92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 2)
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ได้แสดงความเห็นเนื่องในโอกาสครบรอบ 92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็น “ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” หรือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
KEY
POINTS
- รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้แสดงความเห็นเนื่องในโอกาสครบรอบ 92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475
- หากเกิดรัฐประหารโดยเฉพาะการรัฐประหารโดยกองทัพขึ้นอีกในอนาคต อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจได้
- กฎหมายยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของไทยถูกวิจารณ์ในแง่ความชอบธรรมเนื่องจากเป็นผลพวงของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 และ ปี พ.ศ. 2557
- หมายเหตุ Key points สรุปจากกองบรรณาธิการ
92 ปี อภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิ.ย.2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ตอน 1)
เวลาเราต้องการทำให้เกิดประชาธิปไตยที่มั่นคง (Democratic Consolidation) นั้น เราไม่ได้ต้องการเพียงรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น เราต้องการรัฐธรรมนูญกติกาสูงสุดที่เป็นประชาธิปไตย ระบบการเลือกตั้งที่เปิดเผย เป็นกลางและเที่ยงธรรม เราต้องการระบบราชการและระบบการเมืองที่มีธรรมภิบาล มีประสิทธิภาพ รวมทั้ง ความมีระเบียบและเสถียรภาพอีกด้วย
รัฐประหารเมื่อ 10 ปีที่แล้วได้นำประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารอีกครั้งหนึ่ง แต่มีลักษณะที่ผ่อนคลายกว่า เผด็จการทหารในยุค พ.ศ. 2500-2516 เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากและไม่เกื้อหนุนต่อระบอบอำนาจนิยมที่ใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดรุนแรง
รัฐบาล คสช. ใช้อำนาจปกครองยาวนานเกือบ 5 ปี จึงยอมให้มีการเลือกตั้งได้ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาคล้ายรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ
ต่อมา คณะกรรมการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” (Mixed-Member Appointment System – MMA) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ในประเทศไทย
การเลือกตั้งในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า ไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม มีความล่าช้าและความคลาดเคลื่อนในการประกาศผลคะแนนเกือบทุกเขตเลือกตั้ง
การคำนวณ ส.ส. ในระบบจัดสรรปันส่วนผสมของแต่ละพรรคและการนับคะแนนเสียงผลการเลือกตั้งก็ไม่มีมาตรฐาน มีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใส ความเป็นกลางและประสิทธิภาพในการทำงานของคณะกรรมการเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งก็ถูกตั้งคำถามอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประยุทธ์ ก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นจากเสียงของสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง และ คะแนนเสียงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จาก พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และ พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่ง
รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 และ การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2562 นั้นเป็นไปเพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร คสช และ สร้างความชอบธรรมให้การสืบทอดอำนาจของระบอบคณาธิปไตย มากกว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง
อำนาจของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบนี้ถูกท้าทายด้วยกระแสประชาธิปไตยที่แพร่ขยายด้วยพลังของสื่อสังคมออนไลน์และกระแสโลกาภิวัตน์ ที่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นค่านิยมสากลของทั่วโลก
ต่อมาได้มีการยุบพรรคอนาคตใหม่โดยศาลรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงผลการตัดสินที่ไม่เป็นธรรม นำมาสู่การชุมนุมประท้วงโดยมีการจัดกิจกรรมแฟลชม็อบอย่างต่อเนื่อง
