จับสัญญาณ ‘สว.3 ขั้ว’ ชิงอำนาจ ’สภาสูง’
หลัง กกต. ประกาศ 200 สว.อย่างเป็นทางการ 2 ก.ค. จับตาวา ระการเมือง ของ "วุฒิสมาชิก" วาระแรกคือ การชิงเก้าอี้ประมุขสภาสูง ที่หัวหน้าค่าย ไม่ยอมปล่อยให้หลุดมือ
KEY
POINTS
Key Point :
- หากไม่มีอะไรผิดพลาด 2 ก.ค.67 คือ วันประกาศผล 200 สว. ที่ได้ตั๋วเข้าสภาสูง
- โดยร่างปฏิทินที่ ส.เลขาธิการวุฒิสภาวางไว้ คือ 3-5 ก.ค.67 จะรับรายงานตัว สว.ทั้งหมด
- จากนั้น 8 ก.ค.67 หรือ 9 ก.ค.67 จะนัดประชุมวุฒิสภานัดแรก เพื่อปฏิญาณตน และเลือกประมุขสภาสูง
- เกมชิงอำนาจในวุฒิสภา ต้องจับตาการขับเคี่ยวของ "สว.ต่างค่าย ต่างสี" ให้ดี เพราะมีเดิมพันกันสูง
- ว่ากันว่า วุฒิสภาชุดที่ 13 นับเป็น "ปลา" ก็มาจากหลายน้ำ หลายสี ที่ต้องจับตาวาระแบ่งประโยชน์ หากไม่ลงตัว อาจย้อนกลับไปสู่จุด "ขัดแย้ง" เหมือนที่ 20 ปีก่อนเคยเกิดแล้วในสภาสูง
จากวันเลือก สว. ระดับประเทศ 26 มิ.ย.2567 นับไปอีกไม่กี่วัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะประกาศผลการเลือก สว. จากผู้ที่ผ่านการลงคะแนนเลือกกันเอง จำนวน 200 คน และบัญชีสำรองอีก 100 คน
หากไม่ผิดพลาด หรือมีเหตุร้อง ให้การประกาศผลที่ กกต.วางไทม์ไลน์ ต้องเลื่อนออกไป วันที่ 2 ก.ค. นี้จะเห็นโฉมหน้า “ว่าที่ สว. ชุดที่ 13” ทั้งหมด
กระบวนการต่อไป โฟกัสที่ “วุฒิสภา” โดย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะเปิดให้ สว. 200 คน รายงานตัวต่อสำนักงาน เบื้องต้น กำหนดไว้เป็นวันถัดจากที่ กกต.ประกาศรายชื่อ 200 สว. หากประกาศวันที่ 2 ก.ค.67 จะนัดรายงานตัววันที่ 3-5 ก.ค.67
เมื่อ 200 สว. รายงานตัวครบถ้วนแล้ว จะเรียกประชุมวุฒิสภานัดแรก เบื้องต้นวางปฏิทินไว้ไม่วันที่ 8 ก.ค.67 ก็เป็นวันที่ 9 ก.ค.67 เนื่องจากเป็นจังหวะที่เปิดสมัยประชุมรัฐสภาพอดี จึงไม่ต้องรอนาน
วาระสำคัญ คือ ให้ สว. กล่าวปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นคือการเลือก “ประธานวุฒิสภา” และ “รองประธานวุฒิสภา”
สำหรับวาระการเลือก “ประมุขสภาสูง” ต้องจับตาให้ดีว่า จะถูก “กำกับ” หรือ “จัดตั้ง” ผ่านกระบวนการใด
ทั้งนี้ในทุกยุคที่ผ่านมา จะพบว่าจะมีการ “ล็อบบี้” กลุ่มก้อนให้คนของตัวเองได้ครองอำนาจฝั่งสภาสูง แม้ที่ผ่านมาจะไม่ได้สู้กันดุเดือด เพราะ “สมประโยชน์ร่วมกัน" แต่รอบนี้อาจไม่เป็นแบบนั้น เพราะกรณี “สว.กลุ่มอาชีพ” ที่มีข่าวเล็ดลอด ออกมา ฟาดฟันกันหนักหน่วง
เพราะ “3 พรรคการเมืองใหญ่” ล้วนทุ่ม และวางเดิมพันชิงอำนาจสภาสูง เพราะหาก “สว.สีไหน” ได้รับเลือกเข้ามามาก ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ประมุขสภาสูง” จะเป็นคนของฝั่งนั้น แต่สมมติฐานเรื่องนี้ อาจถูกแก้เกมจากการ “รวมกลุ่ม-จับขั้ว” กันใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการฟาดฟันอย่างเข้มข้น
แม้ก่อนหน้านี้ จะมีการทำนายตำแหน่ง ว่าที่ประธานวุฒิสภา จะมาจาก “ค่ายแดง” แต่การต่อสู้เพื่อชิงเก้าอี้ “สว.” ในคืนหมาหอน กลับพบว่า “ค่ายน้ำเงิน” ระดมพลสู้อย่างหนักหน่วง ไม่ต่างกับ “ค่ายส้ม” ที่ระดมคนสู้ยิบตาเช่นกัน
