เด็ด ‘พิชิต ชื่นบาน’ สะเทือนรัฐบาล โหวตนายกฯ ลามเปลี่ยนขั้ว
ปฏิบัติการทิ้งทวนของ สว.ชุดที่มาจาก คสช. หวังสูง พุ่งเป้าต้องการเด็ด "พิชิต ชื่นบาน" โดยมีปลายทางคือ โค่น “เศรษฐา” ให้พ้นตำแหน่งนายกฯ ไปในคราวเดียวกัน นั่นหมายถึงสะเทือนไปทั้งรัฐบาล
KEY
POINTS
- ปฏิบัติการสะเทือนทั้ง ครม. 40 สว.หวังสูงเด็ด "พิชิต ชื่นบาน" พ้นรัฐมนตรี เพื่อโค่น “เศรษฐา” ให้พ้นตำแหน่งนายกฯ
- สว.ไม่มีอำนาจโหวตเห็นชอบนายกฯ เพราะอำนาจตามบทเฉพาะกาลได้สิ้นสุดลงแล้ว
- 40 สว. ยกคุณสมบัติของ "เศรษฐา" ขึ้นร้องศาลรัฐธรรมนูญถึงความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการแต่งตั้ง "พิชิต" เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
- ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ 23 พ.ค.นี้ว่าจะรับคำร้องตีความคุณสมบัตินายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ หรือไม่
- "พิชิต" เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล กรณี "ถุงขนม" 2 ล้านบาทเมื่อปี 2551 ลามมาถึงการอยู่หรือไปของ ครม.เศรษฐา
- ปฏิบัติการสะเทือนทั้ง ครม. 40 สว.หวังสูงเด็ด "พิชิต ชื่นบาน" พ้นรัฐมนตรี เพื่อโค่น “เศรษฐา” ให้พ้นตำแหน่งนายกฯ
- สว.ไม่มีอำนาจโหวตเห็นชอบนายกฯ เพราะอำนาจตามบทเฉพาะกาลได้สิ้นสุดลงแล้ว
- 40 สว. ยกคุณสมบัติของ "เศรษฐา" ขึ้นร้องศาลรัฐธรรมนูญถึงความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการแต่งตั้ง "พิชิต" เป็น รมต.ประจำสำนักนายกฯ
- ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ 23 พ.ค.นี้ว่าจะรับคำร้องตีความคุณสมบัตินายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกฯ หรือไม่
- "พิชิต" เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล กรณี "ถุงขนม" 2 ล้านบาทเมื่อปี 2551 จนลามมาถึงการอยู่หรือไปของ ครม.เศรษฐา
40 สว.สายทหารและอนุรักษนิยม ซุ่มเดินเกมแรง ฉวยจังหวะที่กำลังเริ่มกระบวนการเลือก สว.ชุดใหม่ ทิ้งทวนเข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภา ส่งดาบให้ศาลรัฐธรรมนูญฟันสถานะ 1 นายกรัฐมนตรี และ 1 รัฐมนตรี
พุ่งเป้าไปที่ “พิชิต ชื่นบาน” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แล้วกระทบชิ่งไปถึง “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี
ปฏิบัติการทิ้งทวนของ สว.ชุดที่มาจาก คสช. หวังสูง ในการโค่น “เศรษฐา” ให้พ้นตำแหน่งนายกฯ ไปในคราวเดียวกัน นั่นหมายถึงสะเทือนไปทั้งรัฐบาล
โดยจะต้องไปสู่เกมใหม่ การโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ ที่กระบวนการจะกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎร เพียงสภาเดียว ไม่ใช่กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือ สส.และ สว.เหมือนช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
เมื่อ 250 สว.ที่มาจากรัฐธรรมนูญ ตามบทเฉพาะกาล พ้นวาระเมื่อ 10 พ.ค.2567 ย่อมไม่มีอำนาจโหวตนายกฯ คนใหม่
อย่างไรก็ตาม การเดินเกมของ 40 สว.แม้จะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามบทหลักของรัฐธรรมนูญ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ซ่อนเร้นวาระทางการเมือง เพราะได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคท้ายที่ให้สิทธิ สส.หรือ สว.เข้าชื่อตามมาตรา 82 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีด้วย
สาระสำคัญของคำร้องสอย 1 นายกฯ 1 รัฐมนตรี ให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด “เศรษฐา” ผู้ถูกร้องที่ 1 และ“พิชิต” ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1(4)(5) หรือไม่
ด้วยปรากฏว่านายกฯ “เศรษฐา” ทูลเกล้าฯ “พิชิต” เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (4)และ(5) ที่บัญญัติว่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และไม่มีพฤติกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
