ฝันสลาย "เซมิคอนดักเตอร์" กับความพยายามครั้งใหม่
สงครามการค้าด้านเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างจีนสหรัฐ บวกกับวิกฤตจากความขัดแย้งจีนไต้หวัน จุดประกายความหวังในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้กับผู้บริหารของหลายประเทศ รวมถึงบ้านเราด้วย
แต่เชื่อหรือไม่ว่า บ้านเราเคยมีความคิดที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้มาเมื่อเกือบสี่สิบปีมาแล้ว ซึ่งไม่ต้องบอกคงตอบได้ว่า ฝันเมื่อสี่สิบปีก่อนนั้นเป็นฝันที่เป็นความจริง หรือเป็นฝันสลายที่ควรจะเป็นบทเรียนกับความพยายามครั้งใหม่ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ในเวลานี้
เราจะผลิตคนหนุ่มสาวนับหมื่นให้มีความรู้ด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยหวังว่าจะดึงดูดความสนใจให้ใครต่อใครมาลงทุนด้านนี้ในบ้านเรา ซึ่งแทบไม่แตกต่างไปจากที่เพื่อนบ้านเขาประกาศกันไว้เช่นกัน
สถาบันวิจัยเชิงนโยบายของมาเลเซีย นำเสนอรายงานการวิจัยเรื่องอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ บอกว่าเขามีบุคลากรทำงานด้านนี้อยู่กว่าสองหมื่นห้าพันคน บ้านเขามีส่วนแบ่งการตลาดโลกในส่วนปลายน้ำของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกอยู่ประมาณ 13%
เขาเชื่อว่าด้วยประสบการณ์ที่คนของเขาสะสมมาร่วมสี่สิบปี ใกล้ ๆกับที่บ้านเรามีฝันในเรื่องนี้ จะดึงดูดอุตสาหกรรมต้นน้ำด้านเซมิคอนดักเตอร์ให้เข้ามาในบ้านเขาในเร็ววัน
เขาประกาศว่าเขาจะยกระดับทักษะวิศวกรและช่างเทคนิคในอุตสาหกรรมนี้อีกหกหมื่นคน ภายในห้าหกปี นอกจากนั้นเขายังมีหน่วยงานของรัฐที่มีเครื่องจักร เครื่องมือทดสอบ พร้อมทั้งมีซอฟท์แวร์ออกแบบไว้ให้ภาคอุตสาหกรรมมาใช้บริการได้
ออกแบบเสร็จก็มีบริการส่งไปผลิตเป็นไมโครชิปต้นแบบในราคาที่อุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดกลางพอรับภาระได้ ซึ่งหน่วยงานนี้มีอายุไม่ต่างไปจากหน่วยงานบ้านเราจัดตั้งขึ้น เพียงแต่เราแทบไม่มีอะไรที่เขามี
เชื่อหรือไม่ว่า มหาวิทยาลัยในบ้านเราที่อยู่แถวๆ ลาดกระบังผลิตไมโครชิปได้เองก่อนที่จะมีหน่วยงานใดในเพื่อนบ้านใกล้เคียงจะทำได้ ผลิตไมโครชิปได้ตั้งแต่ยุคห้าไมครอนหรือห้าไมโครเมตร แล้วก็ขาดตอนไปเลย วันนี้เป็นยุคสี่นาโนเมตร เราก็อยากจะทำอีกครั้ง โดยคนต่างรุ่น
ครั้งนั้นเราส่งนักเรียนไปเล่าเรียนในประเทศที่ก้าวหน้าในด้านนี้นับร้อยคน คนรุ่นนั้นวันนี้ไมโครชิปสูญหายไปหมดแล้ว คนหนึ่งซึ่งวันนี้เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย เคยเรียนจบมาด้านสถาปัตยกรรมไมโครชิป วันนี้กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเงินไปแล้ว
เราเคยลงทุนไปกับซอฟท์แวร์ออกแบบไมโครชิปเป็นมูลค่าหลายสิบล้านบาทในยุคนั้น ซึ่งเทียบเป็นค่าเงินในปัจจุบันคงเป็นร้อยล้าน ซึ่งวันนี้แทนที่เราจะเก่งออกแบบไมโครชิป เหมือนที่เพื่อนบ้านเราเขาเก่ง เรากลับต้องมาฝึกคนออกแบบไมโครชิปกันใหม่อีกรอบ
วันนั้นมีนักธุรกิจหอบเงินทองที่ได้จากการทำงานในเมืองฝรั่งกลับมาบ้านเรา หวังว่าจะสร้างโรงงานไมโครชิปต้นน้ำขึ้นมา แต่ทุกวันนี้ยังใช้หนี้ไม่หมด โดยโรงงานที่เคยอยู่แถวฉะเชิงเทราหายไปแล้ว ปลายน้ำก็เหลว ต้นน้ำก็เหลว
ฝันสลายในเรื่องเซมิคอนดักเตอร์ในครั้งนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากบ้านเราอยากเป็นนั่นเป็นนี่ โดยอยากได้เร็วเหมือนบะหมี่สำเร็จรูป หนึ่งนาทีได้กิน
เพื่อนบ้านใช้เวลาสี่สิบปีเดินหน้าจากปลายนำ้ขึ้นมาที่ต้นน้ำ โดยไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เดินหน้าฝ่าอุปสรรคไปอย่างต่อเนื่อง ใครจะมาบริหาร ทิศทางที่เดินหน้าไปก็ยังเหมือนเดิม
ฝันสลายในบ้านเรามาจากการเปลี่ยนทิศเปลี่ยนทางกันโดยตลอด ตอนเริ่มต้นอยากเก่งกลางน้ำ อยากออกแบบไมโครชิปกันได้ ออกแบบได้แล้วก็กะว่าจะส่งให้โรงงานต้นน้ำผลิตตามที่ออกแบบไว้ ส่งนักเรียนทุนไปเรียนต่อก็ไปเรียนการออกแบบ ไม่ใช่ไปเรียนการผลิต
วันดีคืนดี ท่านผู้นำก็เปลี่ยนใจบอกว่าเดินหน้าจะให้มีโรงงานไมโครชิปต้นน้ำ เดิมเคยคิดจะจับเซมิคอนดักเตอร์สำหรับงานอุตสาหกรรม ท่านผู้นำเปลี่ยนใจให้มุ่งเน้นผลิตไมโครชิปสนับสนุนวงการบันเทิง ศูนย์บริการเทคโนโลยีสนับสนุนงานนี้ ก็เปลี่ยนโฟกัสไปตามกระแสเทคโนโลยีใหม่
วันนี้ก็ไปเอาดีด้านแอปมือถือไปเสียแล้ว ในขณะที่หน่วยงานแบบเดียวกันในมาเลเซียที่เกิดมาในเวลาเดียวกันกับหน่วยงานในบ้านเรา สี่สิบปีผ่านไปเขาก็ยังโฟกัสไปที่เซมิคอนดักเตอร์สนับสนุนอุตสาหกรรมอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้
ฝันด้านเทคโนโลยีจะเป็นจริงได้ เป้าหมายต้องคงเส้นคงวา ใครมาก็เดินต่อ ไม่ใช่เมื่อวานระบบราง วันนี้เซมิคอนดักเตอร์ พรุ่งนี้คงเป็นควอนตัมไปแน่นอนเลย.