เปิด ‘คดีหมดอายุความ’ คามือ ป.ป.ช. ครหาปล่อยผี 'การเมือง-บิ๊กเนม'
จะเห็นได้ว่าแม้จะมี “กฎหมาย-ระเบียบ” ออกมาบังคับใช้แก่เจ้าหน้าที่ และคนทำคดีของ ป.ป.ช. แล้วก็ตาม แต่กลับยังมีการ “ปล่อยผี” ให้บางคดี โดยเฉพาะ “คดีสำคัญ” หมดอายุความลงได้อีก
KEY
POINTS
- เปิดข้อมูล ป.ป.ช.ทำคดี “ขาดอายุความ” ไม่ใช่แค่ “อิทธิพล” แต่ทั้ง “สุนทร-เสนาะ” ก็ปล่อยผีมาแล้ว
- ปัญหาสำคัญ “บุคลากร” ไม่เพียงพอ แม้จะพยายามของบเพิ่ม-ใช้เทคโนโลยีช่วยแล้วก็ตาม แต่มี “คดีค้างท่อ” นับพันสำนวน
- แม้คลอดกฎหมาย-ระเบียบใหม่ ต้องทำคดีให้เสร็จอย่างช้าใน 3 ปี จนท.คนไหนปล่อยหมดอายุความ ต้องรับโทษ แต่ยังไม่ช่วยมากนัก
- วัดฝีมือคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ เข้ามาสางปัญหาสำคัญ ยกระดับ CPI ไทยให้ “โปร่งใส” บนเวทีโลก
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” อีกครั้ง พลันที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 พิพากษา “ยกฟ้อง” จำเลยบางรายในคดีก่อสร้างอาคาร “วอเตอร์ฟร้อนท์” เมืองพัทยา จ.ชลบุรี โดยหนึ่งในนั้นคือ “อิทธิพล คุณปลื้ม” บ้านใหญ่ชลบุรี อดีต รมว.วัฒนธรรม เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้นายกเมืองพัทยา แม้จะมีความผิดก็ตาม
ในคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตอนหนึ่งระบุถึงพฤติการณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ไม่ได้มุ่งหมายให้การดำเนินคดีอยู่ภายในกรอบเวลาการฟ้องคดีภายในวันที่ 10 ก.ย. 2566 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 (นายอิทธิพล) เกินระยะเวลา 15 ปี นับแต่วันที่กล่าวหาว่ากระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ กรณีจึงไม่ต้องวินิจฉัยการนำบทบัญญัติกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีได้หรือไม่ตามข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งห้า เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
โดยจำเลยที่ 6 ถึงที่ 10 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 แต่คดีขาดอายุความแล้ว จึงต้องยกฟ้องโจทก์ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
นั่นจึงนำไปสู่การตั้งคำถามถึงกระบวนการดำเนินคดีของ “องค์กรสนามบินน้ำ” อีกครั้งว่า มีการ “ปล่อยผี” นักเลือกตั้งบ้านใหญ่อีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา ป.ป.ช.กำลังถูกท้าทายอย่างมากถึง “มาตรฐาน” และ “จริยธรรม” ในการปฏิบัติหน้าที่ถึงการดำเนินคดีเกี่ยวกับ “นักการเมือง” และ “บิ๊กเนม” ต่าง ๆ
ยกตัวอย่างกรณีล่าสุด “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่เคยยื่นร้องคัดค้านการทำหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช.รายหนึ่ง โดยอ้างถึงสายสัมพันธ์กับ “บิ๊กเนมนักการเมือง” มีพฤติการณ์ “ทำงานรับใช้นาย” ทำให้เขาเตรียมล่า 20,000 ชื่อ เพื่อยื่นร้องต่อประธานรัฐสภา ให้ถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช.ออกจากตำแหน่งด้วย
หรือแม้แต่กรณีศาลปกครองสั่งปรับ สำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจาก “ยื้อ” ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล “คดีนาฬิกาเพื่อน” ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกฯ กลายเป็นเรื่อง “อื้อฉาว” จนโดนวิพากษ์วิจารณ์มาแล้ว หลังจาก “ตีตก” คดีดังกล่าว โดยประดิษฐ์วาทกรรม “ยืมใช้แบบคงรูป” ออกมา จนสุดท้ายสื่อและ “วีระ สมความคิด” ต้องไปร้องขอให้เปิดเผยข้อมูลการไต่สวนคดีนี้ แต่ ป.ป.ช.ก็ยื้อสุดกำลังมาแรมปี
จะเห็นได้ว่า แค่ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.ทำข้อกล่าวหา “ขาดอายุความ” ไปแล้วหลายคดี ส่วนใหญ่เป็นคดีกล่าวหา “ผู้บริหารท้องถิ่น” และคดีการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน แต่ก็มีคดีที่มีผู้ถูกกล่าวหาระดับ “นักการเมืองใหญ่” หลายคนเช่นกัน
ยกตัวอย่าง “สุนทร วิลาวัลย์” หรือ “โกทร” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี นักการเมืองลายครามแห่งลุ่มน้ำบางปะกง คดีสนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐออกโฉนดที่ดินบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี ในจำนวน 2 สำนวน “หมดอายุความ” ครบ 20 ปีไปแล้ว 1 สำนวน เหลือคดีรุกป่าอีกหนึ่งสำนวน ที่ศาลมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ไปแล้วไม่นานมานี้
ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น มีกรณีกล่าวหา “เสนาะ เทียนทอง” เมื่อครั้งเป็น รมว.มหาดไทย ถูกกล่าวหาว่าทุจริตการโอนขายที่ธรณีสงฆ์ (สนามกอล์ฟอัลไพน์) เรื่องนี้ ป.ป.ช. รับดำเนินการตั้งแต่ปี 2545 กระทั่งปี 2553 คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาข้อเท็จจริงจากการไต่สวนแล้วมีมติว่า การกระทำของนายเสนาะมีมูลความผิดทางอาญา และได้ดำเนินการทางอาญา โดยตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุด แต่มิสามารถหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีได้ ทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดึงสำนวนกลับมายื่นฟ้องเองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่สุดท้ายศาลฎีกาฯ พิพากษาว่าคดีดังกล่าว “ขาดอายุความ” ไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ถูกตีตก คือคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล็อตสอง จำนวน 8 สัญญา ที่ 3 พี่น้องตระกูลชินวัตร ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา (วงศ์สวัสดิ์) เคยปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหา ในชั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช. แต่สุดท้ายข้อกล่าวหานี้ก็ถูกกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก 6 ต่อ 1 ตีตก
ปัจจุบันยังมีคดีสำคัญ ๆ ค้างในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. เช่น คดีกล่าวยุครัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทั้งประเด็นการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ มาใช้ในหลายโครงการ และประเด็นอื่น ๆ หรือกรณี “หุ้น” ที่มีการกล่าวหา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กรณีแจ้งบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ “รัฐบาลประยุทธ์” ว่า ไม่มีการแจ้งถือครองหุ้นบางบริษัท นอกจากนี้ ยังไม่แจ้งประธาน ป.ป.ช. กรณี “ภรรยา” ถือครองหุ้นเกิน 5% ใน 3 บริษัท ก่อนจะมีการถ่ายเทหุ้นออกไปให้เหลือต่ำกว่า 5% ในภายหลัง ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการ “ตรวจสอบเชิงลึก” จาก ป.ป.ช. เป็นต้น
ปัญหา “คดีขาดอายุความ” คือปัญหาสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับรู้มาโดยตลอด หลายยุคหลายสมัย โดยมักอ้างว่าบุคลากรภายใน “ไม่เพียงพอ” ในการพิจารณาทำคดี มีดำริของผู้บริหารหลายชุดพยายาม “ปฏิรูป” กระบวนการดังกล่าว ทั้งของบประมาณเพิ่มเติม เปิดโควตาเพิ่มบุคลากร รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย แต่ก็ไม่อาจทำได้ทันทั้งหมด เพราะสารพัดคดีร้องเรียนทุจริตมีเข้ามาในแต่ละปีนับหลายหมื่น-หลายแสนคำร้อง รับไต่สวนหลายพันถึงหลักหมื่นคำร้อง แต่ทำเสร็จไปไม่กี่ร้อยสำนวนเท่านั้นในแต่ละปี ทำให้มี “คดีค้างท่อ” ทั้งคดีทุจริต และคดีตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน “หลักพันสำนวน” แทบทุกปี
แม้ที่ผ่านมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยุค “ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ-วิชา มหาคุณ” จะตั้ง “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการคดี” เพื่อสางปัญหาเหล่านี้ ทำให้เกิดสภาพคล่องทางคดีมากยิ่งขึ้น แต่คดีความต่าง ๆ ก็ยังทยอยเข้ามาไม่หยุด
จนมาถึงยุค “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. ที่คลอด พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 หรือ “กฎหมาย ป.ป.ช.” ฉบับใหม่ กำหนดกรอบเวลาทำคดีแต่ละสำนวนไม่ให้เกิน 2 ปี เลทสุดได้ไม่เกิน 3 ปี แต่ต้องระบุเหตุผล ถ้ามีเจ้าหน้าที่คนใดปล่อยให้คดี “หมดอายุความ” โดยไม่มีเหตุผลรองรับดีพอ จะต้อง “โดนโทษ” ด้วย
กฎหมายฉบับนี้ ยังกดดันไปถึงการทำหน้าที่ของ “อัยการ” เพราะระบุว่า อสส.จะต้องส่งฟ้องคดีหลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลแล้วภายใน 180 วัน หากสำนวนไม่สมบูรณ์ เปิดช่องให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมฯศึกษาข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนคดี ต้องทำให้เสร็จภายใน 90 วัน หากครบกำหนดเวลา ป.ป.ช.ต้องดึงสำนวนกลับมาฟ้องเอง เห็นได้จากหลายคดีหลัง ๆ เช่น คดีจัดโรดโชว์ที่กล่าวหา “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าแม้จะมี “กฎหมาย-ระเบียบ” ออกมาบังคับใช้แก่เจ้าหน้าที่ และคนทำคดีของ ป.ป.ช. แล้วก็ตาม แต่กลับยังมีการ “ปล่อยผี” ให้บางคดี โดยเฉพาะ “คดีสำคัญ” หมดอายุความลงได้อีก
นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทาย “ป.ป.ช.ชุดใหม่” ที่เข้าไปทำหน้าที่แล้ว 4 คน รอโปรดเกล้าฯอีก 2 คน และรอสรรหาใหม่อีก 1 คน เข้าไปแก้ไข ให้สมกับเป็น “องค์กรเบอร์ 1” ด้านป้องปรามทุจริต ยกระดับ CPI ของไทยให้ “โปร่งใส” บนเวทีโลกเสียที