การเคลื่อนไหวแบบแฟลชม็อบของนิสิตนักศึกษากว่า 50 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย เป็นไปในลักษณะการรวมตัวแบบรวดเร็วและสลายตัวเร็ว การส่องแสงแฟลช (Flash) ผ่านมือถือเสมือนเป็นการแสดงออกถึงความมีตัวตนและการแสดงความไม่พอใจต่อการสืบทอดอำนาจของ คสช. ผ่านการเลือกตั้ง
การใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพ มีการเรียกร้องประชาธิปไตยและตั้งคำถามต่อระบบความยุติธรรมและระบบนิติรัฐนิติธรรมในประเทศไทย มีการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียอย่างมีประสิทธิภาพในการรณรงค์ประชาธิปไตย
มีการสร้างคำเพื่อติด “แฮชแท็ก” (hashtag) ต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองและเอกลักษณ์ของแต่ละสถาบันด้วย
ปรากฏการณ์ของแฟลชม็อบบ่งชี้ว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวได้กลับมาตื่นตัวและต้องการการมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับพลังของนิสิตนักศึกษาในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 – 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
การชุมนุมประท้วงแฟลชม็อบของนักศึกษาข้างต้นจึงสะท้อนความคับข้องใจต่อสภาวะความอยุติธรรมในสังคม สะท้อนถึงความวิตกกังวลต่ออนาคตของตัวเองและสังคมไทยโดยรวม
การเรียกร้องทวงคืนประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมา และ ความไม่พอใจต่อการถูกทำลายเสียงของพวกตน รวมทั้งพื้นที่ทางการเมืองของพวกตนจากการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และตั้งคำถามและการยุบพรรคอนาคตใหม่ที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้แสดงจุดยืนต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย ด้วยคะแนนเสียงรวมมากกว่า 70% แต่ก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลขั้วประชาธิปไตยได้ด้วยเสียงของวุฒิสมาชิกเป็นอุปสรรค
จึงได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมข้ามขั้วแทน เสถียรภาพของรัฐบาลผสมข้ามขั้วยังคงอยู่ภายใต้อำนาจขององค์กรอิสระที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. และ บทบาทการเคลื่อนไหวล่าสุดของวุฒิสมาชิกชุดแต่งตั้ง ส.ว. รักษาการกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนไหวยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่จะมีการพิจารณายุบ พรรคก้าวไกล ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
การรัฐประหารโดยตุลาการหรือองค์กรอิสระ หรือ การรัฐประหารโดยกองทัพ ล้วนทำให้พัฒนาการประชาธิปไตยต้องสะดุดลง สร้างความเสี่ยง ความไม่แน่นอนต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ
หากเกิดรัฐประหารโดยเฉพาะการรัฐประหารโดยกองทัพขึ้นอีกในอนาคต ย่อมเกิดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก อาจเปิดโอกาสนำไปสู่การแทรกแซงทางการเมืองของมหาอำนาจได้
ภูมิภาคนี้และประเทศไทยเป็นพื้นที่ช่วงชิงอำนาจนำ (Hegemony) ของมหาอำนาจอย่างจีน สหรัฐอเมริกา และ อียู อยู่แล้ว การสร้างความมั่นคงให้กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่ออนาคตของรัฐชาติ และ ลดความเสี่ยงของการเข้าแทรกแซงของมหาอำนาจ
หากเกิดการรัฐประหารโดยองค์กรอิสระหรือตุลาการ อาจต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาใหม่ หรือ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนอกวิถีทางประชาธิปไตยที่เปิดช่องเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
ความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. 2549 ได้นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการยุบพรรคการเมืองโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ การดำเนินการยุบพรรคการเมืองได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการยุบพรรคการเมืองเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐหรือไม่ และ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy)
ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์เป้าหมายที่ต้องมุ่งไปที่การรักษาสิทธิ เสรีภาพ และ หลักการประชาธิปไตยต่างๆ ไม่ใช่เพื่อปิดกั้นหรือทำลายเสรีภาพในการรวมกลุ่มหรือสมาคม และ หลักเกณฑ์ว่า การดำเนินการของพรรคการเมืองมีลักษณะใช้ความรุนแรงเพื่อโค่นล้มระบอบประชาธิปไตยหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้การแต่งตั้งของคณะรัฐประหารได้ยุบพรรคการเมืองขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวนมาก
