน ว่าฝ่ายบริหาร รัฐบาลมีบทบาทอย่างมีนัยยะสำคัญขึ้นอยู่กับว่า มุ่งมั่น และมีนโยบายที่จะทำหรือไม่ไม่ได้ว่าทุกเรื่องเป็นเรื่องของศาลเท่านั้น หรือแม้กระทั่งในฝั่งตุลาการ ตนเชื่อว่าถ้า รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเราเชื่อว่าจะมีผลต่อการทำงานในชั้นของฝ่ายตุลาการด้วย ไม่ได้บอกว่าให้ไปแทรกแซง แต่คิดว่าถ้ารัฐบาลมีนโยบายชัดเจนนั้น มันจะมีผลแน่ ๆ