ภาค ปชช.แกะรอย ‘ฮั้วสว.’ เปลี่ยนฉากวุฒิสภา ‘ตรา ป.’

ภาค ปชช.แกะรอย ‘ฮั้วสว.’ เปลี่ยนฉากวุฒิสภา ‘ตรา ป.’

เครือข่ายSenate67 -นักวิชาการ มองตรงกันว่าการเลือกสว.ระดับอำเภอมีปัญหา มีการฮั้ว การจัดตั้ง โดยกลุ่มการเมือง-ทุน-กอ.รมน. แต่ไม่ใช่ปัญหาที่ถึงขั้นต้องล้มกระดาน

KEY

POINTS

KeyPoint :

  • การเลือก สว. ระดับอำเภอที่ผ่านมา ถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีการฮั้วและการจัดตั้งหลายพื้นที่ และหลายกลุ่ม
  • มาจาก 3 กลุ่มใหญ่ คือ นักการเมือง-กลุ่มทุน-กอ.รมน. ที่ต้องการแชร์อำนาจการเมืองในสภาสูง
  • แม้ กกต. ยังไม่พิสูจน์ให้เห็นผลว่า "พฤติกรรมที่ว่า ผิดกฎหมาย" ทว่ามีบางฝ่ายจับไปโยงการล้มกระดานเลือกสว.ใหม่
  • เครือข่ายภาคประชาชนและนักวิชาการ ชี้ว่า เป็นแค่จุดอ่อน และ กกต.ต้องแก้ไขในรอบเลือกระดับจังหวัด
  • พร้อมชำแหละปัญหาที่พบ ซึ่งสะท้อนจากความไม่พร้อม ไม่ได้มาตรฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่ กกต.
  • ข้อเรียกร้องสำคัญ คือ เปิดพื้นที่สังเกตการณ์ให้กับประชาชน เพื่อให้มีคนกลางได้ตรวจสอบการเลือก สว. หลังจากที่ผู้แพ้เลือก สว. ไม่ยอมแพ้ นำประเด็นไปร้องเรียนให้การเลือกเป็นโมฆะ

จากการเลือก “สว.” ระดับอำเภอ ที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จัดเมื่อ 9 มิ.ย. เครือข่ายประชาชนและนักวิชาการที่จับตาการเลือกได้เข้าสังเกตการณ์ โดยพบว่าในหลายพื้นที่มีปัญหา โดยเฉพาะกระบวนการทำงานของ กกต. ซึ่งปัญหาที่ว่านั้น ถูกบางฝ่ายขยายผลเพื่อหวังจะล้มกระดานการเลือกครั้งนี้

ทำให้เครือข่ายประชาชน อาทิ กลุ่มวีวอช กลุ่มไอลอว์ ในนาม Senate67 ตั้งโต๊ะแถลงข้อเสนอแนะเพื่อให้ “กกต.” เร่งแก้ไขไม่ให้มีการล้มกระดานการเลือก สว.

โดยตัวแทนของ “วีวอช” รายงานถึงผลการติดตามพบว่า มีผู้สมัคร สว.ถูก กกต. ตัดสิทธิสมัคร และถูกนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครอง รวม 223 คดี แต่ก่อนจะถึงวันโหวตเลือกระดับอำเภอ เมื่อ 9 มิ.ย. พบว่ามีผู้ชนะคดีเพียง 38 ราย เท่านั้น 

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่กกต. กำหนดให้อุทธรณ์การตัดสิทธิภายใน 3 วันทำให้ส่วนใหญ่ไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้ เนื่องจากมีกระบวนการที่มีรายละเอียดจำนวนมาก เป็นอุปสรรค

“กฎหมายไม่เอื้อให้ประชาชนที่เสียสิทธิร้องเรียน โดยมีเงื่อนไขไม่สุจริต ผิดกฎหมาย มีกำหนดภายใน 3 วันหลังจากวันเลือก และการร้องเรียนต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นกรณีร้องเท็จ แต่ในกระบวนการเลือกในพื้นที่ที่ถูกเก็บเครื่องมือสื่อสารทำให้ มีหลักฐานเอาผิดได้ยาก ทั้งนี้ในประเด็นมาตรฐานการทำงานของเจ้าหน้าที่ เช่น การนำเอกสารเข้าไปในพื้นที่เลือก ให้เวลาแนะนำตัวผู้สมัครที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกระดับอำเภอจึงพูดได้ยากว่าสุจริต” เครือข่ายติดตามการเลือก สว. ระบุ

ภาค ปชช.แกะรอย ‘ฮั้วสว.’ เปลี่ยนฉากวุฒิสภา ‘ตรา ป.’

