'พิธา' จี้ กกต. เคลียร์ข้อสงสัยระบบคัด สว. เรียกความเชื่อมั่น

'พิธา' จี้ กกต. เคลียร์ข้อสงสัยระบบคัด สว. เรียกความเชื่อมั่น

“พิธา” จี้ กกต.ตอบข้อสงสัย ทั้งระบบ-ปัจเจก ในการเลือกสว. เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา บอก เร็วไปจะตราหน้าคนไหน ไม่สนับสนุนแก้รธน.เหตุยังไม่ได้รับรอง 

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2567 ที่เดอะมอลล์บางกะปิ กทม. พรรคก้าวไกลนำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ทั้ง 200 คน ว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องตอบในแง่ของระบบ และในแง่ของปัจเจก เพราะประชาชนหรือแม้กระทั้งผู้สมัครสว.เองก็มีความสับสน ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าทั้งวุฒิ ประสบการณ์ตรงกันหรือไม่ แต่เรื่องที่ต้องแยกให้ชัด 

หากเป็นเรื่องของสส.มาจากประชาชน ประชาชนเป็นคนเลือกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เจตจำนงของสว. ที่ต้องการให้เป็นตัวแทนของสาขาอาชีพ ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้ และไม่ได้เป็นการดูถูกเหยียดหยามแต่อย่างใด แต่เป็นการตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่า ตรงตามเจตนารมย์ของสว.ชุดนี้หรือไม่ ที่ต้องการให้เป็นตัวแทนของสาขาอาชีพ ทั้งในเรื่องระบบที่ผ่านมา ว่ามีการจัดตั้งหรือไม่ เรื่องนี้กกต.ต้องมีคำตอบ แต่ในขณะเดียวกันในเรื่องของบุคคล ก็ต้องรีบออกมาให้คำตอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจไม่เช่นนั้น จะกระทบกับความเชื่อมั่น ของกกต.เองซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ทั้งในแง่ของที่มาและผลลัพธ์

เมื่อถามถึงอุปสรรคจากสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่  ที่จะเกิดขึ้นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายพิธา กล่าวว่า คงเร็วไปที่จะไปตราหน้าว่าคนไหนสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่แก้ ต้องให้โอกาสเขาชี้แจงกับประชาชน ตอนนี้เร็วไปตรงที่กกต.เองก็ยังไม่รับรองคุณสมบัติของผู้สมัคร เป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะเรียกร้องความเชื่อมั่นของตัวเองขึ้นมา ตนเห็นทางเลขาฯ กกต.ชี้แจงเป็นรายบุคคลบางเรื่อง แต่ในเรื่องของระบบยังไม่มีการชี้แจง ต้องรีบทำในส่วนนี้ให้หมด ขั้นตอนต่อไปจะได้บอกว่าจะทำอย่างไร จะรับรองผู้สมัครเมื่อไหร่ เพราะระบบไม่ได้ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เชื่อว่าหลังจากที่ประกาศรับรองผลออกมา จะมีการตั้งคำถามอีกรอบ แต่ทั้งหมดก็เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ รวมถึงจุดยืนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งบุคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญในระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น เป็นภาระของ กกต. องค์กรเดียว เพื่อที่จะเรียกร้องความเชื่อมั่นของตนเองกลับมา 

ส่วนหน้าตาของสว. ที่ดูเหมือนว่าเป็นคนของค่ายสีน้ำเงินเยอะนั้น ตนยังยืนยันว่า ไม่ได้ดูที่ผลลัพธ์ที่ออกมาเพียงอย่างเดียว แต่ในเรื่องของกระบวนการและที่มา เรื่องระบบ รวมไปถึงการตรวจสอบคุณสมบัติ เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามทั้งสิ้น ไม่ได้ต้องการตั้งคำถามที่ปลายทาง 
เช่นบางใบสมัครที่อนุญาตเข้ามาต้องถามตั้งแต่ต้นทาง อนุญาตปล่อยเข้ามาได้อย่างไร เป็นความหละหลวมของกกต.หรือไม่ ก็เป็นภาระของ กกต.ในการตอบ ไม่ใช่แค่ปลายทาง แต่ต้องตอบตั้งแต่ต้นทาง ว่า ตรงกับที่ประชาชนคาดหวังหรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ประชาชนหมดความเชื่อถือ เพราะอาจจะไม่ยึดโยงกับประชาชนแต่ก็ยังต้องใช้ภาษีของประชาชนในการบริหารสว. จะนำไปสู่การตั้งคำถามในภาพใหญ่ เหมือนที่หัวหน้าพรรคเคยถามว่าจุดประสงค์ของการมีสว. ในประเทศไทยคืออะไร ซึ่งตนเป็นห่วงกกต.ที่จะต้องตอบคำถามของประชาชน