เล่ห์กลกฎหมาย ‘ก้าวไกล’ ยืมแทคติกในตำนาน ปชป.สู้คดีพรรค

เล่ห์กลกฎหมาย ‘ก้าวไกล’ ยืมแทคติกในตำนาน ปชป.สู้คดีพรรค

ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงพิจารณาในเรื่องของ “แทคติก” ทางกฎหมายล้วน ๆ นั่นจึงทำให้ “ก้าวไกล” สบช่องเล็งเห็นว่า การกระทำของ กกต.ชุดปัจจุบัน อาจเข้าข่ายกับ กกต.ในอดีต จึงเดินเกมใช้ “เล่ห์กลกฎหมาย” นี้เช่นเดียวกัน

KEY

POINTS

  • คำร้องยื่นยุบ “พรรคก้าวไกล” ยังคงมีหลายฝ่ายถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
  • กกต.ยืนยันชัดเจนว่า การยื่นคำร้องใช้ช่อง ม.92 อย่างเดียวได้ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนตาม ม.93
  • “ก้าวไกล” ซัดกลับอย่าตีความแบบศรีธนญชัย การยื่นยุบพรรคเรื่องใหญ่ ต้องเปิดไต่สวนตามระเบียบใหม่ เทียบ ทษช.ไม่ได้
  • ศาลรัฐธรรมนูญทำงานรัดกุมอย่างมาก สั่ง กกต.-สำนักงานศาลฯ รวบรวมข้อกฎหมาย-ข้อเท็จจริงให้กระจ่าง
  • จับตา “ค่ายส้ม” ใช้เล่ห์กลในตำนานยกเคสยุบ ปชป. ชี้การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พรรคก้าวไกล” ยังต้องลุ้นอีกเฮือกใหญ่ พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดพิจารณาคดีกล่าวหาว่า “ล้มล้างการปกครอง” ที่สืบเนื่องจาก สส.ก้าวไกล เคยยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้ช่องตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ยื่นคำร้องขอให้ “ยุบพรรค” และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

โดยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า 4 ประเด็น ได้แก่

1.เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณากำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป 

2. มีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 3. กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 3 กรกฎาคม 2567 และ 4. กำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐานในวันอังคารที่ 9 ก.ค. 2567

ใน 4 ประเด็นข้างต้น น่าสนใจอยู่ 2 ประเด็นคือ หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ “บุคคล” โดยมิได้ระบุว่าเป็นใคร หรือฝ่าย กกต. หรือฝ่ายก้าวไกล ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นล่วงหน้าแก่ศาลรัฐธรรมนูญ และสอง ศาลสั่งให้นำพยานเอกสารในคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 หรือคดีที่ศาลสั่งให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์-พรรคก้าวไกล” ยุติการกระทำในการปราศรัยหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้มีข้อถกเถียงอย่างมากในเรื่องการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของ กกต. โดยฝ่าย กกต.ไม่ว่าจะเป็น “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. รวมถึงปกรณ์ มหรรณพ กกต. และแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยืนยันตรงกันว่า การยื่นคำร้องดังกล่าว เป็นไปตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่ให้อำนาจ กกต.ยื่นคำร้องด้วยตัวเอง เนื่องจากมีการบัญญัติคำว่า “ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” แตกต่างจากมาตรา 93 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน ที่ระบุว่า “เป็นเรื่องที่ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า มีการกระทำดังกล่าว นายทะเบียนจึงรวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน พร้อมความเห็นเสนอต่อ กกต.” ดังนั้นการยื่นคำร้องดังกล่าวของ กกต.จึงชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

ทว่า “ค่ายสีส้ม” นำโดย “พิธา” พร้อมด้วย “ชัยธวัช ตุลาธน” ยืนกรานว่า กกต.อย่าตีความแบบ “ศรีธนญชัย” เพราะการดำเนินคดีนี้ เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญ กกต.จำเป็นต้องเปิดการไต่สวน การยื่นคำร้องยุบพรรค ต้องอาศัยช่องตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 92 มิใช่ใช้แค่มาตรา 92 เพียงอย่างเดียว 

นอกจากนี้การนำเรื่องดังกล่าวไปเทียบกับกรณี “พรรคไทยรักษาชาติ” หรือ ทษช.ไม่ถูกต้อง เพราะว่ากรณีที่ ทษช.ถูก กกต.ยื่นคำร้องยุบพรรคเมื่อปี 2562 นั้น ยังไม่มีระเบียบใหม่มีผลบังคับใช้ปี 2566 ที่การไต่สวนต้องเป็นไปตามมาตรา 93 ออกมา

ประเด็นนี้ถูก “ก้าวไกล” นำไปใส่ในแนวทางต่อสู้ 9 ข้อที่ “พิธา-ชัยธวัช” เคยแถลงต่อสาธารณะไปก่อนหน้านี้ จนศาลรัฐธรรมนูญต้องออกโรงเตือนมิให้แสดงความเห็นไปในทิศทางชี้นำคดีดังกล่าวอีก

