'นิรโทษกรรม' เกมซ่อนกล 'เพื่อไทย' จูบปาก 'ก้าวไกล'
แนวทางนิรโทษกรรม คดีการเมือง ต้องวัดใจ "เพื่อไทย" ว่าจะหนุนล้างผิด มาตรา112 หรือไม่ ท่ามกลาง จุดยืน "พรรคร่วม" ที่ไม่เอาด้วย หากหันไปจับมือ "ก้าวไกล" อาจเสียรังวัดการเมืองได้
KEY
POINTS
KeyPoint :
- กมธ.นิรโทษกรรม ได้ "พิมพ์เขียว" เตรียมส่งให้ สภาฯ ใช้เป็นแนวทาง ตรากฎหมายนิรโทษกรรม
- วางกรอบใหญ่ในสาระสำคัญ ครบถ้วนแล้ว ทั้ง กรอบเวลา คำนิยาม และ องค์กรนิรโทษกรรม
- ยังเหลือ "วาระทางการเมือง" คือ "มาตรา112" จะพ่วงไปด้วยหรือ แยกจากบัญชีคดีแนบท้าย
- ทว่าเสียงในกมธ.มีความก้ำกึ่ง ซึ่งต้องวัดจากเสียง "นักวิชาการ" ว่าเห็นไปทางใด
- ทางเลือกที่มี คือ อาจจะโหวตให้เด็ดขาด หรือ โยนทุกความเห็นให้ "สภา" ตัดสินใจ
- หากเช็คความต้องการ พบว่า 2 พรรคใหญ่ "เพื่อไทย-ก้าวไกล" มีความประสงค์เดียวกัน คือ "ล้างผิดมาตรา112"
- ทว่า เพื่อไทย จะตีเนียน หนุน ล้างผิด มาตรา 112 กับ "ก้าวไกล" อาจเสียหายในทางการเมือง ที่บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลไม่เอาด้วย
- อีกอย่างคืออาจถูกตราหน้า ว่า ยอมเอาศักดิ์ศรีไปแลกกับประโยชน์เพื่อคนๆ เดียว
เค้าโครงของ “พิมพ์เขียว” ที่นำไปสู่การ ตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ถึงจุดนี้ เรียกได้ว่า 99.9%
หลังจากที่ “กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม” ชุดที่พรรคเพื่อไทย ส่ง “ชูศักดิ์ ศิรินิล” มือกฎหมาย เป็นกุนซือ เห็นชอบ รายงานของ อนุกมธ. ฯ แล้ว เป็นเบื้องต้น
โดยผลการศึกษาที่ “กมธ.หลัก” เห็นชอบ เป็น “กรอบใหญ่” ได้ข้อยุติชัดเจน แล้ว คือ
1.กรอบเวลานิรโทษกรรม ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2548 ถึงวันที่พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้
2.นิยามคำว่า “การกระทำที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง” หมายถึง “การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง หรือ ต้องบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”
3.ขอบเขต ครอบคลุม บรรดาการกระทำใดๆ หากผิดตามกฎหมายให้ถือว่าไม่เป็นความผิดต่อไป และ ให้ผู้ที่กระทำพ้นจากการเป็นผู้ทำความผิด กรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ ถือว่า ผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้ทำผิด กรณีอยู่ระหว่างการรับโทษให้การลงโทษนั้นสิ้นสุด และเสมือนว่า บุคคลนั้นไม่เคยกระทำความผิด
ขณะที่รายละเอียดของผลการศึกษาของ “อนุกมธ.” ที่จะใช้เป็น “พิมพ์เขียว” ไปยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งผ่านความเห็นร่วมในเบื้องต้น ได้แก่
ข้อเสนอแรก คือ แยกประเภทคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง 3 ประเภท คือ คดีหลัก คือ คดีที่ชัดเจนว่าใช้สิทธิ เสรีภาพทางการเมือง คดีรอง คือ คดีที่เชื่อมโยงหรือพ่วงเข้ามากับคดีหลัก เป็นคดีที่มีบทลงโทษสถานเบา อายุความไม่มาก และ คดีที่มีความอ่อนไหว เช่น มาตรา 110 มาตรา 112 คดีความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
