ปธ.ป.ป.ช.ยันมีอำนาจสอบ 'บิ๊กโจ๊ก' ไม่คืนสำนวน ตร. ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป
ประธาน ป.ป.ช.ออกโรงยันมีอำนาจพิจารณาคดี 'บิ๊กโจ๊ก' ปมถูกกล่าวหาพันฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์ ลั่นไม่คืนสำนวนให้ ตร. บอกใครมีหน้าที่อะไรก็ทำไป
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2567 พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ระบุว่า ป.ป.ช. เตะถ่วงกรณีกล่าวหา พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรอง ผบ.ตร.ในคดีฟอกเงินจากเว็บพนันออนไลน์ BNK Master ว่า เรื่องนี้คงต้องลำดับเหตุการณ์ให้ฟังว่าเริ่มต้นหน่วยงานทางเทคโนโลยีของตำรวจทำคดีที่มีการกล่าวหานายตำรวจไปเรียกรับเงินและฟอกเงิน จึงเสนอเรื่องมาที่ ป.ป.ช. ตอนแรกเรื่องที่ส่งมาเป็นเรื่องนายตำรวจระดับ พ.ต.อ. จึงเห็นว่าไม่ใช่คดีเข้าข่ายร้ายแรง จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตรับไปดำเนินการ แต่ต่อมามีการร้องเรียนและมีความเชื่อมโยงว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งระดับรอง ผบ. ตร. จึงรับเรื่องไว้ทำเอง ซึ่งถือเป็นอำนาจหน้าที่ของป.ป.ช.ที่ดำเนินการไปตามกฎหมายที่จะพิจารณาเรื่องนี้และเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน รวมทั้งคดีสน.เตาปูนด้วย จึงรับเรื่องทั้งหมดกลับมาทำถือว่าอำนาจหน้าที่ของตำรวจสิ้นสุดลง จึงมีมติให้ตำรวจส่งเรื่องคืน โดยเตือนไป 2 ครั้งแล้ว
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นอำนาจของป.ป.ช.ในการดำเนินคดีที่เกี่ยวเนื่องดังนั้น ชัดเจนว่าเรื่อง สน.เตาปูนมีมติแล้วให้ทาง สน.เตาปูนและนครบาลทราบข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ว่าวันนี้อยู่ในอำนาจ ป.ป.ช.แล้ว เขาไม่มีอำนาจ เรื่องเดิมก็ต้องส่งให้เรา ดังนั้น ใครมีหน้าที่อะไร ตามกฎหมาย ก็ทำไปตามหน้าที่นั้น ถ้าคิดว่า ป.ป.ช.ทำไม่ถูกต้อง ก็มีกระบวนการที่จะตรวจสอบ และถ้าป.ป.ช.เห็นว่าเขาทำไม่ถูกต้องก็มีกระบวนการที่จะต้องตรวจสอบเช่นกัน ส่วนหนังสือของ บช.น.ที่ระบุว่ากฎหมายฟอกเงินไม่ได้อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. และการที่ศาลอาญาออกหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ในข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ถือว่าเป็นคดีอาญานั้น ก็เป็นอำนาจศาลที่จะพิจารณา แต่จากเอกสารที่ได้รับมาบางส่วน กรณีที่ศาลออกหมายจับ มีบันทึกระบุว่าศาลได้ถามเจ้าหน้าที่แล้วว่าเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ เจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่เกี่ยว ศาลจึงออกหมายจับดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่ ในส่วนสำนวนคดี สน. เตาปูน ที่ทาง ป.ป.ช. คืนให้กับทางตำรวจนครบาลนั้น มีประมาณกว่า 10 คน ที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ส่วนที่เหลือเมื่อวินิจฉัยว่าเป็นความผิดร้ายแรงและความผิดเกี่ยวเนื่องกัน ป.ป.ช.ก็ต้องรับมาดำเนินการและทำให้โปร่งใส รวดเร็วดังนั้น ใครทำหน้าที่อะไรก็ทำไป
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการล่ารายชื่อถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช.นั้น พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งมีเงื่อนไขอยู่แล้วว่า ป.ป.ช.จะถูกตรวจสอบด้วยเรื่องอะไรได้บ้าง ประชาชนสามารถเข้าชื่อกันได้ 20,000 ชื่อ ส่งข้อกล่าวหาไปยังสภาได้ และถ้าสภาตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลักฐานอาจจะมีมติส่งให้ประธานศาลฎีกาเพื่อตั้งผู้ไต่สวนอิสระ และกรรมการ ป.ป.ช.ที่ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ กรรมการ ป.ป.ช.ที่รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นอดีตตุลาการในชั้นศาลฎีกาและเป็นตุลาการผู้ใหญ่ ทุกเรื่องเมื่อพิจารณาแล้วจะต้องเป็นมติของกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมและจะรีบดำเนินการอย่างรวดเร็ว แต่ที่ยังทำไม่ได้รวดเร็ว เพราะทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ส่งเรื่องคืนมาให้เราต้องเตือนไปถึง 2 ครั้งแล้ว ถ้ายังไม่ส่งอีกก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป็นไปตามกฎหมาย เช่นเดียวกันกับที่เขาบอกว่าเราละเว้น ถ้าคิดว่าเราทำผิดก็ดำเนินการ และหากเขาทำไม่ถูกต้องก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมายเช่นเดียวกัน