'กมธ.นิรโทษกรรม' มีมติร่วม ชง 'กก.กลั่นกรอง' ให้สภาพิจารณา
"วุฒิสาร" เผยมติกมธ.นิรโทษกรรม เสนอ กรรมการกลั่นกรองคดีนิรโทษกรรม ให้สภาฯ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม รอพิจารณารูปแบบกก.
ที่รัฐสภา นายวุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม กมธ. ว่า ที่ประชุมมีข้อยุติถึงกลไกการนิรโทษกรรม ผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง อย่างไรก็ดี กมธ.เคารพความเห็นของอนุกมธ. และจะนำเป็นสารตั้งต้นในการพิจารณา ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าจะเห็นด้วยกับทุกเรื่อง
นายวุฒิสาร กล่าวด้วยว่า สำหรับกรรมการนิรโทษกรรมนั้น มีความจำเป็นเพราะระยะเวลาการนิรโทษกรรมนั้นยาวนาน ตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ดังนั้นเหตุการณ์ รวมถึงการกระทำของบุคคลที่มีแรงจูงใจทางการเมืองและเข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรมก็มีความหลากหลาย อีกทั้งในอดีตฐานความผิดที่จะนิรโทษกรรมเพิ่มมากขึ้น เพราะเหตุการณ์ต่างๆ มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีต ผู้ที่เข้าข่ายก็อาจมีหลายความผิดและหลายคดี ซึ่งมีฐานมาจากกฎหมายหลายประเภทและในช่วงโควิด-19 ก็มีกฎหมายพิเศษเข้ามาอีก
นายวุฒิสาร กล่าวด้วยว่า การนิรโทษกรรมโดยไม่มีการกลั่นกรอง อาจจะทำให้ความยุติธรรมไม่สมบูรณ์ จึงต้องมีคณะกรรมการทำหน้าที่ช่วยพิจารณาข้อเท็จจริง และรับคำอุทธรณ์ของผู้ที่ไม่ได้เข้าข่ายรับการนิรโทษกรรมด้วย ส่วนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าว ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา ซึ่งคิดว่าเรื่ององค์ประกอบน่าจะตามมาภายหลังบทบาทของคณะกรรมการชัดเจนแล้ว
เมื่อถามถึงร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับภาคประชาชน ที่มีกาาเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของรัฐสภา โดยเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยนั้น นายวุฒิสาร กล่าวว่า ประเด็นต่างๆ ที่สื่อมวลชนได้นำเสนอ รวมถึงข้อคิดเห็นที่มีผู้ส่งเข้ามา ทางคณะกรรมาธิการฯ รับฟังทั้งหมด แต่หน้าที่สำคัญคือการให้คำตอบกับสภาในการศึกษาแนวทางการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม