‘นักวิชาการ’ แนะ ผู้ต้องหา ม.112 ขอพระราชทานอภัยโทษได้ ไม่ใช่ให้สภา นิรโทษฯ

‘นักวิชาการ’ แนะ ผู้ต้องหา ม.112 ขอพระราชทานอภัยโทษได้ ไม่ใช่ให้สภา นิรโทษฯ

“มุนินทร์” ชี้ กระบวนการยุติธรรม คดี ม.112 มีปัญหา บางคนไม่ควรถูกตั้งข้อหาแต่แรก ลั่น ควรได้รับ “นิรโทษกรรม” เหตุ โทษไม่ได้สัดส่วน พันเคลื่อนไหวทางการเมือง “เจษฎ์” แนะ ต้องแยกพฤติกรรมที่เข้าข่ายความผิดให้ชัด ระบุ ยกโทษได้ โดยขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช้ให้สภานิรโทษฯ

นายมุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เปิดเผยในรายการคมชัดลึก ทางช่องเนชั่น ทีวี ถึงกรณีการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ระหว่างถูกคุมขังว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าของกระบวนการยุติธรรมไทย เป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายที่มีปัญหามาตลอด ไม่มีใครอยากเห็นการสูญเสียชีวิตของคนที่ถูกกล่าวหาทำผิด ม.112 และครั้งนี้ถือเป็นโศกนาฎกรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย ทั้งนี้ปัญหาในกลุ่มของ ม.112 เป็นปัญหาตั้งแต่ตัวกฎหมาย โทษได้สัดส่วนหรือไม่ กระบวนการพิจารณา ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญหรือหลักสิทธิมนุษยชนสากลหรือไม่ คนเหล่านี้ควรได้รับโอกาสประกันตัว และได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์ คนที่เข้ากระบวนการกล่าวหา ม.112 จะพบว่าส่วนใหญ่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทำผิดร้ายแรงมาก เทียบกันอาจมากกว่าความผิดฐานฆ่าคนตาย องค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมมีความกังวลในการบังคับใช้กฎหมาย การใช้ดุลพินิจจะถูกจำกัดโดยความร้ายแรงของเรื่อง 

นายมุนินทร์ กล่าวว่า ถ้าการตั้งข้อกล่าวหาเป็นไปตามหลักกฎหมาย ก็สมควรตั้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เราต้องนิยามว่าการกระทำใดเป็นการดูหมิ่นตาม ม.112 แต่ช่วงหลังเริ่มขยายไปเป็นกรณีอื่น เช่น ของบุ้ง เป็นเรื่องของการทำโพล แน่นอนอาจจะไม่เหมาะสมในความรู้สึกหลายคน แต่ถามว่าเป็นความผิดในตัวมันเองตาม ม.112 หรือไม่ ก็ไม่ได้เป็น 

“ถ้าเกิดคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยที่รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้เป็นความผิดตามมาตรานี้ จะมีความรู้สึกต่อต้าน ว่าไม่รับความเป็นธรรม จะมีปัญหา ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม จะมีคนจำนวนนึงถามว่าเขาควรเข้าไปอยู่ในกระบวนการหรือไม่ ก็อาจจะไม่ แต่คดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรานี้จะมีแนวทางดำเนินการอยู่ ผู้พิพากษามีความกังวล และมีแนวทางข้อกำหนดภายในที่ทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผมมองว่ามีปัญหาหลายส่วน ทั้งกฎหมาย กระบวนการการใช้ดุลพินิจ จะมีตำรวจและอัยการสักกี่คนไม่สั่งฟ้อง เพราะมองว่าไม่น่าจะเข้าเงื่อนไข ผมเชื่อว่าหลายเคสส่งไปก่อนแล้วสู้กันในศาล ทั้งที่มีคนไม่ควรเข้าตั้งแต่แรก” นายมุนินทร์ ระบุ 

