ชัดแล้ว! สัมพันธ์ลึก 3 กก.บ.ชนะประมูลข้าว 10 ปี เครือธุรกิจขายมันยุค ‘เศรษฐา’
เปิดสัมพันธ์ลึก 3 กก.บริษัท วีเอทฯ ผู้ชนะประมูลข้าว 10 ปีสต็อกรัฐบาล พบเคยร่วมหุ้นใน 2 ธุรกิจเครือข่าย ‘สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร’ ที่ขายมันเส้นลอตใหญ่ให้จีน 5 แสนตัน ยุค ‘เศรษฐา’
กรณีบริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด จ.กำแพงเพชร ชนะการประมูลซื้อข้าว 10 ปีในสต็อกของรัฐบาล จำนวน 15,000 ตัน ด้วยราคาสูงสุด 286 ล้านบาท อย่างไรก็ดีบริษัทแห่งนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 6 มี.ค. 2563 หรือราว 4 ปีที่แล้ว แถมมีทุนจดทะเบียนแค่ 2 ล้านบาท แต่กลับมีความสามารถประมูลซื้อข้าวด้วยวงเงินกว่า 286 ล้านบาทได้อย่างไร
ต่อมามีการสืบค้นจนพบว่า บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด ใช้ที่ตั้งเดียวกับ บริษัท ดีจี แรนซ์ จำกัด คือเลขที่ 999/9 หมู่ที่ 8 ต.คลองขลุง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร มี “ภาคภูมิ มุ่งงาม” ถือหุ้นใหญ่สุด โดยบริษัท ดีจี แรนซ์ฯ คือหนึ่งในธุรกิจเครือข่าย “สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร” ของ “กิตติชัย ตั้งเจริญ” หรือ “เสี่ยปู” เป็นเจ้าของ และมีภริยา “สุวารี มุ่งงาม” หรือ “ผึ้ง” เป็นกรรมการผู้จัดการ
โดยบริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด ลงนามข้อตกลงในการจัดซื้อมันสำปะหลังกับบริษัท COFCO Group รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตอาหารและผู้ค้าธัญพืชรายใหญ่ที่สุดของจีน จำนวน 500,000 ตัน ในยุคที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และเดินทางไปร่วมประชุม Belt and Road Initiative (BRI) ที่ประเทศจีน เมื่อเดือน ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา
สำหรับบริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด ปรากฏชื่อ นางสาววรรณิสา ทองจิตติ นางสาวทานตะวัน นาสมใจ และนายศิวะ มาประเสริฐ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น ขณะที่บริษัท ดีจี แรนซ์ จำกัด มีนายภาคภูมิ มุ่งงาม เป็นกรรมการคนเดียว ส่วนผู้ถือหุ้น มีนายภาคภูมิ นายสวัสดิ์ มุ่งงาม และนางสุวรี มุ่งงาม
ล่าสุด กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า 3 กรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นบริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด เคยเข้าไปร่วมถือหุ้นและเป็นกรรมการใน 2 บริษัทเครือ “สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร” อย่างน้อย 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่
- บริษัท เชียงรายกสิกรรม จำกัด
จดทะเบียนเมื่อ 14 มี.ค. 2555 ปัจจุบันเสร็จชำระบัญชีไปแล้วเมื่อ 19 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ทุนจดทะเบียนก่อนเลิก 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 168 หมู่ที่ 2 ต.ตาดควัน อ.พญาเม็งราย จ.เชียงราย ปรากฏชื่อ 1. นายภาคภูมิ มุ่งงาม 2. นางรัชนีกร ยะตั๋น เป็นกรรมการ
