'จุลพันธ์' ชี้1-2สัปดาห์ ได้ข้อสรุป เงินดิจิทัล ซื้อเครื่องไฟฟ้า-โทรศัพท์

'จุลพันธ์' ชี้1-2สัปดาห์ ได้ข้อสรุป เงินดิจิทัล ซื้อเครื่องไฟฟ้า-โทรศัพท์

"จุลพันธ์” เผย นายกฯ ห่วงการใช้เงินดิจิทัลซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า-โทรศัพท์ ชี้ ต้องการให้เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ คาดอีก 1-2 สัปดาห์ ได้ข้อสรุป รับการเมืองส่งผลทำหุ้นตก เชื่อ หากกระบวนการกฎหมายชัดจะดีขึ้น

18 มิ.ย.2567 เวลา 09.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งให้ทบทวนแนวทางการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่สามารถนำมาซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรศัพท์ได้ ว่า มีข้อสรุปจากคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

โดยส่วนตัวและนายเผ่าภูมิ โรจน์สกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทักท้วงประเด็นนี้ไป เพราะอยากให้เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยเป็นหลัก แต่ยังมีข้อจำกัดในการปฏิบัติ เพราะบางร้านค้าขายของหลายประเภท จึงเป็นความกังวลของภาคการปฏิบัติจริง กระทรวงพาณิชย์จึงได้เสนอไปยังคณะอนุกรรมการฯ สุดท้ายจึงมีมติให้ยืนตามเดิม ซึ่งนายกรัฐมนตรีค่อนข้างห่วงเรื่องนี้ เพราะกลไกของการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ต้องการให้เกิดการบริโภค การจ้างงาน การผลิตภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นต้องไปทบทวนดูในรูปแบบของคณะกรรมการให้ทบทวน คาดว่าจะได้ข้อสรุป 1-2 สัปดาห์ และจะนัดประชุมอีกครั้งในปลายสัปดาห์หน้า

นายจุลพันธ์ ยังระบุด้วยว่า เมื่อถึงเวลาจะสอบถามแหล่งเงินจาก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. จึงเชื่อมั่นว่าทันแน่นอน เพราะดูตามกรอบเวลาแล้ว 

ส่วนหากแหล่งเงินจาก ธกส. ใช้ไม่ได้ จะมีแหล่งเงินอื่นหรือไม่นั้น นายจุลพันธ์ ระบุว่ายังไม่ได้คิดประเด็นนี้ ต้องดูความเหมาะสม และดูองค์ประกอบอีกหลายอย่าง พร้อมยอมรับว่า หากใช้บัญชี ธกส. ต้องจ่ายผ่านบัญชีของเกษตร เรื่องนี้จึงยังมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ

สำหรับกรณี"หุ้นตก"จะสร้างความเชื่อมั่นอย่างไร นายจุลพันธ์ ยอมรับว่าปัจจัยหนึ่งเกิดจากการเมือง และต้องยอมรับความจริงว่าสถานการณ์การเมืองช่วงเดือนนี้มีหลายกรณี แต่ไม่มีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐาน สภาพตลาดยังคงความแข็งแกร่ง รวมถึงกลไกของรัฐบาลในการผลักดันทางการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาคุณภาพแรงงาน ทั้งหมดจะสร้างความเชื่อมั่นในส่วนของพื้นฐานการตลาดได้ แต่อีกไม่กี่วันเรื่องราวที่เป็นข้อห่วงใยของตลาดที่เกิดความลังเลเกิดขึ้น สุดท้ายจะมีกระบวนทั้งศาลรัฐธรรมนูญ หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อมีความกระจ่างชัดในทางใดทางหนึ่งตลาดก็จะได้รับข้อมูลเหล่านั้นไปแล้วกลับสู่ภาวะปกติ และสุดท้ายคงต้องมีมาตรการออกมา แต่คงไม่ใช่มาตรการที่ออกในวันเดียว เพราะกลไกตรงนี้จะเป็นผลกระทบกับตลาดที่เกิดความสงสัยกับสถานการณ์การเมืองเพียงแค่ช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น อีกไม่กี่วันก็คงจะดีขึ้น