'กลุ่มSenate67' ประกาศช่วยจับฮั้วเลือกสว. ขอ 'กกต.' เปิดพื้นที่สังเกตการณ์

'กลุ่มSenate67' ประกาศช่วยจับฮั้วเลือกสว. ขอ 'กกต.' เปิดพื้นที่สังเกตการณ์

เครือข่าย Senate67 ประกาศเป็นคนกลาง-ช่วย "กกต." จับฮั้วเลือก สว.ระดับจังหวัด ขอเปิดพื้นที่สังเกตการณ์ใกล้ชิด พร้อมเผยเลือกระดับ อำเภอมีปัญหา กกต.หลายมาตรฐาน

ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายประชาชน ที่ติดตามและตรวจสอบกระบวนการ “เลือก สว.”  อาทิ กลุ่มวีวอช กลุ่มไอลอว์  ในนาม Senate67 ตั้งโต๊ะแถลงผลติดตามผลและปัญหาการเลือก สว. พร้อมกับมี ข้อเสนอแนะ ให้ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” กกต.” เพื่อแก้ไขไม่ให้มีการล้มกระดาน

โดยช่วงแรก ตัวแทนของวีวอชรายงานถึงผลการติดตามพบว่า มีผู้สมัคร สว. ถูกกกต. ตัดสิทธิสมัคร และถูกนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครอง รวม 223 คดี แต่ก่อนจะถึงวันโหวตเลือกระดับอำเภอ เมื่อ 9 มิ.ย. พบว่ามีผู้ชนะคดีเพียง 38 ราย เท่านั้น อย่างไรก็ดีช่วงเวลาที่กกต. กำหนดให้อุทธรณ์การตัดสิทธิภายใน 3 วันทำให้ส่วนใหญ่ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้ เนื่องจากมีกระบวนการที่มีรายละเอียยดจำนวนมาก เป็นอุปสรรค

เครือข่ายระบุอีกว่า นอกจากนั้นยังพบมีหลายกรณีที่ศาลปกครองยกฟ้อง เพราะขาดพยานหลักฐานที่มีน้ำหนัก ทั้งนี้ตามระเบียบของ กกต. ให้สิทธิประชาชนที่ถูกลบชื่อ ในระดับอำเภอสามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้  ภายใน 12 มิ.ย.   แม้เป็นระยะเวลาที่สั้น  แต่สามารถพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ และ ก่อนวันเลือกระดับจังหวัด วันที่ 16 มิ.ย.   ประชาชนสามารถพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ โดยการรบรวมรายละเอียดในกระบวนการจัดการเลือก ของ กกต. ในแง่ว่า “เป็นธรรมหรือไม่”

“กฎหมายไม่เอื้อให้ประชาชนที่เสียสิทธิร้องเรียน โดยมีเงื่อนไขไม่สุจริต ผิดกฎหมาย มีกำหนดภายใน 3 วันหลังจากวันเลือก และการร้องเรียนต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นกรณีร้องเท็จ แต่ในกระบวนการเลือกในพื้นที่ที่ถูกเก็บเครื่องมือสื่อสารทำให้ มีหลักฐานเอาผิดได้ยาก ทั้งนี้ในประเด็นมาตรฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การนำเอกสารเข้าไปในพื้นที่เลือก ให้เวลาแนะนำตัวผู้สมัครที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกระดับอำเภอจึงพูดได้ยากว่าสุจริต” เครือข่ายติดตามการเลือก สว. ระบุ

เครือข่ายของวีวอช กล่าวอีกว่ามีตัวแทนที่ไปสังเกตการณ์พบการถูกคุกคาม  รู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น การถูกติดตามตัว โดยตำรวจ และมีการถ่ายภาพ รวมถึงชี้ตัวว่าเป็นตัวแทนของผู้สังเกตการณ์ อย่างไรก็ดีการสังเกตการณ์ไม่พบการอำนวยความสะดวกให้เครือข่ายเท่าที่ควร นอกจากนั้นจะระบุว่าการเลือกระดับอำเภอทุจริตน้อยคงพูดไม่ได้ เพราะขั้นตอนการร้องเรียนทำได้ไม่ง่าย

โดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะของ เครือข่ายSenate67 ต่อกกต. ในการเลือกสว. ระดับประเทศว่า

1.กกต. และเจ้าหน้าที่เตรียมตัวให้ดีและเร็วกว่านี้ เพราะบางพื้นที่ใช้เวลานับคะแนนจนถึงช่วงค่ำ เนื่องจากอุปกรณ์ชำรุด ทั้งนี้วันที่ 16 มิ.ย. มีความกังวลเพราะมีผู้ผ่านเข้ารอบจังหวัดหลักหลายร้อยคน อาจทำให้การเลือกใช้เวลาเกินเที่ยงคืน

2.ขอให้ผู้สังเกตการณ์มีส่วนร่วม ทั้งนี้มีการกล่าวหาว่ามีการจัดตั้ง จากผู้ที่แพ้เลือกตั้ง โดยไม่มีคนกลางไปร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ในการเลือกระดับอำเภอ ได้ฟังคำบอกเล่า ว่า มีการตั้งใจทำบัตรเสีย มีผู้ที่คะแนนเท่ากัน ไม่ยอมจับสลาก ดังนั้นหากต้องการให้เครือข่ายร่วมจับฮั้วเลือก ควรจัดพื้นที่ให้ผู้สังเกตการณ์ได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่เดียวกันกับผู้สมัครสว. เพราะเครือข่ายไม่ต้องการพูดคุยกับผู้สมัคร

3.ในรอบจังหวัด มีผู้ผ่านเข้ารอบ 2.3 หมื่นคน โดยรอบนี้จะทำให้มีผู้ผ่านเหลือ 3,080 คน ดังนั้น กกต. ขอให้มีความชัดเจนและมาตรฐานการทำงาน และมีกล้องวงจรปิดไปติดตั้งในพื้นที่

“ความไม่ชัดเจนของวิธีการเลือก สว. เครือข่ายจะจัดเวทีสาธารณะ เพื่อให้ผู้สมัครเจอกันเพื่อแนะนำตัวแบบมีกติกา รวมถึงเปิดสาธารณะให้สื่อมวลชน ประชาชนเข้าดูได้ โดยไม่มีการปิดลับ หรือทำในห้องมืด เหมือนที่กกต.ทำ ทั้งนี้การเปิดเวทีคงไม่สามารถทำได้ครบทุกจังหวัด แต่จะทำเท่าที่เท่าได้” เครือข่ายSenate67 ระบุ.