บุคคลที่อาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน “ศาสดาสีส้ม” อย่าง “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะก้าวหน้า แม้ที่ผ่านมาจะมีเหตุการณ์ให้ต้อง “งอน” กันบ้างพอหอมปากหอมคอ แต่ขณะนี้เขากลับมารันวงการ คอยเป็นมือไม้ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย “ก้าวไกล” อย่างเต็มกำลัง

โดย “ปิยบุตร” โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กางแทคติก 7 ข้อสำคัญว่า ไฉนคำร้องของ กกต.จึงมิชอบด้วยกฎหมาย โดยยืนยันสาระสำคัญว่า การยื่นคำร้องของ กกต.จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ควบคู่กับมาตรา 92 ไม่สามารถใช้มาตรา 92 เพียงมาตราเดียวยื่นคำร้องได้

“หากอ่านกฎหมายแบบประหลาดวิปริตเช่นนี้ ผลย่อมกลายเป็นว่า การเสนอคำร้องยุบพรรคมี 2 กระบวนการที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง (แบบหนึ่ง ไม่ต้องให้พรรคการเมืองชี้แจง แต่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย กับอีกแบบหนึ่ง ต้องให้พรรคการเมืองโต้แย้งเสียก่อน) ทั้งๆที่ต่างก็เป็น คำร้องขอให้ยุบพรรคเหมือนกัน รูปคดีเหมือนกัน เหตุแห่งการยุบพรรคเหมือนกัน ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเหมือนกัน และผลร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคเหมือนกัน” ปิยบุตร ระบุ

แต่ประเด็นที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ “ปิยบุตร” พยายามยกกรณีการยื่นคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เมื่อปี 2553 ที่ กกต.ยื่นคำร้องกล่าวหาว่า ปชป.รับเงินบริจาคพรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 258 ล้านบาท โดยทำสัญญาว่าจ้างทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามโครงการต่างๆ อันเป็นนิติกรรมอำพราง เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับเงินบริจาคตามที่กฎหมายกำหนด และศาลรัฐธรรมนูญได้ยกคำร้องยุบพรรค ปชป.มาแล้ว ด้วยเหตุว่า กระบวนการขั้นตอนยื่นคำร้องยุบพรรค ไม่ชอบด้วย พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2550 (กฎหมายขณะนั้น) เนื่องจากนายทะเบียนพรรคการเมือง (กฎหมายขณะนั้นคือ ประธาน กกต.) ส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณา โดยไม่ทำความเห็นก่อน

คดียุบพรรค ปชป.เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ในพรรคเต็มไปด้วยมือกฎหมาย “ชั้นอ๋อง” นำโดย “วิรัตน์ กัลยาศิริ” อดีต สส.สงขลา มือกฎหมายชั้นครูแห่งพรรคผู้ล่วงลับ ได้ต่อสู้ในประเด็นเชิง “แทคติก” สำคัญคือ กระบวนการยื่นคำร้องดังกล่าวของ กกต.มิชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยที่ 16/2553 เมื่อ 9 ธ.ค. 2553 ชี้ขาดประเด็นสำคัญคือ กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยกคำร้องยุบ ปชป.เนื่องจากพิจารณาในประเด็นกระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบ ปชป.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ว่า กฎหมายที่จะมาบังคับใช้กับคดีนี้คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 95 วรรคหนึ่ง ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องตรวจสอบและทำความเห็นกรณีเมื่อเกิดข้อพิพาทก่อน หากนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้มีความเห็นไว้ก่อน กกต.จะไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยพรรคการเมืองได้

แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งหมด ข้อความตามเอกสารของนายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นเพียงการบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญเท่านั้น ไม่ปรากฏความเห็นว่า ปชป.กระทำการอันเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรค ฉะนั้นการที่ กกต.มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองไปแจ้งต่ออัยการสูงสุด (อสส.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง (กระบวนการตามรัฐธรรมนูญ 2550) จึงไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติและไม่มีอำนาจที่จะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบได้

ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว จึงพิจารณาในเรื่องของ “แทคติก” ทางกฎหมายล้วน ๆ นั่นจึงทำให้ “ก้าวไกล” สบช่องเล็งเห็นว่า การกระทำของ กกต.ชุดปัจจุบัน อาจเข้าข่ายกับ กกต.ในอดีต จึงเดินเกมใช้ “เล่ห์กลกฎหมาย” นี้เช่นเดียวกัน

นั่นจึงไม่แปลกว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงดำเนินการอย่าง “รัดกุม” ในคดีนี้ เห็นได้จาก คราวก่อนศาลสั่งให้ กกต.ส่งบัญชีพยานหลักฐานเพิ่มเติม พร้อมสั่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนจะนำเสนอที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ “กระจ่างชัด” ทางกฎหมายมากที่สุด

ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายเมื่อ 14 ปีก่อน อาจเทียบไม่ได้มากนักกับข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายในปัจจุบัน ดังนั้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปี 2567 จะเหมือนหรือแตกต่างกับปี 2553 หรือไม่ “ก้าวไกล” จะได้ “ส้มหล่น” เหมือน “ค่ายสีฟ้า” หรือเปล่า ต้องติดตาม