ตำนาน ‘พงศาวดารกระซิบ’ ‘วิษณุ’เนติบริกร ‘ผู้กุมอำนาจ’

ตำนาน ‘พงศาวดารกระซิบ’  ‘วิษณุ’เนติบริกร ‘ผู้กุมอำนาจ’

มีเรื่องเล่าว่า “วิษณุ” เชื่อมั่นใน “พงศาวดารกระซิบ” การลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาลทักษิณ ในวันที่ 24 มิ.ย. 2549 ก่อนจะมีการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 เพราะรับรู้สัญญาณพิเศษจาก “คนพิเศษ” ให้ถอยออกมาก่อนภัยจะถึงตัว

KEY POINTS :

  • "วิษณุ เครืองาม" ถูกเลือกใช้งานด้านกฎหมายมาแล้ว 9 นายกฯ 13 รัฐบาล ทำให้เขาอยู่ในวังวนอำนาจมาอย่างยาวนาน
  • เขาปฏิเสธมาตลอดว่าไม่เคยแนะนำทางกฎหมาย เพื่อทำ "ผิด" ให้กลายเป็น "ถูก" โดยมีวิธีการอธิบายลักษณะขอนักกฎหมายเอาไว้ 3 ประเภท
  • ที่สำคัญ "วิษณุ" มักจะคาดการณ์สถานการณ์ทางการเมืองค่อนข้างแม่นยำ เขาลาออกจากรัฐบาลทักษิณ ก่อนจะมีการรัฐประหาร เขาอยู่ยาวกับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 9 ปี เพราะเขามี "คนพิเศษ" คอยส่งสัญญาณพงศาวดารกระซิบ
  • เมื่อ "วิษณุ" ตกลงปลงใจมาช่วยรัฐบาลเศรษฐา จึงค่อนข้างการันตีว่ารัฐบาลเพื่อไทยเที่ยวนี้อยู่ยาว แต่หากเขาจากลาไปในวันใด สัญญาณอาจจะเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

ตำนาน ‘พงศาวดารกระซิบ’  ‘วิษณุ’เนติบริกร ‘ผู้กุมอำนาจ’

9 นายกฯ 13 รัฐบาล ที่มีมือกฎหมายชื่อ “วิษณุ เครืองาม” วนเวียนอยู่ในกระดานการเมือง ในฐานะ “เนติบริกร” ผู้ให้คำแนะนำทางกฎหมายที่สามารถชี้ช่องสู้-ชี้ช่องรอด พานายกฯ-รัฐบาล เดินออกจากทางตันมาหลายครั้ง

“ิ” เริ่มรับราชการในปี 2515 จากเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนย้ายมาประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในปี 2529

จุดเปลี่ยนชีวิต เกิดขึ้นในปี 2534 “วิษณุ” โอนมารับราชการพลเรือนในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ช่วงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน และรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร

โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในปี 2536-2545 ที่สำคัญได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกาตั้งแต่ปี 2535 ถึงปัจจุบัน

“วิษณุ” อยู่ในตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา รัฐบาลพล.อ.เชาวลิต ยงใจยุทธ และรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

กระทั่งปี 2545 “ทักษิณ” ทาบทามให้ “วิษณุ” มาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ก่อนจะลาออกจากตำแหน่งปี 2549 หลังจากรัฐประหาร เขารับตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

หลังเสร็จภารกิจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี 2551 “วิษณุ” ไม่รับตำแหน่งการเมืองใดๆ อีก จนกระทั่งปี 2557 กลับเข้ารับตำแหน่งที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ดูแลด้านกฎหมายยุติธรรม และได้รับแต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างปี 2557-2566

ตำนาน ‘พงศาวดารกระซิบ’  ‘วิษณุ’เนติบริกร ‘ผู้กุมอำนาจ’

อย่างไรก็ตาม ตลอดชีวิตนักกฎหมายของ “วิษณุ” ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีทำเรื่อง “ผิด” ให้กลายเป็นเรื่อง “ถูก” จนเขาต้องนิยามนักกฎหมายเอาไว้ว่า 3 ประเภท

  • ประเภทที่ 1 บอกว่าผิด ทำไม่ได้จบ และไม่ให้ใครทำแล้ว พวกนี้บอกว่าจะไปดอนเมือง ต้องไปถนนพหลโยธิน เมื่อถนนพหลโยธินปิดซ่อม ก็อย่าไปดอนเมือง
  • ประเภทที่ 2 ผิด ทำไม่ได้ แต่ถ้าจะทำให้ได้คุณต้องทำอย่างนี้ พวกนี้บอกว่าจะไปดอนเมือง ต้องไปพหลโยธิน แต่เมื่อพหลโยธินรถติด ทำไมไม่เลือกถนนวิภาวดี
  • ประเภทที่ 3 คุณจะไปดอนเมือง พหลโยธินรถติด ช่างมัน ลุยไปเลย เอารถจราจรเปิดไฟแดงนำหน้า