ข้อเสนอสอง ว่าด้วย ทางเลือก นิรโทษกรรม ตามประเภทคดีที่ถูกจำแนก แยกประเภท “อนุกมธ.ฯ” เสนอไว้ 3 ทางเลือก คือ
1.ใช้รูปแบบคณะกรรมการนิรโทษกรรม 2.ใช้กฎหมายนิรโทษกรรม และ 3.ผสมผสาน ทั้งใช้กฎหมาย และกรรมการนิรโทษกรรม
ข้อเสนอสาม ว่าด้วย องค์ประกอบ กรรมการนิรโทษกรรม รวมถึงหน้าที่และกระบวนการทำงาน โดย “อนุกมธ.” เสนอ ให้ “ประธานสภาฯ” เป็นประธานกรรมการ มี รองนายกฯหรือรมว.ที่ได้รับมอบหมาย เป็นรองประธาน รวมถึงมีตัวแทนของสภาฯ จาก สส.ฝ่ายค้าน สส.ฝ่ายรัฐบาล ผสมกับนักวิชาการ ภาคประชาชน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยกรรมการฯ มีวาระ 2 ปี
ข้อเสนอสี่ ว่าด้วย อำนาจและหน้าที่ คือ วินิจฉัยความผิดทางการเมืองที่เห็นควรได้นิรโทษกรรม รับการร้องขอนิรโทษกรรมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐบาล ต่อการเยียวยา ช่วยเหลือ ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงกำหนดมาตรการเยียวยา แบบมีอำนาจเต็ม อย่างเบ็ดเสร็จในองค์กรเดียว
ขณะที่การตรวจสอบการทำงานให้รายงานตรงต่อ “สภาฯ” ทุกๆ 6 เดือน หากพบการใช้อำนาจที่มิชอบ ช่วยเหหลือพวกงพ้องให้ ประชาชน ไม่น้อยกว่าา 1,000 คน หรือ สส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกที่มี ยื่นประธานสภาฯให้สอบหาข้อเท็จจริงและแจ้งผลต่อสาธารณะ
และข้อเสนอห้า ว่าด้วย “มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำและเสริมสร้างความปรองดอง” เพื่อกำกับให้ผู้ใดที่ได้นิรโทษกรรมแล้วไม่ทำผิดซ้ำ หากกลับไปทำผิดซ้ำจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่รอลงอาญา รวมถึงมาตรการล้างมลทินให้กับผู้ที่ต้องโทษในคดีการเมือง และการเยียวยาให้กับผู้เสียหา
กับข้อเสนอทั้ง5 ของ “อนุกมธ.” นั้น กมธ.ชุดใหญ่จะนำมาสังเคราะห์และวิเคราะห์ ร่วมกัน และนัดลงมติให้เป็นการเห็นชอบร่วม ในวันที่ 13 มิ.ย. นี้
เบื้องต้นรูป ในส่วนของทางเลือกนิรโทษกรรมนั้น “กมธ.เสียงส่วนใหญ่” เห็นพ้องในรูปแบบของ “ความผสมผสาน” ระหว่างใช้กฎหมายนิรโทษกรรม เพื่อเซ็ตซีโร่ผู้ที่ทำผิดในคดีการเมือง ที่จำแนกเป็นคดีหลักตามกรอบเวลา โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะกำหนดฐานความผิดแบบเฉพาะเจาะจงไว้ในกฎหมาย ผสมกับ “คณะกรรมการนิรโทษกรรม” ที่จะทำหน้าที่พิจารณา “คดีที่ละเอียดอ่อน” ที่สังคมยังคงเห็นต่าง
ขณะที่กลไกของ “กรรมการนิรโทษกรรม” เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบด้วย แต่ยังเห็นต่างเล็กน้อย ในองค์ประกอบ ที่จะให้ “ฝ่ายรัฐบาล” หรือ “ฝ่ายสภาฯ” เป็นผู้นำ พ่วงกับอำนาจ ที่บางส่วนกังวลว่าจะมีอำนาจเหนือตุลาการ
ส่วนประเด็นที่สังคมจับตา คือ “คดีการเมืองใดบ้างที่เข้าข่ายได้นิรโทษกรรม” ในห้วงเวลา 20 ปีที่กำหนดเป็นกรอบเวลา “นิรโทษกรรม”
ตามรายงานของอนุกมธ.ฯ มีรายละเอียดของ 25 ฐานความผิด ใน 4 ช่วงเหตุการณ์ คือ ช่วงการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ช่วง 2548 - 2551 ช่วงการชุมนุมของกลุ่มนปก. ต่อเนื่องเป็น นปช. ช่วง 2550- 2553 ช่วงการชุมนุมของกปปส. ช่วง 2556-2557 และช่วงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน และประชาชน ช่วง 2563 - ปัจจุบัน
