'ศาล รธน.- กกต.' เคลียร์ปมอำนาจ ก่อนชี้ขาดคดี ‘ยุบก้าวไกล’

'ศาล รธน.- กกต.' เคลียร์ปมอำนาจ ก่อนชี้ขาดคดี ‘ยุบก้าวไกล’

การที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำให้ทุกอย่างชัดเจนก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบทางการเมือง ที่อาจถาโถมเข้าใส่ เหมือนเมื่อครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นได้

KEY

POINTS

  • 18 มิ.ย.67 จับตาศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาครั้งสุดท้ายคดียุบพรรคก้าวไกล ก่อนมีคำสั่งคืบหน้าไปอีก 1 สเต็ป
  • คาดสั่ง กกต.แจงข้อกฎหมายให้ครบ - สั่งสำนักงานศาลฯ ศึกษาข้อมูลเพื่อให้อำนาจกระจ่างชัด ก่อนชี้ชะตา “ก้าวไกล”
  • ถ้าข้อเท็จจริง - ข้อกฎหมายครบ อาจนัดวันเพื่อฟังคำวินิจฉัยได้เลย
  • ถ้ายังไม่ครบ อาจเปิดให้ไต่สวนพยานเพิ่มเติม โดยจะเป็นเปิดเผยเต็มรูปแบบ หรือไต่สวนทางลับก็ได้

วันที่ 18 มิ.ย.67 ดีเดย์ชี้ชะตา “พรรคก้าวไกล” ในคำร้องถูกยื่นกล่าวหา “ยุบพรรค” จากกรณี 44 สส.ก้าวไกล เคยยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าข่ายล้มล้าง-ปฏิปักษ์ต่อการปกครองหรือไม่ โดยเมื่อ 12 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งบัญชีพยานหลักฐานเพิ่มเติมพร้อมสั่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะนำเสนอที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การให้ข่าวของแต่ละฝ่ายผ่านสื่อ ต่างตีความตัวบทกฎหมายเป็นของตัวเอง 

เริ่มจากฟาก “พรรคส้ม” ที่ยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเอง พร้อมระบุว่า กกต.ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องนี้ เนื่องจากไม่เคยเรียกพรรคก้าวไกลเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ดังนั้นคำร้องดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามระเบียบการไต่สวน 

นอกจากนี้การที่ กกต.อ้างข้อมูลเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้พรรคก้าวไกล และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ยุติการกระทำล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 กรณีเคยยื่นแก้ไขมาตรา 112 และการปราศรัยหาเสียงจะแก้มาตรา 112 ขณะเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องนี้ และไม่มีอำนาจในการตัดสินยุบพรรค รวมถึงตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคได้

“การแยกข้อเท็จจริงพยานหลักฐาน เป็นคนละเรื่องกับการปฏิบัติ ตามกระบวนการตามกฎหมาย และระเบียบที่ กกต.เป็นผู้กำหนด ขอย้ำว่าการยื่นร้องยุบพรรค ตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง การปฏิบัติต้องปฏิบัติประกอบกระบวนการตามมาตรา 93 และระเบียบที่ กกต.เป็นผู้กำหนด มารองรับการปฏิบัติ ต้องมีขั้นตอนที่ให้มีการตั้งคณะบุคคลขึ้นมา เพื่อสรุปรายงานให้แก่นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาก่อนจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุ

ด้าน กกต.ออกมาแถลงวานนี้ (13 มิ.ย.67) นำโดย ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง ชี้แจงรายละเอียดของคดี คอนเฟิร์มว่า การยื่นคำร้องของ กกต.ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งพรรคก้าวไกลยุติการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครอง

“ถือว่า กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้แล้ว ถ้าขนาดที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ใช่หลักฐานอันควรเชื่อถือได้ กกต.คงตอบกลับสังคมยาก” ปกรณ์ ระบุ

หลังจากนั้นมีผู้ร้องเรียนมายัง กกต.ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง กกต.จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องไต่สวน

กกต.รายนี้ อธิบายว่า มาตรา 92 ของกฎหมายฉบับดังกล่าวให้อำนาจ กกต. ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากมีการบัญญัติคำว่า “ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ซึ่งแตกต่างจากมาตรา 93 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ที่ระบุว่า “เป็นเรื่องที่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า มีการกระทำดังกล่าว นายทะเบียนจึงรวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน พร้อมความเห็นเสนอต่อ กกต.” ดังนั้นการยื่นคำร้องดังกล่าวของ กกต.จึงชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

นอกจากนี้ กกต.ยังตอบคำถามที่ค้างคาใจประชาชนบางส่วน ประเด็นกฎหมายยุบพรรคการเมืองยังสมควรมีอยู่หรือไม่ในประเทศไทย ว่า มีคำถามมากเหลือเกินที่เข้ามาว่า เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ กกต.พูดคุยกันมาก และตอบได้อย่างเดียวว่า กกต.ไม่สามารถตอบได้

กกต.เป็นผู้ปฏิบัติ ต้องเคารพตามกฎหมาย และปฏิบัติตามกฎหมาย จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ไม่ได้ แต่เมื่อใดมีผู้ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย และแก้กฎหมาย เช่น ไม่มีการบัญญัติในเรื่องยุบพรรคการเมือง เมื่อนั้น กกต.แม้แต่จะคิดก็ยังไม่กล้า นี่คือ สิ่งที่เราทำตามกฎหมาย และปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายทุกอย่าง

ทั้งหมดจึงนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาด “พรรคก้าวไกล” ดังกล่าว ทว่าประเด็นน่าสนใจที่หลงเหลืออยู่จากเอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา คือ เหตุใดจึงต้องสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีพยานหลักฐานเพิ่มเติม และทำไมถึงสั่งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

อาจเป็นไปได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องการให้ กกต.คอนเฟิร์มตัวบทกฎหมายให้ชัดเจนว่า การยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบ และกฎหมายอย่างแท้จริง ไม่มีอะไรติดขัด หรือสร้างความสับสนให้กับสังคมอีก

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งสำนักงานฯ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่กระจ่างชัด เกี่ยวกับบทบาท และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญว่า มีอำนาจวินิจฉัย ชี้ขาดการยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามกฎหมายทุกประการเช่นกัน

การที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำให้ทุกอย่างชัดเจนก่อน เพื่อป้องกันผลกระทบทางการเมืองที่อาจถาโถมเข้าใส่ เหมือนเมื่อครั้งยุบพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นได้ 

ดังนั้นที่ต้องจับตาคือวันที่ 18 มิ.ย.67 นี้ อาจเป็นการพิจารณา “นัดสุดท้าย” ก่อนที่จะมีความคืบหน้าของคดีออกไปอีก 1 สเต็ป นั่นคือ

1.หากศาลเห็นว่าข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายครบถ้วน อาจนัดวันเพื่อฟังคำวินิจฉัยคดีดังกล่าวได้เลย หรือ

2.หากศาลเห็นว่าข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายยังไม่ครบ อาจเปิดให้มีการไต่สวนพยานเพิ่มเติม โดยอาจไต่สวนในทางเปิดเผยเต็มรูปแบบ หรือไต่สวนในทางลับไม่ให้คนนอกเข้าไปฟังก็ได้

ทั้งหมดคือ ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการ “ยุบก้าวไกล” ที่กำลังร้อนระอุอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลานี้ บทสรุปสุดท้ายจะเป็นเช่นไร ต้องติดตาม

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์