นายมุนินทร์ กล่าวว่า ผู้ต้องหาคดี ม.112 ควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น มาตรานี้มีโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ทำลายหลายหลักการพื้นฐาน ถ้ามองจากมุมต่างชาติเขาคงไม่มีกฎหมายแบบนี้ แต่บ้านเราแตกต่าง จำเป็นต้องมีกฎหมาย แต่ต้องได้สัดส่วนกับความผิด บางคนคนถูกลงโทษเกินไป ศาลสั่งจำคุกเป็นสิบๆปี มากกว่าฆ่าคนอีก เป็นเรื่องแปลกประหลาดมากในทางกฎหมาย จึงมีเหตุผลที่จะนิรโทษกรรม ผู้ต้องหาคดีเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง 2เรื่องนี้พันกันค่อนข้างมากในช่วง10ปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ นายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า เมื่อมีคนเสียชีวิตก็น่าเศร้าเสียใจ แต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับบุ้ง คือการต่อสู้กับกระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้เสียชีวิต และต้องแยกเรื่องต่างๆ ออกจากกัน กระบวนการยุติธรรมตนเห็นด้วยกับทุกท่าน สิทธิการประกันตัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ถ้าถูกกล่าวหาต้องได้สิทธินี้ เกณฑ์การพิจารณาของศาลคือไม่หลบหนี ไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไม่ทำผิดเพิ่มเติม 

ทั้งนี้ กรณี ม.112 การกระทำดูหมิ่น ศาลยังไม่พิพากษา ปล่อยออกมาแล้วไปกระทำการดูหมิ่นอีก เมื่อเทียบกรณียิงคนตาย ศาลยังไม่พิพากษาแปลว่ายังไม่ได้ทำผิด ออกมาแล้วแทงคนตายอีก ก็ยังไม่ได้ถูกพิพากษา ก็แปลว่ายังไม่ได้ทำผิด ถึงแม้จะบอกว่าความหนักหนาสาหัสต่างกัน แต่ในแง่กฎหมายพิจารณาความผิดเหมือนกัน ศาลก็พิจารณาสิ่งที่ถูกกล่าวหาถ้าไปทำในสิ่งที่ถูกกล่าวหาอีก แม้ยังไม่ได้ถูกตัดสินก็ตาม ในแง่การปล่อยตัวชั่วคราว ผู้เกี่ยวข้องต้องอธิบายด้วยว่าการไม่ปล่อยตัวชั่วคราวไม่เพียงแต่คุ้มครองสังคม แต่คุ้มครองผู้ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวด้วย เพื่อไม่ให้ไปถูกตำรวจติดตามไล่ล่า มีโอกาสเสียชีวิตถ้าหนีหรือต่อสู้ แต่ถ้าถูกจำขังไม่มีปัญหา ไม่ให้ไปทำผิดเพิ่ม

“ผมเห็นด้วยว่า ม.112 อาจต้องมานั่งคุยกัน ถ้าโทษหนักเกินไป ปรับตรงโทษผมคิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แล้วต้องทำความเข้าใจกันว่า หมิ่นประมาทคืออะไร ดูหมิ่นคืออะไร แสดงความอาฆาตมาตร้ายคืออะไร แสดงความคิดเห็น วิพากย์วิจารณ์ ผมไม่ปฏิเสธเลยว่าทำได้แม้กระทั่งต่อพระมหากษัตริย์ แต่ต้องทำความเข้าใจกันให้ถูก อะไรคือดูหมิ่น อะไรคือหมิ่นประมาท อะไรคือแสดงความคิดเห็น อะไรคือวิพากย์วิจารณ์ อะไรคือจาบจ้วงล่วงเกิน ด่าทอว่ากล่าว ต้องทำให้ชัดเจน” นายเจษฎ์ ระบุ 

นายเจษฎ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่อง ม.112 ควรนิรโทษกรรมหรือไม่ นั้น ยกโทษให้กันได้ แต่ต้องไปขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะความผิดตาม ม.112 ต้องดูว่ามุ่งคุ้มครอง 3 พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ 1.องค์พระมหากษัตริย์ 2. พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของรัฐ และ 3.สถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะสถาบันหลักของบ้านเมือง ทั้งหมดแสดงออกโดยตัวแทนคือพระมหากษัตริย์ ถ้าจะให้ได้รับการยกโทษ ต้องขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ใช่ให้สภานิรโทษกรรม 

นายเจษฎ์ กล่าวอีกว่า ความผิดตาม ม.112 การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย แม้จะพูดในบริบทการเมือง ก็ต้องเข้าใจว่าพอทำไปแล้ว ไม่ใช่ความผิดทางการเมือง ต้องแยกจากกันให้ได้