และเมื่อรวมรายการคดีที่เกิดขึ้นจากข้อมูลและสถิติของสำนักงานศาลยุติธรรม ตั้งแต่ปี 2548 ถึง ก.พ.67 พบว่ามีคดีรวมกันทั้งสิ้น 3,522,968 คดี โดยรวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีกบฎ คดีก่อการร้าย ไว้ด้วย
ในแนวโน้มของ “กมธ.ชุดใหญ่” ที่จะสรุปในประเด็น “คดีความ” ที่ได้สิทธิ นิรโทษกรรม นั้น คือ "ทุกคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง”
ส่วนประเด็น “คดีมาตรา 112” นั้น ยังเห็นต่าง
เพราะ กมธ.จากฝั่งขั้วอำนาจเก่า ทั้ง “พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ” บวกกับพรรคที่ประกาศจุดยืนปกป้องสถาบัน-ไม่แก้ม.112 อย่าง “ชาติไทยพัฒนา-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์-ประชาชาติ” มองว่า ความผิดมาตรา 112 ไม่ใช่คดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง และด้วยจุดยืนทางการเมือง ไม่สนับสนุนให้นิรโทษกรรม มาตรา 112
ทำให้มีความพยายามขับเคลื่อนให้ รายงานของกมธ. ระบุบทยกเว้นว่า "มาตรา 112 ไม่ใช่ฐานความผิดที่ควรได้รับนิรโทษกรรม” และ “ขีดกรอบให้อยู่นอกบัญชีความผิด” ที่ กมธ.จะแนบให้ที่ประชุมสภาฯ พิจารณา
ทว่าหากวัดพลังและเสียงโหวต ต้องยอมรับว่า “กมธ.ในขั้วอนุรักษ์” นั้นเสียงน้อยกว่า “ฝั่งที่ต้องการผลักดัน” หากดูจากรายชื่อ จะพบว่า “ขั้วอนุรักษ์” มี 14 เสียง
ขณะที่ขั้วผลักดัน คือ“ก้าวไกล” บวกกับ “เพื่อไทย” มีเสียงหนุนรวมกัน 15 เสียง ขณะที่อีก 6 เสียง นั้น คือ “ฝั่งนักกฎหมาย-นักวิชาการ-นักสิทธิมนุษยชน” ที่ยังวางตนเป็นกลางในประเด็น มาตรา112
แม้ว่า “กมธ.ฝั่งพรรคเพื่อไทย” ประกาศต่อสาธารณะว่า “จุดยืน เรื่อง ม.112” นั้นไม่ชัด ทว่าภาพเบื้องหลังนั้น พร้อมจะเอาด้วย เพราะมี “นายใหญ่” ที่ต้องการนิรโทษกรมในคดีม.112 รวมอยู่ด้วย
ดังนั้นหาก ความเห็นไม่ลงรอย และ จำเป็นต้องโหวต แน่นอนว่า “เพื่อไทย” พร้อมเห็นชอบในแนวทางที่ “แนบบัญชีท้าย พ.ร.บ. ไปทุกคดี” เพื่อหวังให้ “กรรมการนิรโทษกรรม” เป็นผู้ไฟเขียวล้างผิด ม.112
ส่วนจะชนะโหวตหรือไม่ หรือ จะใช้ทางเบี่ยง บันทึกทุกความเห็น “โยน” ให้สภาฯ ตัดสินใจ ทั้งกรณี เอา และ ไม่เอา ม.112 ในบัญชีล้างผิด ต้องมาดูในตอนท้ายของการประชุม สิ้นเดือน มิ.ย. นี้
อย่างไรก็ดี เกมเซ็ตซีโร่ คดีการเมือง-ม.112 นั้น ยังถือเป็นเกมยาว แม้ “เพื่อไทย” จะมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม รอส่งให้สภาฯ พิจารณา แต่อย่าลืมว่า ยังมีอีก 3 ร่างที่รอพิจารณา ซึ่งรายละเอียดมีความต่างตรงที่ “ม.112”
งานนี้ หากเพื่อไทยจะเข็น นิรโทษกรรม ม.112 ให้ผ่านสภาฯ ต้องเผชิญเกมหัก “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ไม่เอาด้วย ซึ่งอาจมีผลทำให้ “รัฐบาล” สั่นคลอน
หากเพื่อไทย หันไปจูบปากกับ “ก้าวไกล” อาจเป็นประเด็นที่ต้องจับตาถึงอนาคตการเมือง และอาจถูกมองได้ว่า เป็นพรรคไร้ศักดิ์ศรี ที่ยอมแลกทุกสิ่ง เพื่อประโยชน์ให้คนๆ เดียว.