เริ่มจาก การยุบพรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย (2551) พรรคไทยรักษาชาติ (2562) พรรคอนาคตใหม่ (2563) พรรคการเมืองเหล่านี้ล้วนเป็นคู่แข่งทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐ และ ผู้มีอำนาจรัฐมองว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกลุ่มของตน
การยุบพรรคการเมืองตามมาด้วยความตึงเครียดทางการเมือง และ ค่อยๆสะสมสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในแต่ละช่วงเวลา กฎหมายยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของไทยถูกวิจารณ์ในแง่ความชอบธรรม เนื่องจากเป็นผลพวงของรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 และ ปี พ.ศ. 2557
หลายกรณีเป็นการกระทำของบุคลากรบางคนของพรรคการเมือง ไม่ใช่การกระทำขององค์กร บทลงโทษจึงควรมุ่งไปที่ตัวบุคคลมากกว่าการล้มล้างหรือยุบสถาบันพรรคการเมือง
สถาบันพรรคการเมืองเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย กับ องค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐ ทั้งทางด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับให้ความสำคัญต่อพรรคการเมืองโดยกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องสังกัดพรรคการเมืองตลอดจนการกำหนดกติกาหลายประการเพื่อให้พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบันทางการเมือง
พรรคการเมืองจึงเป็นองค์กร กลไกและองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเถลิงอำนาจของกลุ่มอำนาจนิยม และ อาจใช้อำนาจนั้นล้มล้างระบอบประชาธิปไตยได้เช่นเดียวกัน
หากพรรคการการเมืองใช้สิทธิเสรีภาพของตนเองเพื่อล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมในการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อยุบพรรคการเมืองนั้น อันเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy)
มาตรการยุบพรรคการเมืองจึงถูกระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ปี พ.ศ. 2550 และ ปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยเองมีกฎหมายควบคุมพรรคการเมืองและยุบพรรคการเมืองค่อนข้างเข้มงวดเนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีทัศนคติไม่ไว้วางใจนักการเมือง
มาตรการเข้มงวดเกินพอดีเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุ อาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองและระบอบประชาธิปไตยได้ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ได้ขยายเหตุแห่งการยุบพรรคกว้างขวางมากกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา
นอกจากนี้ หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไปแล้วถึงสองพรรคการเมืองคือ พรรคอนาคตใหม่ และ พรรคไทยรักษาชาติ
จนเกิดตั้งคำถามในสังคมโดยเฉพาะในแวดวงวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ว่า ตกลง การยุบพรรคการเมืองตามหลักคิดประชาธิปไตยป้องกันตนเอง (Militant Democracy) ของไทยทำลายหรือปกป้องประชาธิปไตยกันแน่
มาตรการยุบพรรคการเมืองนั้นเชื่อมโยงกับประสบการณ์สมัยสงครามครั้งที่สอง ในช่วงการมีการขยายบทบาทของพรรคการเมืองแนวฟาสซิสต์อำนาจนิยม และ ได้ทำลายระบอบประชาธิปไตยลง
ฉะนั้น จึงมีพัฒนากลไกให้ระบอบประชาธิปไตยปกป้องตัวเองด้วยการให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยได้ แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดประเทศไทยที่มีลักษณะเป็นพรรคการเมืองตามแนวฟาสซิสต์แบบเยอรมันและอิตาลีในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
กรณีของไทย มาตรการยุบพรรคนี้เป็นมาตรการที่ผลรุนแรงต่อพัฒนาการประชาธิปไตยและการพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง เป็นมาตรการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมักถูกตั้งคำถามในความชอบธรรมและผลกระทบที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย และ มักเกิดขึ้นในประเทศด้อยพัฒนาทางด้านประชาธิปไตยหรือเป็นระบอบอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง
การเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันในระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบด้วยเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตย เครือข่ายอนุรักษ์นิยมเผด็จการขวาจัดเหล่านี้ มักอ้างสถาบันหลักของชาติในทำลายศัตรูของตัวเองและสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทย สร้างความแตกแยก แบ่งแยกขบวนการประชาธิปไตย
เพื่อง่ายต่อการกำกับควบคุมปกครองไม่ให้พลังของขบวนการประชาธิปไตยเข้มแข็งจนท้าทายอำนาจ ท้าทายระบอบอภิสิทธิ์ ท้าทายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สิทธิพิเศษทางสังคมต่างๆ การแบ่งแยกขบวนการประชาธิปไตยก็เพื่อต้องการดำรงรักษาระบอบที่สร้างความเหลื่อมล้ำนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไป
การผนึกกำลังและการสร้างเอกภาพของขบวนการประชาธิปไตยเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการทำให้ “สันติธรรมประชาธิปไตยสมบูรณ์” เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคเป็นธรรม
การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จะทำให้สังคมไทยมีสันติธรรม มีเสถียรภาพ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองในอนาคต ประชาธิปไตยสมบูรณ์นี้หมายถึง ประชาธิปไตยทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยในวิถีชีวิตวัฒนธรรม
การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลก็ดี การพิจารณายุบพรรคภูมิใจไทยก็ดี ล้วนไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย การพิจารณาความผิดควรเป็นเรื่องความรับผิดชอบของบุคคล หรือคณะบุคคล ไม่ใช่เรื่องของสถาบันพรรคการเมือง
ยิ่งหากคำตัดสินทั้งสองคดีนี้ออกมาแบบไม่มีมาตรฐานด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำลายความเชื่อมั่นต่อระบบการปกครองและระบบความยุติธรรมของประเทศนี้เพิ่มขึ้นไปอีก
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่ากับ ล้มล้างการปกครองนั้น จะ ส่งผลกระทบอย่างซับซ้อน สร้างความไม่แน่นอน และความเสี่ยงต่อระบบการเมือง ระบบนิติบัญญัติ ระบบยุติธรรม ระบอบประชาธิปไตย ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน เศรษฐกิจและการลงทุน ของประเทศไทยได้
เป็นการปิดประตูแห่งโอกาสของการปฏิรูประบบสถาบันทางการเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขลง อาจเกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของสถาบันหลักของประเทศเพิ่มขึ้น และ อาจจะมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 มาทำลายล้างกันทางการเมืองมากขึ้นอีก
แทนที่จะเกิดการแก้ไขด้วยการพิจารณาของผู้แทนราษฎรในรัฐสภาด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความรอบคอบอย่างพินิจพิเคราะห์เพื่อยังประโยชน์ต่อราษฎรของประเทศ และ ทำให้เกิดเสถียรภาพต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างยั่งยืน
การเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆของเครือข่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยอำนาจนิยมอนุรักษ์นิยมขวาจัดผ่านการทำ “นิติสงคราม” และ อาศัย “องค์กรอิสระ” ได้สั่นคลอนเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตย เครือข่ายเหล่านี้คาดหวังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
การกระทำเหล่านี้ได้สร้างความไม่แน่นอนและความเสี่ยงทางการเมือง จนกระทั่งมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมีนัยยสำคัญ นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยถอนการลงทุนจากประเทศไทย พร้อมกับทุนข้ามชาติของไทย
ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจนั้นพอไปได้ ไม่ได้ย่ำแย่ แต่ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองและความไม่แน่นอนทางการเมืองนั้นซ้ำเติมความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนในตลาดการเงินอย่างรุนแรง
ดูได้จากการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องของดัชนีตลาดหุ้นหลุดระดับ 1,200 และนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ นักลงทุนโครงการลงทุนระยะยาวก็หันไปลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซียและเวียดนาม มากกว่า
จากนี้ไปคงต้องติดตามดูว่า ผลของการพิจารณาตัดสินยุบพรรคก้าวไกล พรรคภูมิใจไทย และ การตัดสินคดีของนายกรัฐมนตรีจะเป็นอย่างไร.