นอกจากนั้นแล้ว เครือข่ายของ “วีวอช” ระบุด้วยว่า มีตัวแทนที่ไปสังเกตการณ์พบการถูกคุกคาม เช่น การถูกติดตามตัว โดยตำรวจ และมีการถ่ายภาพ รวมถึงชี้ตัวว่าเป็นตัวแทนของผู้สังเกตการณ์ ทั้งนี้ การสังเกตการณ์ไม่พบการอำนวยความสะดวกให้เครือข่ายเท่าที่ควร นอกจากนั้นจะระบุว่าการเลือกระดับอำเภอทุจริตน้อยคงพูดไม่ได้ เพราะขั้นตอนการร้องเรียนทำได้ไม่ง่าย

เครือข่าย Senate 67 โดย “ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” จากไอลอว์ กล่าวถึงข้อเสนอแนะต่อมาตรฐานการทำงานของ “กกต.” ด้วยว่า

1. กกต. และเจ้าหน้าที่เตรียมตัวให้ดีและทำงานให้เร็วกว่านี้ เพราะบางพื้นที่ใช้เวลานับคะแนนจนถึงช่วงค่ำ เนื่องจากอุปกรณ์ชำรุด ทั้งนี้วันที่ 16 มิ.ย. มีความกังวลเพราะมีผู้ผ่านเข้ารอบจังหวัดหลักหลายร้อยคน อาจทำให้การเลือกใช้เวลาเกินเที่ยงคืน

ภาค ปชช.แกะรอย ‘ฮั้วสว.’ เปลี่ยนฉากวุฒิสภา ‘ตรา ป.’

2. ขอให้ผู้สังเกตการณ์มีส่วนร่วม ทั้งนี้มีการกล่าวหาว่ามีการจัดตั้ง จากผู้ที่แพ้เลือกตั้ง โดยไม่มีคนกลางไปร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ในการเลือกระดับอำเภอ ได้ฟังคำบอกเล่าว่า มีการตั้งใจทำบัตรเสีย มีผู้ที่คะแนนเท่ากัน ไม่ยอมจับสลาก ดังนั้นหากต้องการให้เครือข่ายจับฮั้ว ควรจัดพื้นที่ให้ผู้สังเกตการณ์ได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด

ภาค ปชช.แกะรอย ‘ฮั้วสว.’ เปลี่ยนฉากวุฒิสภา ‘ตรา ป.’ 3.ในรอบจังหวัด มีผู้ผ่านเข้ารอบ 2.3 หมื่นคน โดยรอบนี้จะทำให้มีผู้ผ่านเหลือ 3,080 คน ดังนั้น กกต. ขอให้มีความชัดเจนและมาตรฐานการทำงาน และมีกล้องวงจรปิดไปติดตั้งในพื้นที่

“ความไม่ชัดเจนของวิธีการเลือก สว. เครือข่ายจะจัดเวทีสาธารณะ เพื่อให้ผู้สมัครเจอกันเพื่อแนะนำตัวแบบมีกติกา รวมถึงเปิดสาธารณะให้สื่อมวลชน ประชาชนเข้าดูได้ โดยไม่มีการปิดลับ หรือทำในห้องมืด เหมือนที่กกต.ทำ ทั้งนี้การเปิดเวทีคงไม่สามารถทำได้ครบทุกจังหวัด แต่จะทำเท่าที่เท่าได้” ยิ่งชีพ ระบุ

ขณะที่ในมุมวิชาการ เห็นตรงกันด้วยว่า “กระบวนการเลือก สว.” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นมีปัญหา พร้อมมองว่า “กกต.” ที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรม หากทำงานตรงกันข้าม ย่อมทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของผู้สมัคร

โดย “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ระบบเลือกตั้ง สว. มีปัญหาที่กฎหมาย ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ทำให้ระบบดังกล่าวนั้นมีปัญหาเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ตนมองว่าหาก กกต.เข้าใจและส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองให้ทุกคนได้สมัครเป็น สว. จะทำให้ไม่เกิดปัญหา เพราะขณะนี้ กกต.มุ่งตัดสิทธิผู้สมัคร 

นอกจากนั้นพบว่าในอำเภอที่มีผู้สมัครคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ไม่สามารถเลือกไขว้ได้ กกต. ออกระเบียบให้งดการเลือก ซึ่งหมายถึงการ แพ้และตกรอบ แทนที่ต้องกำหนดให้ชนะและผ่านเข้ารอบ

“ตามกติกากำหนดให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 คนแรก ผ่านเข้ารอบ แต่ตีความว่ามีผู้สมัครคนเดียวจึงตัดสิทธิ ซึ่งกกต.ตีความในทางที่ตัดสิทธิ และกรณีดังกล่าวมีช่องโหว่ในทางกฎหมาย ซึ่งผมมองว่าการปฏิบัติต้องมีกฎหมายระดับรองเพื่ออุดช่องโหว่ และยึดถึงสิทธิเสรีภาพเป็นที่ตั้ง ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูคำตัดสินของศาลฎีกาตามที่มีผู้ยื่นร้องไปแล้ว” ปริญญา กล่าว

นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ กล่าวด้วยว่า สว.ปัจจุบันที่มาจากการแต่งตั้งของ “คสช.” มีคนคิดจะต่ออายุ ซึ่งวิธีที่ทำได้คือ ทำให้การเลือกสว.ใหม่ไม่สำเร็จ ซึ่งขณะนี้ประเด็น เนื่องจากมีผู้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแนะนำตัว และการขัดกันของพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือก สว. หากศาลตัดสินว่าขัด จะทำให้การเลือก “สว.ใหม่” เป็นโมฆะ 

