เช็คลิสต์ ‘องค์กรอิสระ’ ฝ่าด่านโหวต ‘สว.’ ชุดใหม่

เช็คลิสต์ ‘องค์กรอิสระ’ ฝ่าด่านโหวต ‘สว.’ ชุดใหม่

ต้องไม่ลืมว่า องค์กรอิสระบางองค์กร มีอำนาจให้คุณให้โทษ “นักการเมือง” การคอนโทรล สว.เพื่อช่วยเลือก “องค์กรอิสระ” ทางอ้อม จึงเป็นเกมที่ “นักการเมือง” ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างยิ่ง

KEY POINTS :

  • เสร็จสิ้นการเลือก สว. ชุดใหม่ 200 คน เช็คชื่อกันแล้ว "สว.สีน้ำเงิน" เข้าวินเกินครึ่ง เป็นฐานอำนาจใหม่ให้กับ "บ้านใหญ่บุรีรัมย์"
  • ก่อนหน้านี้ 250 สว. ชุดคสช. เคยแสดงพลานุภาพให้เห็นแล้วว่า "สว." สามารถใช้ขับเคลื่อนการเมืองได้อย่างแยบยล
  • โดยเฉพาะการเลือกผู้ดำรงตำแหน่ง "องค์กรอิสระ" ซึ่งสามารถให้คุณ-ให้โทษ ทางการเมืองได้

เสร็จสิ้นการเลือก “สมาชิกวุฒิสภา” ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ผ่านการเลือกกันเองใน 20 กลุ่มอาชีพ ถือเป็น สว. ชุดประวัติศาสตร์ของโลก ที่มีการเลือกตัวเอง และเลือกไขว้กันเอง

ช่องโหว่ของการเลือก สว. ชุดที่ 13 ทำให้ มีข้อครหาระบบจัดตั้ง เพื่อโหวตให้กับ “บุคคลเป้าหมาย” ได้เข้ารอบ ไล่ตั้งแต่การเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด จนถึงระดับประเทศ

โดยเฉพาะการเลือกระดับประเทศ มีบรรดา “ล็อบบี้ยิสต์” เดินสายอย่างหนัก เพื่อต่อรองขอโหวตแลก “กล้วย” ส่ง “สว.บ้านใหญ่” ให้เข้าวิน

ว่ากันว่า การเลือก สว. รอบนี้ “คนบ้านใหญ่” เข้าวินตามเป้าหมาย มีทั้ง “ค่ายน้ำเงิน” ถูกจัดอยู่ในทีมเดียวกัน 

ด้าน “สว.ค่ายส้ม” แม้จะหลุดรอดเข้ามาบ้าง แต่จำนวนน้อยกว่า “ค่ายน้ำเงิน” จากที่หวังเอาไว้ 67 เสียง เพื่อคานอำนาจ แต่กลับไปไม่ถึงฝัน

บทบาทของ “สว.” มีหน้าที่ตามบทถาวรของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มี 3 หน้าที่ 

1.งานด้านนิติบัญญัติ คือ กลั่นกรองการตรากฎหมาย ที่รับช่วงมาจากสภาผู้แทนราษฎร

2.ติดตามตรวจสอบฝ่ายบริหาร เช่น การตั้งกระทู้ การหารือ การขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ 

3.การเห็นชอบบุคคลที่เสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ผ่านการสรรหามาแล้ว

อำนาจหน้าที่ 3 ข้อดังกล่าว ทำให้ “บิ๊กเนมการเมือง” ต้องการลงมามีส่วนแชร์อำนาจ เพราะ 250 สว. ชุดคสช. แสดงให้เห็นแล้วว่า “ขุมพลัง สว.” สามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองได้

โดยเฉพาะการเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ แม้ สว.จะเป็นผู้เลือก แต่มักจะมี “บิ๊กเนม” ส่ง “เด็กในคาถา” เข้ารับการสมัคร ก่อนเข้าสู่กระบวนการสรรหา

ยิ่งในช่วงยุค “สองลุง” ชิงอำนาจจนแตกคอกัน มีกระแสข่าวออกมาตลอดว่า 250 สว. ที่แบ่งเป็น 2 สาย มีทิศทางการโหวตเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์อิสระแตกต่างกันออกไป 

เที่ยวนี้หมดยุค “สว.สองลุง” เดินเข้าสู่ยุค “สว.บ้านใหญ่” หลังจากนี้จึงต้องติดตามว่า การโหวตเพื่อสรรหาบุคคลของ สว.จะมีข้อครหาเหมือนยุคก่อนหรือไม่ เพราะมีองค์กรอิสระหลายองค์กรที่ต้องสรรหาบุคคลเพิ่มเติม และทดแทนบุคคลที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง

เริ่มกันที่การสรรหาประธานศาลปกครองสูงสุดคนใหม่ โดย ประสิทธิศักดิ์ มีลาภผ่านกระบวนการวุฒิสภาตั้ง กมธ.วิสามัญสอบประวัติ ไปเมื่อ 18 มิ.ย. 2567 การสรรหาอัยการสูงสุด ไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ วุฒิสภาตั้ง กมธ.วิสามัญสอบประวัติ เมื่อ 18 มิ.ย. 2567

การสรรหาตุลาการรัฐธรรมนูญที่จะครบวาระ 2 คน นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และปัญญา อุดชาชน

การสรรหากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 3 คน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ สุวณา สุวรรณจูฑะ  วิทยา อาคมพิทักษ์

การสรรหากรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6 คน ประกอบด้วย พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ (ประธาน คตง.)  ยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์  พิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ จินดา มหัทธนวัฒน์  สรรเสริญ พลเจียก อรพิน ผลสุวรณ์ โดยทั้งหมดจะดำรงตำแหน่งครบวาระในเดือน ก.ย. 2567

และการสรรหา ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน แทน สมศักดิ์ สุวรรณสุจริต

ทั้งนี้ การสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ในบางตำแหน่งต้องใช้เสียง สว.เกินกึ่งหนึ่ง และบางตำแหน่งต้องใช้เสียง สว.ข้างมาก

ต้องไม่ลืมว่า องค์กรอิสระบางองค์กร มีอำนาจให้คุณให้โทษ “นักการเมือง” การคอนโทรล สว.เพื่อช่วยเลือก “องค์กรอิสระ” ทางอ้อม จึงเป็นเกมที่ “นักการเมือง” ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างยิ่ง