3 ผู้นำ ‘เศรษฐา–มาครง–ฮุน มาเนต’ ตั้งกลุ่ม WhatsApp คุยสถานการณ์อาเซียน
“เศรษฐา” เผย ตั้งกลุ่ม Whatsapp คุยสถานการณ์อาเซียน ดึง 3 ผู้นำสนิทกัน ได้แก่ไทย ฝรั่งเศส กัมพูชา เผยใช้โอกาศฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ผลักดันหยุดยิงชั่วคราวฮามาส - อิสราเอล หวังเห็นเมียนมาเป็นหนึ่งเดียว ดันฟรีวีซ่าเชงเกนไทย
วันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เวลา 15.40 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงปารีส ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงภารกิจการเยือนสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยในส่วนการพบกับประธานาธิบดีมาครง ได้พูดคุยหารือกันในประเด็นด้านการต่างประเทศและประเด็นต่างๆ ดังนี้
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองกระชับความสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ภริยาของประธานาธิบดีมาครง สุภาพสตรีหมายเลข 1 ของฝรั่งเศสแวะมาทักทาย และทั้งสองได้แลกเบอร์มือถือและทักทายกันผ่าน Whatsapp อีกด้วย โดยประธานาธิบดีมาครงเผยว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกฯ จึงเสนอให้ผู้นำทั้ง 3 คนตั้งกลุ่มขึ้นมา เพื่อที่จะได้สามารถพูดคุยหารือกันได้สะดวกสบาย
"ในระยะเวลาสั้นๆ เพียงแค่ 3 - 4 ชั่วโมง แต่นับว่าเป็นการพูดคุยที่ได้ประโยชน์อย่างมาก นอกจากนั้น ในวันเดียวกันนี้งาน Thailand - France Business Forum ยังประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอีกด้วย ถือว่าเป็นการใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า และเป็นการจบภารกิจที่ฝรั่งเศสอย่างสวยงาม" นายกฯ กล่าวปิดท้าย ก่อนเดินทางต่อไปที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี
สำหรับประเด็นฮามาส - อิสราเอล ฝรั่งเศสมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน ไทยยังคงมีตัวประกันอยู่ ซึ่งยังไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งทางประธานาธิบดีมาครงเห็นใจและพร้อมให้การสนับสนุนให้มีการหยุดยิงชั่วคราว ซึ่งทางประธานาธิบดีมาครงมีไอเดียที่จะใช้โอกาสจากการที่ฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2024 ณ กรุงปารีส ตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2567 ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ Olympic Ceasefire เชื่อว่ากีฬาเป็นสิ่งที่ทำให้ลืมความขัดแย้ง รวมถึงขอให้ประเทศไทยเข้าร่วมสนับสนุน เพื่อแสดงเจตจำนงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อโอลิมปิกในช่วงเวลาดังกล่าว
ประเด็นเรื่องเมียนมา ได้มีการพูดคุยเรื่องความคืบหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปร่วมพูดคุยว่าไทยสนับสนุนให้มีการเจรจา เพื่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเมียนมา และเกิดความสงบ ซึ่งทางประธานาธิบดีมาครงพร้อมให้การสนับสนุนและช่วยเหลือ
ประธานาธิบดีมาครงยืนยันให้การสนับสนุนไทยอย่างต่อเนื่องในการผลักดันการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย ซึ่งอาจจะเดินหน้าดำเนินการได้ช่วงเดือนสิงหาคม หลังการเลือกตั้งสภายุโรปในเดือนมิถุนายน 2567 และสำหรับเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันยังคงไม่เท่ากับช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันผลักดันการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกัน
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีมาครงได้เชิญให้ไทยเข้าร่วมในการประชุมทางด้าน AI ซึ่งฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปี 2568 อีกด้วย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เล่าว่าในช่วงรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับประธานาธิบดีมาครง มีหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย เช่น ประธานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ประธานผู้แทนการค้าไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการพูดคุยกันอย่างดีในเชิงลึกเพื่อเดินหน้าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศต่อไป และเป้าหมายต่อไปคือจะมีการนำนักธุรกิจจากฝรั่งเศสมายังประเทศไทยในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้