'พริษฐ์' ระบุวิเคราะห์ยาก 'สมชาย' ได้รับเลือกเป็นสว. ขึ้นแท่นว่าที่ปธ.วุฒิ
"สส.ก้าวไกล" เผยมี 3 ข้อร้องเรียนเลือกสว. จี้ กกต. แก้ไข ปัดวิเคราะห์โอกาส "สมชาย" ได้รับเลือก เหตุไม่ใช่การเลือกตั้งที่ใช้กระแสปชช.
ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการเลือกเป็นสว. ว่า จากการรับสมัครเป็นวันแรก เมื่อ 20 พ.ค. พบเรื่องร้องเรียน 3 ประเด็น คือ
1. การเรียกเอกสารประกอบการสมัครที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด เช่น สูติบัตร ใบรับรองพยาน รวมถึงระบบรับสมัครที่มีปัญหาทำให้การสมัครล่าช้า
2.พบว่ามีการตีความคุณสมบัติผู้สมัครที่ใช้มาตรฐานไม่เหมือนกัน
3.พบการรั่วไหลของข้อมูล ทั้งจำนวนผู้สมัครในแต่ละหน่วยที่รับสมัคร ที่กฎหมายกำหนดเป็นข้อห้ามไม่ให้มีการรั่วไหล
นายพริษฐ์ กล่าวว่าตนขอเรียกร้องให้ กกต. กำชับการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ตนต้องการเห็นกระบวนการคัดเลือกสว. ราบรื่น รวดเร็ว เพื่อให้มีสว.ใหม่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในเดือนก.ค. แม้ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ทั้งนี้ในกลไกของกฎหมายที่ไม่ต้องการให้พรรคการเมืองยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการการเลือก สว. ดังนั้น สมาชิกของพรรคก้าวไกล และสส. ระมัดระวังเป็นพิเศษ หากพบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง พรรคก้าวไกลพร้อมส่งข้อมูลให้ กกต.
เมื่อถามว่ากังวลต่อการเลือกสว. ที่พบการจัดตั้งโดยพรรคการเมืองหรือไม่เพราะอาจทำให้ได้สว.ไม่ตรงสเปครัฐธรรมนูญ นายพริษฐ์กล่าวว่า ตนมีความกังวล 2 ระดับ คือ ความกังวลเฉพาะหน้าของการเลือก ที่ต้องป้องกันการฮั้วไม่ให้เกิดขึ้น คือ ให้คนสมัครเป็นสว.จำนวนมาก เพื่อให้ความพยายามของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจางลง และเรียกร้องให้ กกต. ดำเนินการตามกฎหมาย ขณะที่ในข้อกังวลระยะยาว คือ โครงสร้างอำนาจและกระบวนการได้มาซึ่งสว. ที่ห่างจากมาตรฐานประชาธิปไตยสากล และมีอำนาจที่สูง คือ ยับยั้งการแก้รัฐธรรมนูญ รับรองผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อมีอำนาจดังกล่าวควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
“กระบวนการหลังจากการเลือกสว. แล้ว นั้นต้องหารือถึงกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ จำเป็นมีสว.หรือไม่ หากจะมีต้องออกแบบโครงสร้างทางประชาธิปไตยอย่างไร” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ ลงสมัครเป็นสว. เป็นสิ่งสะท้อนการวัดพลังทางการเมืองหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ว่า โดยเจตนาการเลือกสว.ออกแบบไม่ให้พรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว. ส่วนการตีความดังกล่าวประชาชนอาจตั้งคำถามได้ แต่ในประเด็นความเชื่อมโยง ทางนิตินัยคนที่สมัครต้องไม่เชื่อมโยงกับพรรค
“กระบวนการเลือกกสว. ไม่ใช่การเลือกตั้ง ดังนั้นกระแสความนิยมประชาชนไม่ได้ชี้วัดโดยตรง ต้องดูตามกระบวนการว่าเป็นอย่างไร หากพิจารณาภาพรวมโดยไม่เจาะจงที่ใคร การมีผู้สมัครเป็นสว. เยอะเท่าไร ดีต่อสุขภาพของประชาธิปไตย” นายพริษฐ์กล่าว
เมื่อถามว่ามองว่าชื่อชั้นของนายสมชาย ก็ไม่ใช่ตัวเต็งที่จะได้รับเลือกใช่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า “ก่อนพูดถึงใคร การประเมินว่าบุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างไร ที่มีโอกาสมากที่สุดได้รับเลือกเป็นสว. นั้นประเมินยาก เพราะไม่ใช่การเลือกตั้งที่ยึดโยงกับประชาชน ผ่านคูหา อีกทั้งการเลือกสว. เป็นกระบวนการใหม่ และซับซ้อน การวิเคราะห์คุณสมบัติแบบไหนของผู้สมัครคนใดเพิ่มโอกาสได้รับเลือก วิเคราะห์ยาก ดังนั้นตอนนี้ต้องรอดูในขั้นตอนต่อไปในขั้นตอนคัดเลือก ว่าจากระดับอำเภอ มาสู่จังหวัด คุณสมบัติแบบไหนที่ได้รับการคัดเลือก"
เมื่อถามถึงกระแสของการวางตัวให้นายสมชายเป็นประธานวุฒิสภา นายพริษฐ์ ปฏิเสธที่จะประเมิน ระบุว่าเป็นขั้นตอนของอนาคต ขณะที่กระบวนการเลือก สว. ยังมีอีกหลายขั้นตอน.