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 30 เม.ย. 2565 รวม 22 คน โดยนายภาคภูมิ มุ่งงาม ถือหุ้นใหญ่สุด 35% นางสุวรี มุ่งงาม ถือรองลงมา 34.5% มี 5 คนถือคนละ 6.25% มี 1 คนถือ 2.5% ที่เหลือถือคนละ 0.2% โดยในจำนวนนี้มีชื่อของ นางสาว วรรณิสา ทองจิตติ นางสาว ทานตะวัน นาสมใจ และนายศิวะ มาประเสริฐ ร่วมถือด้วยคนละ 0.2%
บริษัทแห่งนี้นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2564 มีสินทรัพย์รวม 181,295 บาท มีรายได้รวม 62,072,026 บาท แต่ขาดทุนสุทธิ 13,761,307 บาท
- บริษัท แอดวานซ์ อะกริ เทรด จำกัด
จดทะเบียนเมื่อ 16 ธ.ค. 2558 ยังดำเนินกิจการอยู่ ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 999 หมู่ที่ 8 ต.คลองขลุง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร (ที่ตั้งใกล้กับบริษัท บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด และบริษัท ดีจี แรนซ์ จำกัด) มีนายภาคภูมิ มุ่งงาม เป็นกรรมการรายเดียว
นำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อ 31 มี.ค. 2567 นายภาคภูมิ มุ่งงาม ถือหุ้นใหญ่สุด 60% นายศิวะ มาประเสริฐ ถือหุ้น 20% และนายณัฏฐพล ประดาพล ถือหุ้น 20%
บริษัทแห่งนี้นำส่งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 7,256,593 บาท มีรายได้รวม 12,218,153 บาท กำไรสุทธิ 855,390 บาท
สำหรับ "ภาคภูมิ มุ่งงาม" คือหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักของ บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด ทุนปัจจุบัน 540 ล้านบาท ธุรกิจค้าพืชผลทางการเกษตรทุกชนิดของ "เสี่ยปู" กิตติชัย ตั้งเจริญ ปรากฎรายชื่อผู้ถือหุ้น บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด เมื่อ 30 เม.ย. 2567 มี 5 คน ได้แก่
- นาย สวัสดิ์ มุ่งงาม ถือ 20%
- นาง จำรุณ มุ่งงาม ถือ 20%
- นาง สุวรี มุ่งงาม ถือ 20%
- นาย กิตติชัย ตั้งเจริญ ถือ 20%
- นาย ภาคภูมิ มุ่งงาม ถือ 20%
สำหรับเครือข่ายธุรกิจ “สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร” เท่าที่ตรวจสอบพบเบื้องต้นมีด้วยกันอย่างน้อย 7 แห่ง ซึ่งปรากฏชื่อกรรมการ และผู้ถือหุ้นตรงกันหลายคน ได้แก่
- บริษัท เชียงรายกสิกรรม จำกัด
- บริษัท ดีจี แรนซ์ จำกัด
- บริษัท ที.เอส.พี. ไรซ์ จำกัด
- บริษัท สวัสดิ์ไพบูลย์การเกษตร จำกัด
- บริษัท แอดวานซ์ อะกริ เทรด จำกัด
- บริษัท โรงสีสวัสดิ์ไพบูลย์ จำกัด
- บริษัท โรงไฟฟ้าชุมชนคลองขลุง จำกัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจสอบหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการการประมูลซื้อข้าว 10 ปีแต่อย่างใด
ขณะที่นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภาเมื่อ 21 มิ.ย. 2567 ถึงกรณีนี้ว่า เป็นเรื่องที่ห่วงใย โดยผู้ที่ประมูลได้ควรจะได้สิทธิในการเข้ามาดูแลจัดการข้าวกองนี้ แต่มี 2-3 ประเด็นวิจารณ์ที่ทราบจากสื่อคือ บริษัทที่ชนะการประมูลเป็นนอมินีของใครหรือไม่ และบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียนแค่ 2 ล้านบาท เมื่อปี 2544 โดยงบดุลประจำปี เห็นว่าผลประกอบการค้าขายอยู่ที่ 1-2 ล้านบาท ซึ่งไม่มาก แต่มาประมูลข้าวมูลค่า 286 ล้านบาท จึงเกิดคำถามว่าไม่ค่อยสมดุลและอาจมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าประมูลในราคาที่ไม่น่าเชื่อถือว่าจะทำได้ ทั้งหมดเป็นข้อกล่าวหา จึงต้องให้เกียรติผู้ที่มาประมูลด้วย เพราะเขามีสิทธิที่จะชี้แจงทำความเข้าใจ