ซึ่งประเด็นนี้ต้องรอบทสรุปอีกครั้งว่า “สว.สีไหนจะเข้ามาสูงสุด” หรือจะมีการจับมือ “เล่นเกมฮั้ว” เพื่อชิงตำแหน่งประมุขสภาสูงหรือไม่
ขณะที่ขั้นตอนต่อไป หลังได้ “ประธานวุฒิสภา-รองประธาน” แล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อผ่านขั้นตอนนี้แล้ว จะเข้าสู่การทำงานของ “วุฒิสภา” ตามรัฐธรรมนูญ
โดยหน้าที่ของ “วุฒิสภา” ตามบทถาวรของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มี 3 หน้าที่ คือ
1.งานด้านนิติบัญญัติ คือ กลั่นกรองการตรากฎหมาย ที่รับช่วงมาจากสภาผู้แทนราษฎร
2.ติดตามตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ การหารือ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ
3.การเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ผ่านการสรรหามาแล้ว
ทั้งนี้ ในวาระด่วน ที่ “สว.ใหม่” ต้องทำทันทีคือ การตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม บุคคลที่เสนอให้ดำรงตำแหน่ง เป็น “อัยการสูงสุด” และ "ประธานศาลปกครองสูงสุด” ซึ่ง สว.ชุดที่ 12 ก่อเป็นเชื้อไฟไว้ และยังไม่ทันทำแล้วเสร็จก็ต้องพ้นวาระ ดังนั้น “สว.ใหม่” จึงต้องเข้ามาสานต่อให้เสร็จตามกรอบเวลา
ต่อจากนั้น จะเป็นวาระ “รีเซต” การทำงาน ผ่านการแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา การตั้งกรรมาธิการสามัญ การกำหนดวันประชุมวุฒิสภา ประจำสัปดาห์ รวมถึงการพิจารณาว่า บางโครงการ ที่ สว.ก่อนหน้านั้นริเริ่มไว้ จะทำต่อไปหรือไม่ เช่น “โครงการ สว.พบประชาชน” รวมไปถึงบทบาท และวาระงานใน “กรรมาธิการสามัญ” ที่ได้ทำไว้
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาว่า จะมีการ “เซต” กรรมาธิการสามัญใหม่หรือไม่ เพราะลักษณะของ “สว.” ที่มาจากการเลือกกันเองใน 20 กลุ่มอาชีพ ควรจะตั้ง กมธ. ที่ตรงกับความถนัดของการทำงาน และด้วย จำนวน สว.ที่ลดลงเหลือ 200 คน อาจต้องเกลี่ยสัดส่วน “กมธ.ใหม่” ให้เหมาะสมหรือไม่
ขณะที่ กมธ. ของ “สว.ชุดที่ 12” มี 26 คณะ ซึ่งในจำนวนดังกล่าว ยึดจำนวน สว. ที่มี 250 คนเป็นหลัก และมี กมธ.ใหม่ที่ตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะอีก 2 คณะ คือ กมธ.ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำ และดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และกมธ.แก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนั้นคือ การพิจารณาตั้ง ผู้ช่วย-ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้ชำนาญการ ประจำตัว สว.ที่ต้องจับตาให้ดีว่า จะมี “ผู้สมัคร อกหัก” ได้รับตำแหน่ง ตามสัญญาที่ให้กันไว้ ก่อนวันเลือกระดับประเทศหรือไม่
เกมชิงอำนาจสภาสูง ต้องจับตาอย่ากะพริบ เพราะทุกนาที ล้วนเป็น “สัญญาณ” ที่สะท้อนให้เห็นถึง วัฏจักรการเมือง
ที่ครั้งหนึ่งความแตกแยกในวุฒิสภาถูกขนานนามว่าเป็น “ปลาสองน้ำ” กลายเป็นปัจจัยเซาะกร่อน ให้ “การเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย” ล่มสลายมาแล้ว เมื่อหลายสิบปีก่อน.
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์