ภาค ปชช.แกะรอย ‘ฮั้วสว.’ เปลี่ยนฉากวุฒิสภา ‘ตรา ป.’ ส่วนปัญหาข้อร้องเรียน เช่น การบันทึกภาพและเสียงตลอดการเลือกสว. แต่พบว่ามีแค่ภาพ ไม่มีเสียง คนที่ต้องรับผิดชอบคือ ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอ ไม่ใช่ร้องให้การเลือกตั้ง สว. เป็นโมฆะ

ขณะเดียวกัน “ปริญญา” ยังเสนอแนะแนวทางเพื่อให้ กกต.แก้ไขการเลือกในระดับจังหวัดคือ ให้สิทธิผู้ผ่านเข้ารอบ แนะนำตัวให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดกระบวนการฮั้วกันได้ง่าย รวมถึงให้เกิดการจับสลาก

“หลังการเลือกตั้ง สส. ปี2562 ระบบเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว และสูตรคำนวณพิสดาร ได้สส.ปัดเศษ รอบนี้อาจมี สว.จับสลาก ดังนั้นจะช่วยแก้ได้ คือ ทำให้โปร่งใส เพื่อลดการฮั้วแบบมีค่าตอบแทน แม้ระบบจะมีปัญหา ทั้งหมดนี้ไม่ต้องการเอาเรื่องอะไร แต่ต้องการแก้ปัญหาและการเลือกสว. สมประโยชน์ได้ผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง” ปริญญา กล่าว

ขณะที่ “พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต" นักวิชาการจากนิด้า ยอมรับว่า การเลือกสว.​มีการฮั้วกัน แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ โดยพื้นที่ที่ฮั้ว จะอยู่ในพื้นที่นักการเมืองเก่า กลุ่มทุนผูกขาด และ เครือข่าย กอ.รมน.

ภาค ปชช.แกะรอย ‘ฮั้วสว.’ เปลี่ยนฉากวุฒิสภา ‘ตรา ป.’ ทั้งนี้ “พิชาย” จำแนกเป้าหมายของ 3 กลุ่มดังกล่าวด้วยว่า 1.เครือข่ายนักการเมืองเก่า พบว่ามีเครือข่ายนายใหญ่ “ตระกูลชิน” วางไว้หลายจังหวัด เช่น นนทบุรี เพื่อเสริมแกร่งให้รัฐบาล หรือ สส. 

ในปีนี้จะมีการเลือกกรรมการองค์กรอิสระหลายองค์กร หากกุมสว.ได้ จะได้คนที่ไม่มีความคิดเป็น “ปฏิปักษ์” เพื่อเป็นความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมือง นอกจากนั้นแล้วในกรณีของบ้านใหญ่ต้องการผู้ที่สนับสนุนการทำงาน

ภาค ปชช.แกะรอย ‘ฮั้วสว.’ เปลี่ยนฉากวุฒิสภา ‘ตรา ป.’ 2.กอ.รมน. และข้าราชการเกษียณเพื่อสกัดฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 3.กลุ่มของนายทุน ภาคธุรกิจ เพื่อต้องการคนที่ไปปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง

“พิชาย” กล่าวด้วยว่า สำหรับการฮั้วไม่ใช่เหตุการเลื่อน หรือเลิกเลือกตั้ง เพราะกระบวนการการเลือกย่อมมีปัญหา อีกทั้งคาดการณ์ได้ว่า อาจทำให้เปิดช่องฮั้วกันได้ เพราะคนไทยยุคนี้เป็นนักจัดตั้ง หลายกลุ่มต้องการเข้ามาแชร์อำนาจ ทำให้เปิดโอกาสให้กลุ่มต่างๆ แชร์อำนาจรัฐ ซึ่งดีกว่าระบบที่ “คสช." แต่งตั้ง แม้ระบบไม่สมบูรณ์​แต่ดีกว่าใช้ปืนจี้เพื่อให้เลือกบุคคลใดเป็นสว.

“การตรวจสอบเลือก สว. ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบได้ แต่มี 2 เป้าหมาย คือ ตรวจสอบฐานะประชาชนให้กระบวนการเลือกโปร่งใส่ แต่บางกลุ่มอาศัยข้อบกพร่องเพื่อล้มการเลือกสว. จากผู้ที่เป็น สว.ในปัจจุบัน เพราะหากเลือกไม่ได้ สว.ชุดที่ คสช.ตั้งได้ประโยชน์ ดังนั้นผมขอให้เลิกทำ ผมเชื่อว่ากระบวนการจับฮั้วจะมีประสิทธิภาพ หากทุกฝ่ายร่วมจับตา และอาจได้เห็นการสอย สว.ฮั้วเกิดขึ้น หลังจากการเลือกแล้วเสร็จ” พิชาย กล่าวทิ้งท้าย.