อีกทั้งยังโยงไปถึงการที่ “เศรษฐา”เข้าพบ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ ไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ก่อนแต่งตั้งรัฐมนตรีชุดใหม่ และโยงข้อกล่าวหา“เศรษฐา”อาศัยความเป็นนายกฯ กระทำการโดยอาจมีเจตนาไม่สุจริต เพื่อประโยชน์ในการแต่งตั้ง "พิชิต" เป็นรัฐมนตรีหรือไม่
ต้องรอลุ้นว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะประชุมในวันที่ 23 พ.ค.นี้ จะพิจารณารับคำร้องของ 40 สว.ไว้หรือไม่
โดยแนวทางที่เป็นไปได้ คือ 1.รับคำร้องไว้พิจารณา และสั่งให้ “เศรษฐา-พิชิต” หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย
2.รับคำร้อง ไม่สั่งให้ทั้งสองหยุดปฏิบัติหน้าที่ 3.รับคำร้องไว้ แต่ให้ "พิชิต" หยุดปฏิบัติหน้าที่เพียงคนเดียว หรือ 4.ไม่รับคำร้อง ซึ่งเป็นไปได้ยาก หากองค์ประกอบการยื่นคำร้องครบถ้วนสมบูรณ์
ส่วนช่องทางที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถพิจารณาคำร้องได้ หรือสั่งจำหน่ายคดี คือ 1.แม้จะมีกระแสข่าว “พิชิต” อาจลาออกก่อนศาลพิจารณาคำร้อง แต่ถ้ามีการลาออกก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดี ก็ต้องดูว่าศาลจะจำหน่ายคดีหรือไม่ หรือยังเดินหน้าวินิจฉัยสถานะของนายกฯ ต่อไป
2.มี สว.ถอนชื่อจนไม่ครบจำนวนตามที่กฎหมายกำหนดที่เสนอเรื่องให้ศาลพิจารณา แม้คำร้องจะถึงชั้นธุรการแล้วก็ตาม
ในกรณีศาลรับคำร้องไว้วินิจฉัยนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ มองว่า ศาลจะต้องวินิจฉัย การสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของ “พิชิต” ก่อนลำดับแรกว่า จะเป็นไปตามข้อกล่าวหาหรือไม่
หากพ้นความเป็นรัฐมนตรีก็จะส่งผลสะเทือนไปถึง “เศรษฐา“ เพราะดาบต่อไป ศาลจะต้องตีความคุณสมบัติของนายกฯว่า จงใจแต่งตั้ง“พิชิต” ทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ และขาดคุณสมบัติในเรื่องซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่
หากดูแนวทางการต่อสู้เพื่อแก้ข้อกล่าวหาของฝ่ายผู้ถูกร้องนั้น เป็นไปได้ที่ “เศรษฐา” จะยกผลการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกามาหักล้างในการแต่งตั้ง “พิชิต”
ขณะที่ “พิชิต” เคยถูกคำสั่งศาลฎีกา ที่ 4599/2551 เมื่อ 25 มิ.ย. 2551 เรื่องละเมิดอำนาจศาล เกี่ยวกับคดีถุงกระดาษ (ถุงขนม) ที่มีเงินสด 2 ล้านบาท มอบให้เจ้าหน้าที่แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
ครั้งนั้นประธานศาลฎีกาแต่งตั้งองค์คณะไต่สวนคดีนี้ กระทั่งศาลได้พิพากษาเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งศาลได้ลงโทษให้จำคุก ผู้ถูกกล่าวหา ทั้ง 3 คนรวมถึง “พิชิต” ในคดีนี้คนละ 6 เดือน
คดีละเมิดอำนาจศาล เมื่อปี 2551 ยังถูกมองในอีกมุมว่าการสั่งลงโทษจำคุก “พิชิต” ไปด้วยนั้น ศาลอาจใช้ข้อสันนิษฐานเท่านั้นในการตัดสินจำคุกทนายความของตระกูลชินวัตร
เป็นไปได้ที่ “พิชิต” และฝ่ายผู้ถูกร้องจะหยิบข้อต่อสู้ขึ้นมาหักล้างข้อกล่าวหา ว่ามีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คือ
1.คดีละเมิดอำนาจศาล ไม่ใช่โทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ที่จะสะเทือนถึงขั้นพ้นสถานะรัฐมนตรี 2.คดีละเมิดอำนาจศาลได้พ้นโทษเกิน 10 ปีแล้ว และ 3.ไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก
แน่นอนว่าฝ่ายผู้ถูกร้อง จะโต้แย้งว่า คดีละเมิดอำนาจศาล หาใช่ความผิดอาญาไม่ อีกทั้งไม่เคยถูกบังคับโทษในทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา ขณะเดียวกันกรณีคุณสมบัติของ “พิชิต” กกต.ได้รับรองเป็นผู้สมัคร สส.ปี 2562 สังกัดพรรคไทยรักษาชาติ
ทว่าทั้งหมดเป็นความเห็นเบื้องต้นจาก “กฤษฎีกา” หรือ กกต. เท่านั้น ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการชี้ขาดด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลผูกพันทุกองค์กร
เกมของ 40 สว.ถือว่าเป็นแผนสูง เล่นใหญ่ เพราะยกประเด็นมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรงขึ้นมากล่าวหา โดยหวังส่งดาบให้ศาลรัฐธรรมนูญฟัน 1 รัฐมนตรี และลามไปถึงโค่นนายกฯ ให้ล้มทั้งคณะรัฐมนตรี
ผลกระทบอาจไม่จบเท่านั้น เพราะการโหวตนายกฯคนใหม่ ที่ไม่มี 250 สว.เป็นตัวช่วย และส่วนหนึ่งกลายเป็นฝ่ายตรงข้าม จึงประมาท “เกมเปลี่ยนขั้ว”ไม่ได้