“วิษณุ” ยืนยันว่า “ประเภทที่ 3 นั่นคือพวกที่ทำผิดให้เป็นถูก ผมยืนยันว่าผมไม่เคยทำ”

ต้องยอมรับว่าการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายของ “วิษณุ” มักจะตอบโจทย์ทางนิติศาสตร์ และแก้ปัญหาด้านรัฐศาสตร์ ทำให้ “นายกฯ” หลายคนพึงพอใจ และพร้อมทำตามข้อแนะนำ

ว่ากันว่า ทุกย่างก้าวของ “วิษณุ” มักคาดการณ์สถานการณ์ทางการเมืองได้ถูกต้อง ทำให้เขาอยู่ในวังวนอำนาจเกือบทุกยุค แม้จะเว้นวรรคไปในช่วงปี 2551-2557 เพราะอยู่ในช่วงการเมืองวุ่นวาย

ตำนาน ‘พงศาวดารกระซิบ’  ‘วิษณุ’เนติบริกร ‘ผู้กุมอำนาจ’

มีเรื่องเล่าว่า “วิษณุ” เชื่อมั่นใน “พงศาวดารกระซิบ” การลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาลทักษิณ ในวันที่ 24 มิ.ย. 2549 ก่อนจะมีการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 เพราะรับรู้สัญญาณพิเศษจาก “คนพิเศษ” ให้ถอยออกมาก่อนภัยจะถึงตัว

ทว่า การจากลากันของ “วิษณุ” กับ “ทักษิณ” ไม่มีเรื่องขัดแย้ง หมองใจกัน “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์หลังปิดห้องเคลียร์ใจกันบนตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 17 ปีก่อนว่า “ถือว่าเราจากกันด้วยมิตรนะ ไม่ได้มีเรื่องกันนะ”

เช่นเดียวกับช่วงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 “วิษณุ” เคยเล่าว่า หลังรัฐประหาร เขาจองตั๋วเครื่องบินเดินทางไปต่างประเทศทันที เพราะรู้ว่าอาจจะต้องโดนเรียกใช้งานในทันที 

แต่สุดท้ายก็มี “คนพิเศษ” หอบสัญญาณพิเศษมาเป็นใบเบิกทางให้ “วิษณุ” ไปช่วยงานพล.อ.ประยุทธ์ ในตำแหน่งที่ปรึกษา คสช. ก่อนต่อยอดไปนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย นานถึง 9 ปี

ทั้งสองเหตุการณ์สะท้อนให้เห็นว่า ย่างก้าวทางการเมืองของ “วิษณุ” อาจไม่ได้ตัดสินใจด้วยตัวเองทั้งหมด แต่มี “คนพิเศษ” คอยช่วยประเมินทิศทางการเมือง

ฉะนั้น การกลับเข้าทำเนียบฯ อีกคำรบ เพื่อช่วยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่เพราะคอนเนกชันของ “นายกฯ เศรษฐา” แต่มี “คนพิเศษ” ที่มาพร้อมซูเปอร์ดีลเป็นใบเบิกทางให้ “เศรษฐา” พูดคุยกับ “วิษณุ” เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมา

มีกระแสข่าวว่า “เศรษฐา” ทาบทามให้ “วิษณุ” เข้ามาดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย แต่ “วิษณุ” ตอบปฏิเสธ ก่อนจะยื่นข้อเสนอใหม่ ให้มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี  “วิษณุ”พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม นายกฯจึงขอให้เป็น “ที่ปรึกษาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี" หรือ สลค.

“วิษณุ” จึงได้กลับเข้าทำเนียบฯ โดยย้ายจาก “ตึกบัญชาการ” ไปประจำการที่ "ตึกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี” ตึกเดิมที่เคยนั่งบัญชาการระหว่างปี 2536-2545

ว่ากันว่า “เศรษฐา” ยังขอให้ “วิษณุ” ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในทุกวันอังคารด้วย ซึ่งเขาตอบตกลง โดยจะช่วยกลั่นกรองวาระ ครม. พร้อมดูข้อกฎหมายที่อาจจะเป็นคุณ-เป็นโทษทั้งหมด

การได้ “วิษณุ” ไปช่วยงาน เสมือนเสริมความแข็งแกร่งให้กับ “รัฐบาลเศรษฐา” แถมยังแปรศัตรูเป็นมิตร โดยเฉพาะคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ก่อนหน้านี้เดินกันคนละทาง เมื่อมี “วิษณุ” มาเป็นโซ่ข้อกลาง การทำงานจะราบรื่นมากขึ้น

หลังจากนี้ ต้องจับตาบทบาทของ “วิษณุ เครืองาม” เนติบริกรที่ “นายกฯ” ทุกยุคทุกสมัยไว้วางใจมากที่สุด จะเข้ามาช่วย “เศรษฐา” ที่ต้องเผชิญวิบากกรรมทางกฎหมาย แม้จะทำงานได้เพียง 10 เดือน แต่เดินเกมพลาดจนถูกฟ้องร้องหลายคดี